คลังรับชดเชย หนี้เสีย 70%

13 Apr 2020 817 0

          ”คลัง-ธปท.” ผนึกกำลังหนุนหลังสถาบันการเงิน เร่งมือช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี เปิดเงื่อนไขซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท คลังช่วยแบงก์รับภาระ “หนี้เสีย” สัดส่วน 60-70% ของสินเชื่อ ใหม่ พร้อมผ่อนเกณฑ์สภาพคล่อง ธปท.แจงเป้าหมายเพื่อให้แบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อประคองให้เอสเอ็มอีเดินต่อได้ ขณะที่แบงก์พาณิชย์ยัง “แบ่งรับ-แบ่งสู้” โอดยังแบกความเสี่ยงลูกหนี้ส่อผิดนัดสูง วงในชี้เงินจะไหลไปเข้าธุรกิจที่แข็งแรงเป็นหลัก

          ธปท.อุ้มธุรกิจเอสเอ็มอีดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วย ผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เมื่อ 7 เมษายนที่ผ่านมา มี 2 ส่วนหลัก คือ 1.เลื่อนกำหนดชำระหนี้สำหรับธุรกิจ เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน โดยพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย “แบบอัตโนมัติ” โดยจะไม่ถือว่าเป็นการเสียประวัติ ที่กำหนดให้เช่นนี้เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้มีประมาณ 1.7 ล้านราย ถือว่ามีจำนวนมาก เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ธปท.จึงหารือกับแบงก์พาณิชย์ให้มีผลแบบอัตโนมัติ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่แบงก์ดูแลและสามารถเจรจาต่อรองได้อยู่แล้ว

          อีกมาตรการ คือ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 500,000 ล้านบาท ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี และที่พิเศษ คือ เงินกู้ใหม่ก้อนนี้จะปลอดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะมีสิทธิ์กู้ต้องเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเดิม และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมทั้งจะต้องมียอดค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และวงเงินที่จะสามารถกู้ได้จะไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง เพราะมองว่าเป็นวงเงินที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นสภาพคล่องหมุนเวียน จ่ายเงินลูกจ้างพนักงาน

          รัฐชดเชยเอ็นพีแอล 60-70%

          ดร.รุ่งอธิบายว่า เหตุผลที่ให้เฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้แบงก์เดิม เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้มาตรการส่งผ่านออกไปอย่างรวดเร็ว การปล่อยให้ลูกหนี้เดิม ที่แบงก์มีข้อมูลและประวัติอยู่แล้ว จะทำให้ธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ได้เร็ว ซึ่งธนาคารก็มีต้นทุนดอกเบี้ยซอฟต์โลนเพียง 0.01% นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็จะชดเชยความเสียหายให้กับแบงก์พาณิชย์ ในอัตรา 60-70% ในกรณีการปล่อยสินเชื่อใหม่กลายเป็นเอ็นพีแอลหลัง ครบกำหนด 2 ปี เป็นการจำกัดกรอบความเสียหายให้กับแบงก์พาณิชย์ เพื่อให้กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกหนี้ ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ซึ่งรัฐบาลก็เข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจ ในการปล่อยกู้

          เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาปล่อยกู้ 2 ปี ก็จะมีการเคลียร์บัญชีว่ากลายเป็นหนี้เสีย เท่าไหร่ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็จะเข้ามาชดเชยให้ โดยจะชดเชยความเสียหายไม่เกิน 70% ของสินเชื่อปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยไม่เกิน 60% สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท

          ”สาเหตุที่เงื่อนไขการชดเชยไม่เท่ากัน เพราะ ธปท.ต้องการกระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่กับเอสเอ็มอี รายเล็ก ๆ มากกว่า รัฐบาลจึงเข้ามาชดเชยกรณีเกิดความเสียหายกับกลุ่มนี้ มากกว่า” ดร.รุ่งกล่าว

          พ.ร.ก.อยู่ในขั้นกฤษฎีกา

          ดร.รุ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะเกรงว่าหนี้เสียจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ธปท.ก็เข้าไปช่วยผ่อนปรนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องเกณฑ์สภาพคล่องต่าง ๆ ซึ่งจากมาตรการที่ออกมาทั้งหมดเชื่อว่าน่าจะทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น และเพื่อสร้างกลไกให้เกิดการแข่งขัน หรือเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่ดังกล่าว ธปท.จะให้มีการแจ้งและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสินเชื่อทุกสัปดาห์ เพื่อจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

          อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ลูกค้าธนาคารทุกรายจะได้รับสินเชื่อใหม่ ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร แต่หากเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาสะดุด เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด แบบนี้ได้รับความช่วยเหลือแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ พ.ร.ก.ที่ให้อำนาจ ธปท.ออกซอฟต์โลน ยังอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ซึ่งก็คาดว่าจะใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์

          ”มาตรการครั้งนี้จะแตกต่างจากปี 2540 ซึ่งครั้งนั้นคือตายแล้วไปเก็บศพ ธุรกิจล้มละลายต้องปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น ครั้งนี้มาตรการออกให้เร็วเพื่อไม่ให้ตาย ให้พยุงตัวไปให้ได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจบอบบาง เป็นเชิงป้องกันมากกว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาอาจจะต้องมีการรีวิวตามสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส รวมทั้งติดตามว่าที่ออกมานั้นพอมั้ย ส่งผ่านไปได้ดีมั้ย ต้องแก้ไขอะไรหรือไม่”

          นอกจากนี้ ดร.รุ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มเอสเอ็มรายเล็กที่ไม่เคยขอสินเชื่อธนาคาร หากต้องการสภาพคล่องก็มีช่องทางเป็นการใช้ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท จากธนาคารออมสิน ซึ่งในส่วนนี้จะปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เช่นกัน แต่จะมีความต่างที่จะไม่มีเงื่อนไขปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก เหมือนกรณีซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ แต่ก็ยังถือว่ามีช่องให้เดิน

          ช่วยสภาพคล่องแบงก์เล็ก

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ธปท.ได้ผ่อนปรนเกณฑ์การบริหารสภาพคล่องชั่วคราวให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยออกประกาศให้เป็นแนวปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ 3 ข้อ คือ 1.ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงอัตราส่วน liquidity coverage ratio : LCR และอัตราส่วน net stable funding ratio (NSFR) ต่ำกว่า 100% ได้เป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เพื่อให้แบงก์มีสภาพคล่องมากขึ้น ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดรับ จากการเข้าไปช่วยลูกค้า ทั้งพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย

          2.ให้ธนาคารพาณิชย์นำมูลค่าที่จะได้รับชดเชยจากรัฐบาลมาปรับลดความเสี่ยงด้านเครดิต สำหรับสินเชื่อส่วนที่เกินจากอัตราการชดเชยจากรัฐบาล โดยให้ใช้น้ำหนักความเสี่ยงตามประเภทลูกหนี้ (เช่น ธุรกิจเอกชน 100% หรือลูกหนี้รายย่อย 75%) และ 3.การให้สินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท. ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ใด อีก ส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ ขอให้เฉลี่ยเรียกเก็บตามงวดที่เหลือหรือเฉลี่ยตามระยะเวลาในช่วงท้ายหลังจากการพักชำระหนี้ หรือเรียกเก็บทั้งหมดในช่วงท้ายของสัญญา รวมถึงธนาคารพาณิชย์อาจพิจารณาขยายเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลังจากฟี้นตัวจากวิกฤตแล้ว

          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า การผ่อนคลายเกณฑ์ LCR ไม่น่าจะมีประเด็นมากนัก เนื่องจากปัจจุบันระบบแบงก์มีสัดส่วน LCR ในระดับสูงมาก ทั้งระบบอยู่ที่ 187.5% ขณะที่เงินฝากในระบบก็ยังโตต่อเนื่อง สภาพคล่องจึงไม่น่ามีปัญหา แต่น่าจะเป็นผลดีสำหรับแบงก์ขนาดเล็กที่ช่วงนี้อาจจะมีสภาพคล่องตึงขึ้นได้

          KTB ขานรับรัฐช่วยรับหนี้เสีย

          นายวีระพงศ์ ศุภเศรษฐ์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีการปล่อยซอฟต์โลนดอกเบี้ย 2% ให้เอสเอ็มอี เชื่อว่ารัฐบาลคงเห็นถึงปัญหาว่าแบงก์คงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า จึงเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายบางส่วน อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและสูตรการคำนวณการชดเชยความเสียหายที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

          ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้เข้ามาชดเชยความเสียหาย ธนาคารก็ต้องดูแลและช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถประคองธุรกิจไปได้ ทั้งเลื่อนชำระหนี้ หรือการเติมสภาพคล่อง แต่ยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจล่าช้า เนื่องจากมีขั้นตอนกระบวนการที่ต้องปฏิบัติตาม

          ”กรณีรัฐบาลมาช่วยรับหนี้เสียบางส่วน ก็ถือว่าช่วยธนาคารลดความเสี่ยงที่จะเกิดอัตราความสูญเสีย (loss ratio) ได้ระดับหนึ่ง

          เพราะเดิมธนาคารต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ทั้งหมด อาจจะทำให้ธนาคาร กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะปล่อยสินเชื่อ เมื่อรัฐเข้ามาช่วยแบ็กอัพ เชื่อว่าแบงก์ก็กล้าจะปล่อยมากขึ้น และลูกค้าก็มีโอกาสได้สภาพคล่องดีขึ้น นอกจากนี้ อาจช่วยให้ลูกค้าบางรายที่แม้จะไม่มีปัญหาจากโควิด-19 ธุรกิจก็อาจไม่สามารถไปต่อได้อยู่แล้ว ซึ่งเดิมกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับสินเชื่อใหม่ แต่เมื่อภาครัฐเข้ามาช่วยรับหนี้เสียก็อาจช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น” นายวีระพงศ์กล่าว

          แบงก์ไม่รับปากปล่อยกู้ง่ายขึ้น

          นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า เข้าใจว่าตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นธนาคารพาณิชย์ เพื่อลงรายละเอียดแนวทางปฏิบัติ หลังจากอนุมัติในหลักการไป ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนถึงเกณฑ์การคำนวณความเสียหาย ที่ภาครัฐจะเข้ามารับ ซึ่งต้องรอความชัดเจนก่อน คาดว่าจะออกมาเร็ว ๆ นี้ เพราะ ธปท.และกระทรวงการคลัง รวมถึง รัฐบาลเร่งทำงานกันอยู่

          แม้ภาครัฐจะช่วยชดเชยความเสียหาย บางส่วน แต่การพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ธนาคารก็ยังต้องปฏิบัติตามพื้นฐานการปล่อยสินเชื่อ เช่น ธุรกิจยังพอไปได้หรือไม่ ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น เนื่องจากธนาคารไม่สามารถบอกได้ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบเมื่อไร แต่ลูกค้าที่ยังพอไปได้ ธนาคารยังคงสนับสนุนสินเชื่อเป็นปกติ

          เงินไหลเข้า SMEs ที่แข็งแรง

          แหล่งข่าวสถาบันการเงินอีกราย กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบเอสเอ็มอีของ ธปท. เชื่อว่าที่สุดวงเงินปล่อยกู้จะไหลไปสู่เอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ใช่เอสเอ็มอีรายเล็ก หรือลูกค้ากลุ่มที่มีความสี่ยง เช่น ลูกค้ามีการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว 3 รอบ รวมถึงไม่ได้มีหลักประกัน เชื่อว่าธนาคารคงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

          สำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยง แต่มี หลักประกันบางส่วน ธนาคารอาจจะปล่อยสินเชื่อให้ แต่คงไม่ปล่อยในวงเงินจำนวนมาก เช่นเดียวกับลูกค้ารายกลาง แต่ไม่แข็งแรง ธนาคารก็อาจไม่ปล่อยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่ดูแล้วไม่รอด จะเห็นธนาคารเข้าไปช่วยเช่นกัน แต่จะเป็นการช่วยปรับโครงสร้างหนี้เดิม ไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อใหม่แน่นอน

          ”ลูกค้าแย่มาก ๆ ไม่น่าฟี้น แต่ดูแล้วน่าจะเจ๊ง ธนาคารคงไม่ปล่อย แม้ว่าจะมีภาครัฐมาช่วยชดเชยความเสียหายก็ตาม โดยจะเห็นธนาคารเลือกลูกค้าดี ๆ ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม วงเงินซอฟต์โลนจะไหลไปสู่ลูกค้ารายกลางที่แข็งแรง และลูกค้าที่มาสะดุดจากผลกระทบไวรัส โควิด-19 ส่วนลูกค้าที่มีตำหนิอาจจะ ไม่กล้าปล่อย เพราะถ้าปล่อยไปแล้วเสีย แบงก์ก็ต้องแบกรับความเสี่ยง”

          แบงก์ชี้แบกความเสี่ยงสูง

          แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเข้ามารับความเสียหาย 60-70% แต่ในสูตรคำนวณเบื้องต้นจะเห็นว่ารับความเสี่ยงน้อยมาก เช่น สมมุติลูกค้ามีหนี้เดิม 10 ล้านบาท แต่มีหลักประกัน 5 ล้านบาท ซึ่งได้วงเงินเพิ่มเติม 20% คือ 1 ล้านบาท รวมวงเงิน 11 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินจำนวนดังกล่าว จะเหลือหนี้ไม่มีหลักประกัน 6 ล้านบาท ซึ่งสูตรคำนวณคร่าว ๆ กรณีไม่มีหลักประกัน ภาครัฐเข้ามารับความเสียหายเพียง 1 แสนบาทเท่านั้น คือ หากลูกค้ามีหลักประกันยิ่งน้อย การรับความเสียหายของ ภาครัฐจะน้อยตาม ซึ่งกรณีเดียวกัน หากลูกค้ามีหลักประกัน 10 ล้านบาท ปล่อยวงเงินเพิ่ม 1 ล้านบาท สัดส่วนภาครัฐ จะเข้ามารับความเสียหายสูง 7 แสนบาท

          ”ธนาคารคงไม่หลับหูหลับตาช่วย เช่น เคสลูกค้ามีหนี้เดิม 10 ล้านบาท มีหลักประกัน 5 ล้านบาท ปล่อยใหม่ 1 ล้านบาท คำนวณความเสียหายแล้ว รัฐเข้ามาชดเชยแค่ 1 แสนบาท แต่อีก 9 แสนบาท อาจจะเจ๊งก็ได้ ทำให้ธนาคารคงมุ่งไปหาลูกค้าดี ๆ ก่อน”

          อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดธนาคารอาจจะปล่อยสินเชื่อเต็มวงเงินซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทก็ได้ เพราะตอนนี้ก็ต้องช่วยกัน ซึ่งหากปล่อยสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ อาจจะหนักกว่าเดิม

          โยก 8 หมื่นล้านช่วย “ลีสซิ่ง”

          นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ได้จัดวงเงินซอฟต์โลน 8 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) อาทิ ลีสซิ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น สามารถนำไปช่วยเหลือลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งทางธนาคารออมสินจะออกเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกค้าอีกที

          นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปให้ลูกค้าน็อนแบงก์ รวมถึงลีสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ โดยรัฐบาลต้องการให้พักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ เป็นเวลา 6 เดือนเช่นเดียวกับแบงก์ ซึ่งเบื้องต้น ทางสมาคมน็อนแบงก์ยินดีพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ หากรัฐบาลสนับสนุนซอฟต์โลน

          โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ส่วนซอฟต์โลนธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท ที่รัฐให้ออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในอัตรา 0.01% ต่อปี เพื่อให้ธนาคารต่าง ๆ นำไปปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะ 2 ปีนั้น ขณะนี้ ออมสินเพิ่งปล่อยไปได้แค่ 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะหันไป ใช้ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ของแบงก์ชาติมากกว่า เนื่องจากเงื่อนไขดีกว่า จากที่รัฐจะชดเชยความเสียหายด้วยการค้ำประกันกรณีกลายเป็นหนี้เสียให้กว่า 60-70% ของสินเชื่อ คลังจึงจะปรับซอฟต์โลนของออมสินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น กลุ่มลีสซิ่ง เพื่อสามารถไปดูแลลูกค้าได้ ซึ่งวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ที่จะเข้าไปช่วยน็อนแบงก์ จะเพียงพอหรือไม่ในระยะเวลาการดูแล 6 เดือน ก็จะต้องมีการเข้าไปหารือกันในรายละเอียดก่อน

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button