ฉีด3.5แสนล.อุ้มธุรกิจคลายล็อกซอฟต์โลนตีโอนทรัพย์ พักหนี้

24 Mar 2021 586 0

         ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท ปลดล็อกซอฟต์โลน กู้ได้ไม่เกิน 150 ลบ. ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% พร้อมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หวังยืดระยะเวลาให้เจ้าของพลิกฟื้นธุรกิจได้ในระยะยาว สมาคมธนาคารไทย ขานรับหวังช่วยประคับประคองภาคธุรกิจไทยให้สามารถอยู่รอด และกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท

          สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม โดยผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ. 64 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อป ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5 ต่อป ในช่วง 5 ปีแรก

          ทั้งนี้ มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อป และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5 ต่อปี ตลอดสัญญาได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกัน จากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

          ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท กำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยให้สถาบันการเงิน รับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนในภายหลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด ซึ่งรวมถึงราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงิน ขณะที่ ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

          ด้านกระทรวงการคลัง จะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดข้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้กับทั้งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในการโอนทรัพย์และซื้อคืนในอนาคต

          นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้นแก่ลูกหนี้ผ่าน พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ เม.ย. 63 ยังไม่เพียงพอรองรับสถานการณ์ ธปท.และกระทรวงการคลัง จงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม โดย ครม. เห็นชอบต่อมาตรการฟื้นฟูฯ วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขยายต่ออายุได้อีก 1 ปีหากมีเหตุจำเป็น

          สมาคมแบงก์ขานรับ2มาตรการ

          นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก มีความตั้งใจและความพร้อมในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจไทย ให้สามารถอยู่รอดในช่วงที่เศรษฐกิจรอการฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

          แบงก์ชี้ต้องตามผลต่อเนื่อง

          นายทิม ลีหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 อาจดีขึ้น แต่ยังไม่อาจวางใจได้ จงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น และ ต่อเนื่อง ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ทำให้เห็น และหากมองไปข้างหน้า ก็ยังควรต้องทำการประเมินอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอว่า มาตรการที่ออกไปนี้ ไปถึงธุรกิจมากน้อยเพียงใด หากไม่ใช่ ควรปรับ แก้ปัญหา อย่างทันท่วงที

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button