คณิศ ชู 4 ความสำเร็จ ดัน 4 เมกะโปรเจค อีอีซี

04 Jan 2022 477 0

          นครินทร์ ศรีเลิศ

          กรุงเทพธุรกิจ


          การผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) เริ่มดำเนินการมาต่อเนื่อง ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประมูลโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งแม้จะมีโครงการที่มีการฟ้องร้องในศาลปกครองทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แต่ได้ข้อสรุปและได้ผู้ชนะการประมูลมาดำเนินโครงการ

          คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)   เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของในพื้นที่อีอีซี มีความคืบหน้าที่สำคัญคือได้มีการลงนาม ในสัญญาร่วมกับภาคเอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่

          1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา)

          2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบินภาคตะวันออก

          3.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

          4.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F

          สำหรับการพัฒนาทั้ง 4 โครงการ ถือเป็น “โครงการร่วมลงทุน รัฐ-เอกชน” (Public Private Partnership : PPP) ที่สำคัญของประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกัน สูงถึง 654,921 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 64% และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 238,841 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36% ของวงเงินลงทุน

          ภาคเอกชนจะต้องให้ผลตอบแทน แก่ภาครัฐเป็นวงเงินรวมกันกว่า 440,193 ล้านบาท แบ่งเป็นผลตอบแทนในโครงการต่างๆ  ได้เก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ภาครัฐได้รับผลตอบแทน 37,603 ล้านบาท  2.ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออกภาครัฐได้ผลตอบแทน 305,555 ล้านบาท 3.ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3  ภาครัฐได้ผลตอบแทน 14,765 ล้านบาท และ 4.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ภาครัฐ ได้ผลตอบแทน 82,270 ล้านบาท

          ทั้งนี้ เมื่อหักลบจากวงเงินการลงทุน ที่ภาครัฐจ่ายไปจากการลงทุนร่วมกับ ภาคเอกชนไปประมาณ 238,841 ล้านบาท แล้วภาครัฐได้ผลตอบแทนสุทธิคิดเป็นวงเงิน 210,352 ล้านบาท

          คณิศ กล่าวต่อว่าผลสำเร็จครั้งสำคัญของอีอีซี ที่ได้ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน คนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสะท้อน ให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็น นวัตกรรมใหม่เพื่อการลงทุนของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักคิด 4 ประการ ได้แก่

          1.ประเทศไทยก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเอง โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี ครั้งนี้ ไม่พึ่งพิงเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งต่างจากอดีตที่ผ่านมา ที่การลงทุนต้องกู้เงิน ต่างประเทศมาทำโครงการ อันจะทำให้เกิดภาระทางการคลังในระยะยาวที่ต้องทยอยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้

          2.ภาคเอกชนไทย ธุรกิจไทย แข็งแรง ร่วมกระบวนการพัฒนาประเทศได้ การลงทุน ในพื้นที่อีอีซีถือเป็นความสำเร็จของความร่วมมือ ภาครัฐและเอกชนแบบลงตัว สะท้อนถึง ภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่งเป็นแกนหลัก นำพันธมิตรบริษัทต่างชาติ มาร่วมทำงานให้คนไทยด้วยกัน แนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ คือ การใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย และใช้เงินไทย ในการลงทุนที่จะสร้างงานและเงินหมุนเวียนในประเทศ เกิดการทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier effect) เพิ่มขึ้นหลายเท่า กว่ามูลค่าการลงทุน 6 แสนล้าน

          รวมทั้งช่วยให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับบริษัทไทย รายใหญ่ และรายเล็ก รวมถึงระดับชุมชน นอกจากนั้น ยังสร้างรายได้จากภาษี โดยเฉพาะภาษีทางอ้อม จำนวนมาก

          3.ภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณและ ได้ผลตอบแทนสุทธิสูงถึง 2 แสนล้านบาท สินทรัพย์ที่นำมาดำเนินการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานโดยบริหารร่วมกับเอกชนถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดมูลค่าลงทุน มากกว่า 650,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณของประเทศ และ ยังสร้างรายได้สุทธิให้กับภาครัฐ เป็นมูลค่าปัจจุบันมากกว่า 200,000 ล้านบาท

          4.เอกชนร่วมเสี่ยงกับภาครัฐ คือ การสร้างมั่นใจในอนาคตของประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีทั้ง 4 โครงการ ที่เป็นการร่วมทุนรูปแบบ PPP ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาครัฐและภาคเอกชน สามารถร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ และการที่เอกชนมั่นใจนำเงินมาลงทุน ร่วมเสี่ยงกับรัฐบาล คือการการันตี ความร่วมมือกันอย่างมั่นใจได้ในอนาคต

          ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันทั้งประเทศ รัฐเอกชน และประชาชน โดยภาครัฐได้ขอความร่วมทุน กับเอกชนไทยที่ได้แสดงความแข็งแกร่งของบริษัทไทย

          ”ต้องขอบคุณเอกชนจริงๆที่มาร่วมลงทุน และการที่เป็นเอกชนไทยไม่ได้เป็นบริษัท ต่างชาติจึงเกิดแนวทางใหม่ คือ ใช้บริษัทไทย  ใช้คนไทย ใช้เงินไทยและเป็นการลงทุน ที่จะสร้างเงินและงานให้หมุนในประเทศ และ สร้างอนาคตให้ประเทศในระยะต่อไป”

          นอกจากนี้ เมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา ได้มีการ ประเมินว่าได้นำสินทรัพย์ของภาครัฐ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเองไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ โดยรัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงินต่างประเทศ เพื่อมาดำเนินโครงการ และต้องนำ บริษัทต่างชาติมาดำเนินการก่อสร้างแล้ว เอางบประมาณส่วนนี้ไป ซึ่งหลังจากนั้น ทิ้งหนี้จากการกู้เงินมาก่อสร้างไว้ให้ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลรับหนี้และ ความเสี่ยงในอนาคต แต่ขณะนี้ภาคธุรกิจไทยมีความแข็งแรงและร่วมกระบวนการพัฒนาประเทศได้

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button