ชิงสายสีส้ม แสนล้าน เดือด บีทีเอส-บีอีเอ็ม แข่งประมูล
การรถไฟฟ้า ”บีทีเอส” ลงสนามชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พร้อมสิทธิเดินรถทั้งเส้นบางขุนนนท์-มีนบุรี มั่นใจข้อเสนอ หนุนโครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์ขึ้น “บีอีเอ็ม” ฉายเดี่ยวยื่นซองรายแรกพร้อมชงข้อเสนอพิเศษ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วานนี้ (9 พ.ย.) มีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR 2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 10 ราย
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า ได้ยื่นข้อเสนอในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR โดยมีพันธมิตร 3 ราย คือ BTSC เป็นลีดเดอร์ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็น พันธมิตรในกลุ่ม BSR ยื่นประมูลโครงการอื่นไม่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ เพราะยังติดกระบวนการภายใน แต่ได้รับคำยืนยันว่ามีความประสงค์ ที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทำให้ยังใช้ชื่อกลุ่ม BSR ส่วนจะร่วมภายหลังได้หรือไม่นั้นต้องรอดูตอนชนะ อีกทั้งการเข้ามาเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังจากนี้ต้องให้ รฟม.พิจารณา
”เงื่อนไขการประมูลไม่สามารถบอกได้เพราะอยู่ระหว่างประกวดราคา การทำข้อเสนอของเราที่เตรียมมาวันนี้ทำเต็มที่ และยื่นครบ 4 ซอง ได้แก่ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองการเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวม 400 กว่าลัง วันนี้ บีทีเอสพร้อมมาก เราเป็นคนทำงานก็ต้องมั่นใจเต็มที่” นายสุรพงษ์ กล่าว
บีทีเอสมั่นใจยื่นประมูล
สำหรับความมั่นใจการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ กลุ่ม BSR ยืนยันว่าในฐานะผู้ทำงานมีความมั่นใจการยื่นข้อเสนอ ถึงแม้การกำหนด หลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการตามมาตรา 36 ยังไม่แน่ชัด เพราะ รฟม.ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด แต่กลุ่ม BSR ไม่หนักใจหรือยุ่งยากในการเตรียมข้อเสนอ และได้นำข้อเสนอที่ดีที่สุดมายื่น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะช่วยสนับสนุนการเดินทางระบบรถไฟฟ้าให้เป็นโครงข่ายสมบูรณ์ขึ้น เพราะเชื่อมรถไฟฟ้าเกือบทุกโครงการ คือ สายสีเขียว สายสีชมพู สายสีเหลือง รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรลลิงก์
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม BSR มั่นใจข้อเสนอที่ยื่นโดยเฉพาะด้านเทคนิค ยืนยันว่ามีคุณสมบัติตามเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) กำหนด ซึ่งซิโน-ไทยมีประสบการณ์การทำงานด้านขุดเจาะอุโมงค์มาแล้วหลายแห่ง เช่น อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้มช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี และอุโมงค์ระบายน้ำ
บีอีเอ็มยื่นซองรายแรก
รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า รฟม. เปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.วันเดียว เวลา 9.00-15.00 น. โดยเวลา 9.39 น. ผู้แทนบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิบริเวณหน้าอาคาร 2 ซึ่งเป็นจุดรับซองข้อเสนอโครงการ
หลังจากนั้นเวลา 10.53 น.นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง บีอีเอ็ม ยื่นข้อเสนอรายแรก โดยนำเอกสารบรรทุกรถตู้และรถบรรทุกรวม 8 คัน ซึ่งบีอีเอ็มไม่ได้ระบุพันธมิตรร่วมทุน ส่วนข้อเสนอที่นำมานั้น ประกอบไปด้วย 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวมกว่า 200 กล่อง
หลังจากนั้นเวลา 14.39 น.นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอ ในนามกลุ่ม BSR มีข้อเสนอมาครบทั้ง 4 ซอง บรรทุกในบรรทุก 6 คัน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กำหนดให้ผู้เป็นลีดเดอร์ต้องมีประสบการณ์จัดหา บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง รักษาระบบรถไฟฟ้าในระยะ 25 ปีนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ในประเทศ
หวังสีส้มขยายโครงข่าย
ทั้งนี้ บริษัทที่เป็นลีดเดอร์ได้มี 2 ราย คือ BTSC และ BEM โดย BTSC รับสัมปทานรถไฟฟ้า รับจ้างเดินรถและร่วมลงทุนรถไฟฟ้า 4 โครงการ ได้แก่ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีชมพูและสายสีเหลือง ขณะที่ BEM รับสัมปทานเดินรถและรับจ้างเดนิรถ 2 โครงการ คือ สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง โดยถ้าใคร ได้รถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทาง เชื่อมกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดยเอกชนผู้ชนะการประมูล นอกจากได้รับงานโยธาก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้ว ยังได้รับสิทธิ์บริหารการเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งถือเป็นโอกาส ในการต่อยอดโครงข่ายรถไฟฟ้า เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นหลายแห่ง
ในส่วนของการเชื่อมต่อฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ประกอบไปด้วย 1.รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 2.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) ที่สถานีแยกลำสาลี และ 3 รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีมีนบุรี
ขณะที่การเชื่อมต่อฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ประกอบไปด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ที่สถานีบางขุนนนท์ 2.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่สถานีศิริราช 3.รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 4.รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีราชเทวี 5.รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) ที่สถานีราชปรารภ
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ