คุณภาพชีวิต แรงงานข้ามชาติ ต้นทุนที่ภาคอสังหาฯต้องจ่าย
ชุลีพร อร่ามเนตร
ปัญหาของกลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์ และผู้รับเหมาที่เผชิญมาอย่างยาวนาน คือ การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง เพราะแรงงานไทยไม่นิยมทำงานหนักหรืองานก่อสร้าง อีกทั้งประชากรวัยแรงงานลดลง
การเข้ามาของแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ไม่ใช่เพียง วัยแรงงานที่เข้ามาเท่านั้น แต่ได้มีการโยกย้ายครอบครัวเข้ามาอยู่ ทั้งในรูปแบบถูกต้องตามกฎหมาย และผิดกฎหมาย ดังนั้นหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้อง ดูแลให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิ หรือสวัสดิการ รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโครงการเข้าถึงแรงงานหญิง ข้ามชาติ และครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง ด้วยการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผ่านโครงการ ความปลอดภัยและยุติธรรม และโครงการ REACH สามารถช่วยแรงงานหญิงข้ามชาติและ ครอบครัวที่อาศัยและทำงานในสถานที่ก่อสร้าง 10 แห่ง ซึ่งดำเนินงาน โดย บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการ การคุ้มครองเด็ก และสตรี
โดยบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วม ยูนิเชฟ ดูแล เรื่องการศึกษา และสิทธิ สวัสดิการที่เด็กต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้างควรจะได้รับ ให้ได้เข้าเรียน ในโรงเรียนที่เหมาะสม ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งแรงงานของผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานไทย ไม่นิยมทำงานก่อสร้าง ดังนั้นต้องดูแล สิทธิพื้นฐาน เช่น ฉีดวัคซีนให้เด็ก ประสานกับโรงเรียน จัดพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ ในแคมป์ก่อสร้าง และโครงการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติ ซึ่งได้ร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ดูแลเรื่องสิทธิสตรี ที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน นำร่องใน 10 โครงการ
ผู้ประกอบการต้องดูแลแรงงานต่างด้าว
”สมัชชา พรหมศิริ” Chief of Staff ฝ่ายกิจการเพื่อสังคมบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า แรงงานบางส่วนอาจจะไม่ได้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย เพราะกว่าจะขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐได้ต้องใช้เวลานาน แต่การทำงานต้องทำโดยทันที จึงต้องทำความเข้าใจ และให้ความรู้แก่ผู้รับเหมา ถึงสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมต่างๆ ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้ใช้แรงงานถูกกฎหมาย แต่บางครั้งก็อยู่ในขั้นตอนการยื่นขออนุญาต
การดำเนินการใน 10 โครงการจะส่งเสริมให้แรงงานหญิงข้ามชาติมีความเข้าใจสิทธิพื้นฐาน อนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องความรุนแรงในแคมป์ คนงานก่อสร้าง มีเป้าหมายว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวหญิง แรงงาน ทุกกลุ่มวัยจะดีขึ้น เป็นการสร้างความยั่งยืน ในการทำธุรกิจให้แก่องค์กร เพราะแรงงานเป็นกลุ่มที่เปราะบาง หากองค์กร ภาคเอกชน มีความสามารถเพียงพอในการดูแลการบริหารจัดการได้จะส่งผลไปถึงคุณภาพของงาน และเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ ที่ต้องดูแลแรงงานต่างด้าวด้วย
”ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง” ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดเวลา 70 กว่าปี มูลนิธิศุภนิมิต แห่งประเทศไทย ได้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็น 2 ภาคส่วนใหญ่ๆ คือ ดูแลเด็ก ในพื้นที่ชายแดนต่างๆ และเด็กและ แรงงานข้ามชาติ ซึ่งในช่วงโควิด-19 ต้องยอมรับว่า การเข้าไปดูแลทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากถูกข้อจำกัด ตามการควบคุมโรค แต่เมื่อโควิด-19 ชะลอตัว ก็ได้มีการดำเนินการโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
สิทธิประโยชน์-รักษาพยาบาลตามก.ม.
”โครงการที่ทำร่วมกับ แสนสิริ เป็นการดำเนินงานเพื่อให้แรงงานหญิงได้รับรู้ และตระหนักสิทธิประโยชน์ พึ่งรับตามกฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องให้แรงงานมีความเสี่ยงน้อย ความรุนแรงต้องไม่เกิดขึ้น การให้บริการภาครัฐ หรือถ้าเกิดละเมิดจะต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือ และป้องกันเรื่องต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น รวมถึงให้แรงงานข้ามชาติ และครอบครัวตระหนักถึงสิทธิประโยชน์ แรงงาน การปกป้องคุ้มครองสิทธิ การรักษาพยาบาลเป็นต้น” ดร.สราวุธ กล่าว ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน (เม.ย.2565-มิ.ย. 2566) มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน เป็นหญิง 35 คน ชาย 15 คน ซึ่งได้รับการสรรหา แรงงานและ ฝึกอบรมโครงการนี้ และจะขยายต่อไปยังแรงงานข้ามชาติจำนวน 600 คน แบ่งเป็น แรงงานชาย 400 คนและเด็กข้ามชาติที่อาศัย อยู่ในสถานที่ก่อสร้างจำนวน 200 คน และผู้รับเหมาก่อสร้างจำนวน 125 ราย ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ก่อสร้างของ บริษัท แสนสิริ ทั้ง 10 แห่ง ใน เขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล จาก 10 แคมป์ก่อสร้างพบว่าเกิน 50% ของแรงงานที่ค้นพบ 85.7% จะพูดไทยไม่ได้ 15%ไม่เคยเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐไทย 95%ไม่ได้มีการลงนามกับสัญญาว่าจ้าง กับนายจ้าง และ 58% ของกลุ่มแรงงานที่เป็นผู้หญิงขาดความรู้เรื่องการคุมกำเนิดและไม่มีการป้องกันและ 87%แรงงาน ที่เป็นผู้หญิง ถูกละเมิด ขณะที่ เด็กๆ หรือลูกหลานแรงงานข้ามชาติ 72% ไม่ได้รับการศึกษา
มูลนิธิศุภนิมิต จึงได้คัดเลือกอาสาสมัครเข้ามาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และสิทธิที่แรงงานข้ามชาติควรได้รับ ลงไปในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงมีการสอนเรื่องภาษา เพื่อลดอุปสรรคในการสื่อสาร ส่งเสริมทักษะอาชีพให้แก่แรงงานหญิงข้ามชาติ รวมถึงทักษะด้านที่แรงงานหญิงต้องการ อาทิ ทักษะการแต่งหน้า เพื่อเสริมบุคลิก และเป็นการเสริมพลังให้แก่ผู้หญิง ภูมิใจในสิทธิ และจะได้สานต่อในระยะยาว
”ถ้าแสนสิริทำสำเร็จ ก็จะสามารถขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้ เพราะภาคธุรกิจ จำเป็นต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในภาคบริการเกือบทั้งหมดต้องมีพี่น้องกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล” ดร.สราวุธ กล่าว
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ