คิกออฟเมกะโปรเจค'อีอีซี' หนุนดีมานด์หิน100ล้านตัน
วัชร ปุษยะนาวิน
กรุงเทพธุรกิจ
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเริ่ม ดำเนินการแล้ว โดยบริษัทรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน จำกัด เริ่มลงพื้นที่สำรวจและเตรียมการก่อสร้าง ในขณะที่การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่ต้องถมทะเลและมีความคืบหน้าเช่นกัน
อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ เชิงพื้นที่ที่สำคัญของประเทศ เพื่อดึงดูด การลงทุนสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ในพื้นที่นี้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การผลิตขั้นสูง
ดังนั้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชั้นนำเหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัว ในทุกด้าน ซึ่งโครงการเหล่านี้จะต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการพัฒนา กพร. จึงได้จัดทำแผนเพื่อเตรียมแหล่งทรัพยากรให้เพียงพอต่อการก่อสร้างโครงการต่างๆ ซึ่งมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าอากาศยาน นานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 การก่อสร้างถนน และทางยกระดับ
สำหรับการก่อสร้างโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในลักษณะนี้ ล้วน ต้องการหินก่อสร้างจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นจำนวนมาก ทำให้ภาคเอกชนเกิดกังวลใน วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างว่าในอนาคตอันใกล้ แหล่งหินที่มีอยู่ในภาคตะวันออก อาจไม่ สามารถรองรับความต้องการใช้หินอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาในพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางถนน 90 โครงการ การพัฒนาระบบคมนาคม ขนส่งทางราง 9 โครงการ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ เช่น ท่าเรือต่างๆ 19 โครงการ และ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และ ระบบโลจิสติกส์ มีมูลค่ารวม 9.47 แสนล้านบาท คาดว่าจำเป็นต้องใช้หินก่อสร้างทุกชนิดรวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน
รวมทั้งภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า หรือ ใช้หินก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณปีละ 20 ล้านตัน จากในภาวะปกติที่ในพื้นที่อีอีซีจะมีการใช้ หินก่อสร้างประมาณ 25 ล้านตันต่อปี หรือ รวมแล้วในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ ในพื้นที่อีอีซีจะต้อง ใช้หินก่อสร้างปีละประมาณ 45 ล้านตัน
โดยเมื่อเทียบกับแหล่งเหมืองหินที่ผลิต อยู่ในปัจจุบันซึ่งมีปริมาณสำรองอยู่ประมาณ 340 ล้านตัน หากไม่มีโครงการเหมืองหินขนาดใหญ่ เพิ่มเติมขึ้นอีก คาดว่าปริมาณหินก่อสร้างในพื้นที่มีเพียงพอต่อความต้องการในช่วง ระยะเวลาดังกล่าว ทั้งหินปูน หินผสมคอนกรีต หินโรยทางรถไฟ หินคลุก หินผสมยางมะตอย และ หินเรียงท่าเรือชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาโครงการของ ภาครัฐที่ใช้หินอุตสาหกรรมประมาณ 1 ส่วน จะส่งผลให้เกิดการขยายการพัฒนา โดยภาคเอกชน เช่น การสร้างอาคารที่พัก คอนโดมิเนียม พื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องการหินอุตสาหกรรมอีกอย่างน้อย 3-5 ส่วน ทำให้แหล่งหินอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องหาแหล่งหินก่อสร้าง ในพื้นที่โครงการอีอีซีเพิ่ม
“ต้องเป็นแหล่งหินที่อยู่ในระยะขนส่ง ไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากจุดก่อสร้างด้วย มิฉะนั้น ค่าขนส่งจะมีราคาสูงมากและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และหากสถานการณ์ขยายวงกว้างย่อมกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะเมกะโปรเจคของรัฐที่ต้องใช้ หิน ดิน ทราย จำนวนมหาศาล”
จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าในพื้นที่ อีอีซี มีแหล่งหินที่มีศักยภาพอยู่ 3 แหล่ง ได้แก่
1.อ.นิคมพัฒนา อ.บ้านฉาง และอ.เมือง จ.ระยอง มีพื้นที่ 8,956 ไร่ มีปริมาณหินแกรนิต 5,335 ล้านตัน แต่แหล่าหินนี้ติดปัญหาอยู่ใน พื้นที่ทหารที่สงวนไว้สำหรับภาระกิจ ทางราชการ จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้
2.อ.บ้านค่าย และอ.เมือง จ.ระยอง มีพื้นที่ 75,193 ไร่ มีปริมาณหินแกรนิตสำรอง 31,168 ล้านเมตริกตัน
3.อ.วังจันทร์ และกิ่งอ.เขาชะเมา จ.ระยอง มีพื้นที่ 31,450 มีปริมาณหินปูนสำรอง 3,118 ล้านเมตริกตัน
ทั้งนี้ กระบวนการในการขอสัมปทาน ทำเหมืองหรือประทานบัตร มีกระบวนการที่มี ความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเป็นจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน นับตั้งแต่ต้องรอการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อการทำเหมือง การชี้แจงให้ชุมชนในพื้นที่ รอบเหมืองมีความเข้าใจ เป็นต้น หากไม่มีการ เตรียมการที่ทันต่อสถานการณ์ อาจส่งผลให้ ผู้รับเหมางานก่อสร้างไม่สามารถหาวัสดุก่อสร้าง ประเภท หิน ดิน ทราย มาใช้ได้อย่างเพียงพอ
“แม้ว่าใน อีอีซี จะมีแหล่งหินสำรองอยู่ พอสมควร แต่หลังจากนี้จะต้องสำรวจ อย่างละเอียดว่าจะนำหินใช้ได้มากแค่ไหน รวมทั้ง จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะต้องใช้เวลา อยู่พอสมควรกว่าจะนำหินมาใช้ได้ ที่ต้องเริ่ม ตั้งแต่การสำรวจรายละเอียด การจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การขอประทานบัตร และกระบวนการอื่นๆ อีกมาก หากเร็วสุดจะใช้เวลา 1-2 ปี หากติดปัญหา ก็อาจจะใช้เวลา 10-20 ปี ซึ่งมองว่าภายใน 3-5 ปี ควรจะเริ่มดำเนินการได้ จึงจะมีแหล่งหินเพียงพอ”
นอกจากการหาแหล่งหินสำรองเพิ่มเติม สำหรับอีอีซีแล้ว ยังมีพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหา ขาดแคลนหินอุตสาหกรรม เช่น ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน ภาคเหนือ ที่ต้องมีแหล่งหินสำรองเพื่อรองรับการพัฒนา เนื่องจากในปัจจุบันการขอสำรวจ และการขออนุญาตทำเหมืองต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนและประชาชนรอบพื้นที่ ทำให้พื้นที่ที่เคยกำหนดเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมไว้แล้ว ในบางพื้นที่ บางจังหวัด ไม่ได้รับความเห็นชอบ หรือถูกคัดค้านไม่ให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว
รวมถึงพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้พื้นที่ ต้องห้ามตามกฎหมายอื่นไม่สามารถ ขออนุญาตทำเหมืองแร่ได้ ส่งผลพื้นที่นั้นเกิด ความขาดแคลนหินอุตสาหกรรมสำหรับใช้ในการ พัฒนา ประเด็นในเรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงมหภาคที่ส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
แหล่งหินสำรองต้องมีระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร มิฉะนั้นค่าขนส่งจะสูงมากและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อดิทัต วะสีนนท์
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ