คาดจีดีพีปีนี้โต 2.6-2.7% ปัจจัยเสี่ยงรอฉุดเพียบ

06 Mar 2024 111 0

   สำนักวิจัยแบงก์พาณิชย์นั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 เหลือโต 2.6-2.7% หลังทั้งปี 66 โตแค่ 1.9% มองได้แรงหนุนหลักจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายต่อหัวลดลง การบริโภคภายในประเทศบวกค่าใช้จ่ายภาครัฐตาม พ.ร.บ.งบประมาณที่จะออกมา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมีเพียบจากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก

    ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS รายงานว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปี 2567 ขยายตัวได้จำกัด สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจฟื้นตัวได้ แต่ยังอ่อนแอ โดยสภาพัฒน์ระบุว่า จีดีพีไทยปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% สอดคล้อง กับการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก่อนหน้านี้ ว่าเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาเติบโตในระดับต่ำ (คาดไว้ที่ 1.8%) ส่วนในปี 2567 สภาพัฒน์คาดว่า อาจเติบโตในช่วงประมาณการ 2.2%-3.2% (ค่ากลาง 2.7%) เป็นไปในทางเดียวกับ สศค. ซึ่งประเมินไว้ที่ 2.8% ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 2.5-3.0% (ค่ากลาง 2.8%) และสอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่ 2.7% เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวเปราะบางและเติบโตได้ค่อนข้างต่ำ

   สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยที่ควรติดตาม ทั้งแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจในเอเชียที่พื้นดีขึ้นและแนวโน้มขาขึ้นของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง

    นอกเหนือจากประเด็นข้างต้นซึ่งมีความเห็นที่สอดคล้องแล้ว Krungthai COMPASS ยังมีข้อแนะนำภาคธุรกิจเพิ่มเติมให้เตรียมรับมือกับการรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกใหม่ โดยเฉพาะการรีเซ็ตเครื่องยนต์หลักทั้งสหรัฐ และจีนที่อาจดับลงพร้อมกัน จากความไม่แน่นอนของ นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบใหม่ ขณะที่สงครามการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและจะเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจจีนให้อ่อนแอลงไปอีก รวมถึงการรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกภายใต้ภาวะการเงินตั้งตัว จากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังสร้างความยากลำบากในการระดมทุนการจ่ายคืนหนี้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้

   ด้าน ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) หรือ “วิจัยกรุงศรีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แม้การฟื้นตัวจะยังไม่กระจายตัวและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 เร่งขึ้นจาก 1.9% ในปี 2566 ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่จากปัจจัยภายในประเทศได้แก่

    1. การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 28.2 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคน

    2. การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

    3. การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีงบฯ ก่อน) ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 2.4% ตามลำดับ จากที่หดตัวในปี 2566 และ

     4.การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3.3% ตามการเติบโตของภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

    อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำเนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แม้อาจมีปัจจัยเฉพาะที่หนุนการส่งออกในบางกลุ่ม เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 2.5% ในปี 2567 จากที่หดตัว 1.7% ในปีก่อนหน้า

    แม้เศรษฐกิจโดยรวมทยอยฟื้นตัว แต่อัตราการเติบโตยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับ 3% ต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 1.1% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 1.2% ในปีก่อน ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง

    โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างเช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงานและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยภายนอกที่อาจสร้างความเสี่ยงในปี 2567 ได้แก่ ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป

    ส่วน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่กลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้ระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจสามารถช่องว่างผลผลิตได้แล้ว (ช่องว่างผลผลิต หรือ Output Gap หมายถึงส่วนต่างระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจปัจจุบันเทียบระดับศักยภาพ) แต่เป็นการปิด Output Gap เทียบกับระดับศักยภาพใหม่ที่ลดลง กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยมักจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเพิ่มขึ้นทุกครั้งหลังเกิดวิกฤต ทำให้เศรษฐกิจในระยะสั้นฟื้นตัวช้ามาก ส่วนในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำเฉลี่ยไม่ถึง 20% ต่อปี อีกทั้งโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นได้ช้ากว่าหลายๆ ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าในอดีต

    ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.9% แต่เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเชื่องช้าและยังมีความเสี่ยงรอบด้าน แม้เศรษฐกิจในช่วงต้นปีได้แรงส่งจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นตามอานิสงส์ของช่วงเทศกาล แต่แรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้นอาจมีเพียงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่การลงทุนโดยรวมฟื้นตัวล่าช้า รวมถึงการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้จำกัด สำหรับเงินเฟ้อปี 2567 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบ เป้าหมาย แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.8% ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมากส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.0% ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่เทียบอย่างมาเลเซียและเกาหลีใต้ และสูงกว่าสหรัฐที่ระดับ 1.0%

     ขณะที่ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้ที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 2.9%ไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet และคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 2.8% ในปี 2568 ตามแนวโน้มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มลดต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะกลับมาชดเชยการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและระดับสินค้าคงคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

     KKP Research ประเมินว่าการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างไรก็ดีมีความท้าทายสองด้านที่อาจทำให้ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาเป็นแรงส่งหลักต่อเศรษฐกิจไทยได้เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 คือ

     1. การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่ำลงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากทั้งโครงสร้างนักท่องเที่ยวและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป 2. KKP Research ยังคงการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567 ที่ 35.2 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าลงกว่าเดิมหรืออาจไม่กลับมาในจำนวนเท่าเดิมอีกต่อไปตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง

    ส่วนทางด้านค่าเงินบาทประเมินว่าภายใต้เงื่อนไขของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ค่าเงินบาทในระยะยาวจะเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่อาจกลับด้านเป็นอ่อนค่า มากกว่าแนวโน้มแข็งค่าที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องในช่วงปี 2561-2562 โดยมาจากสองเหตุผลสำคัญ คือ 1. ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลได้ลดลงตามดุลการค้าโดยคาดว่าปี 2567 จะเกินดุลเพียง 0.8% 2. อัตราดอกเบี้ยของไทยจะอยู่ในระดับต่ำลงตามทิศทางเงินเฟ้อและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศกว้างกว่าในอดีต

   ขณะที่ทางด้านเงินเฟ้อ ประเมินว่าทั้งในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% และ 0.9% ตามลำดับซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. และคาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ และ 1 ครั้งในปี 2568 โดย มีเหตุผลสำคัญ คือ (1) ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงกว่าที่คาดไว้ จากแนวโน้มการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ (2) ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจอาจมีการปรับตัวลดลงตามศักยภาพ การเติบโตในระยะยาว (3) แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้

   อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทายและการชะลอตัวเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจบางส่วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยสั่งสมมาอย่างยาวนานและเริ่มได้ส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีการดำเนิน นโยบายการคลังและนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโครงสร้างควบคู่กันไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button