กำลังซื้อในประเทศลดฮวบภาวะสุญญากาศตั้งรัฐบาลไม่ได้

27 Jul 2023 213 0

 

          สำรวจค้าส่ง-ค้าปลีก เหนือ-ใต้-กลาง-อีสาน กำลังซื้อฟุบหนัก เศรษฐกิจรากหญ้าดิ่ง ค่าครองชีพพุ่งแต่รายได้เท่าเดิม สะท้อนดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง ชี้การเมืองทำทุกอย่างหยุดนิ่ง กระทบงบประมาณปี 2567 เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มี เมืองท่องเที่ยวพัทยาช่วงโลว์ซีซั่นกำลังซื้อลดลงมาก โรงงานในนิคมลดโอที-ลดกำลังผลิต ส่งผลอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับลดการผลิตอสังหาครึ่งปีหลังก็แย่ ยอดกู้ไม่ผ่านกว่าครึ่ง เอกชนเร่งขอตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

          แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกกล่าวถึงภาพรวมของค้าปลีกครึ่งปีแรกที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว ไม่เป็นไปตามที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่า จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้า “กลุ่มคอนซูเมอร์ โปรดักต์” การเติบโตอยู่ในภาวะที่ทรงตัวถึงลดลง เนื่องจากภาครัฐไม่มีการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายเหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มห้างสรรพสินค้า-เสื้อผ้า-แฟชั่น มียอดขายดีขึ้น ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนในส่วนนี้เกิดจากการเปิดประเทศ ในช่วงต้นปีที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟ้นตัวดีขึ้น และทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้ามาในระบบ

          สอดคล้องกับผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (retail sentiment index) ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 พบว่า retail sentiment index ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสแล้ว โดยไตรมาส 1/2566 ลดลง 13.5 จุด เทียบไตรมาสต่อไตรมาส และไตรมาส 2/2566 ดัชนีลดลงมาที่ 47 จุด หรือ “ต่ำกว่า” ค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุด โดยดัชนียอดขายสาขาเดิม ไตรมาสต่อไตรมาส ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง ไตรมาสต่อไตรมาส และความถี่ในการจับจ่าย ไตรมาสต่อไตรมาส ปรับตัวลดลง สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคฐานรากยังอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร กดดันให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งยังไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย

          โดยภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงการฟ้นตัวของธุรกิจที่ไม่สมดุล โดยพื้นที่ท่องเที่ยวจะฟ้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น ทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพและความงาม มีการฟ้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มีการชะลอตัวและร้านค้าส่งไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟ้นตัว

          การเมืองกระทบเชื่อมั่น

          ขณะที่ นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า การเติบโตของค้าปลีกในขณะนี้ยังเป็นในลักษณะของการฟ้นตัวที่ไม่เท่ากัน หรือ K-shaped recovery โดยกลุ่มกลางไปถึงบนจะยังเติบโตได้และไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากเป็นกลุ่มไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มระดับกลางลงล่างอาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง จากค่าครองชีพหลาย ๆ อย่างที่เพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ยังต้องการการอัดฉีดเงินเข้าช่วย อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการค้าปลีกในต่างจังหวัดก็พบว่า ตัวเลขเดือนกรกฎาคมนี้เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แนวโน้มเริ่มดีขึ้นบ้าง

          แหล่งข่าวจากวงการเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องสำอางรายหนึ่งกล่าวในเรื่องกำลังซื้อว่า จากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ตามปกติและการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มกลับมาคึกคักและมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ทำให้อารมณ์การจับจ่ายและตัวเลขยอดขายค่อย ๆ ฟ้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) แต่หลังจากนั้นมาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมากลับพบว่า พฤติกรรมการจับจ่ายเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้อาจจะเป็นผลมาจากค่าสาธารณูปโภคหลาย ๆ อย่างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟแพง ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มชะลอการจับจ่าย ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นผลกระทบในช่วงสั้น ๆ แต่ปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะการตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ลดลง พฤติกรรมการจับจ่ายก็อาจจะชะลอตามลงไปด้วย

          นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเจ มอร์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ตลาดค้าปลีกจะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะนอกจากมีช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นแล้ว ผล กระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อภาคการเกษตรทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งทิศทางนโยบายเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และการลงทุนของภาครัฐล่าช้า ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมลดลงด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจจับจ่ายโดยให้น้ำหนักกับความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะต้องรับมือ

          ดบ.-กู้ไม่ผ่านทุบกำลังซื้ออสังหาฯ

          ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ครึ่งปีหลังกำลังซื้อชะลอตัวลงชัดเจน จากยอดกู้ไม่ผ่านอยู่ที่ 30-50% จากเดิมต่ำกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่บ้านและคอนโดฯเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็น นอกจากนี้ดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลต่อภาระผ่อนต่องวดเพิ่มขึ้น กรณีกำลังซื้อเท่าเดิม การหาซื้อบ้านต้องซื้อบ้านที่ถูกลง แต่ความเป็นจริงราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้นจากต้นทุนพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น ทั้งราคาที่ดิน วัสดุ ค่าแรงอยู่ในช่วงขาขึ้นทั้งหมด “เฉลี่ยราคาอสังหาฯขึ้นแล้ว 8% แต่รายได้คนเท่าเดิม จำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัย”

          พัทยา ศก.ชะลอตัว

          นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และเจ้าของตลาดกลางรัตนากรค้าส่ง-ค้าปลีกกว่า 11 แห่งใน จ.ชลบุรี และระยอง กล่าวว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของพัทยา ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ถือว่าดี แต่พอเข้าเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม 2566 ยอดขายชะลอลงมาก เป็นช่วงโลว์ซีซั่นไม่มีต่างชาติเข้ามาและคนไทยเป็นช่วงเปิดเทอม มาถึงช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ถึงปัจจุบันเริ่มมีต่างชาติเข้ามา แต่ส่วนใหญ่เป็นทัวร์เอเชีย มาเลเซีย เวียดนาม จีน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนน้อย หากเทียบกับช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาติตะวันตก ยุโรป สแกนดิเนเวียน รัสเซีย มีกำลังซื้อต่อหัวสูง ดังนั้นช่วงนี้ถือว่าเศรษฐกิจของพัทยาชะลอลง เห็นได้ชัดเจนจากยอดขายใน “ตลาดรัตนากร” การใช้จ่ายต่อหัวลดลง สมมุติช่วง 4 เดือนแรกของปี การใช้จ่ายประมาณ 100 บาทต่อหัวต่อคน ตอนนี้เหลือจ่ายเพียงประมาณ 60 บาทต่อหัวต่อคน หายไป 40 บาท

          หากพิจารณาการใช้จ่ายทั้งภาคตะวันออก แบ่งกำลังซื้อเป็น 2 ส่วน คือ ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกปีนี้ติดลบมาเป็นเดือนที่ 6 และทั้งปีอาจจะติดลบ หรือศูนย์ ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมลดการผลิตเหลือเพียง 50% เพราะมีออร์เดอร์น้อย ทำให้แต่ละโรงงานลดการจ่ายค่าล่วงเวลา (OT) และเอาคนออก โดยเริ่มส่งผลกระทบหนักช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน 2566 ทำให้กำลังซื้อตามนิคมอุตสาหกรรมค่อนข้างเงียบ เชื่อว่าดรอปลงไปไม่ต่ำกว่า 25-30% จาก ที่แย่อยู่แล้ว และหนักกว่าภาคการท่องเที่ยว มาก เพราะภาคการท่องเที่ยวไปได้เรื่อย ๆ

          K&K ภาคใต้ยอดขายลดลง

          ด้าน นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ เคแอนด์เค จังหวัดสงขลา ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในภาคใต้ และกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าในภาพรวมส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะ “คนต่างชาติ” จะไม่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยจะมีเสถียรภาพเพราะพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากไม่ได้เป็นนายกฯ และไม่รู้ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่

          ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าส่งผล กระทบต่อปัจจัยภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้าเพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติเงินงบประมาณมาใช้ได้ รัฐบาลรักษาการจะจ่ายได้เฉพาะแผนงานที่ใช้งบประมาณต่อเนื่อง แต่ค่าใช้จ่ายตามแผนงานใหม่ ๆ ไม่สามารถอนุมัติการจ่ายได้ ทำให้เงินที่จะหมุนเวียนเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในระบบหายไป ทำให้เสียโอกาสในการลงทุน

          นอกจากนี้ ทางด้านภาคการเกษตร โดยปกติเมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจะมีนโยบายมาช่วยพยุงราคา “แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้” ตรงนี้ทำให้รายได้ของประชาชนหายไป ส่งผลให้กำลังซื้อในจังหวัดสงขลาชะลอตัวลงไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม 2566) หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตอนนี้กำลังซื้อลดลงไปประมาณ 15% แล้ว

          ”ยอดขายของบริษัท เคแอนด์เคฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคมมิถุนายน) ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมียอดขายเพียง 420 ล้านบาท จากปกติครึ่งปีมีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท และใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่รู้ บรรยากาศคลุมเครืออย่างนี้ ทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่เอื้อ ตอนนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ขอให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว จะเป็นแมวจะสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้” นาย กวิศพงษ์กล่าว

          ยงสงวน อุบลฯ ลุ้นมหา’ลัยเปิด

          ด้าน นายประกอบ ไชยสงคราม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังซื้อของลูกค้า บริษัทยงสงวนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏยอดขายดีเพราะเป็นช่วงเปิดภาคเรียน และคิดว่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่มาถึงตอนนี้ “ยอดขายกลับทรงตัวและไม่ดีเลย” สาเหตุมาจากปัญหาเดิมคือรายได้ของผู้บริโภคไม่มาก ทำให้ไม่มีกำลังซื้อมากพอ ทั้งที่ปกติคนในภาคอีสานจำนวนมากที่ไปทำงานต่างถิ่น มักส่งเงินกลับมาให้คนที่บ้านใช้ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น ชลบุรี หัวหิน รายได้น่าจะไม่ต่ำกว่า 500 บาทต่อวัน

          อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ประเด็นเรื่องการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องการเมือง ทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและช่วงนี้อยู่ในภาวะสุญญากาศทำให้กำลังซื้อหดตัวลงอย่างแน่นอน “ทุกวันนี้รายได้คนไม่ขยับขึ้นเลย แต่สินค้าทุกชนิดปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง เงิน 10,000 บาทที่เคยซื้อสินค้าได้เต็มจำนวน ปัจจุบันซื้อสินค้าได้ปริมาณเพียง 7,000 บาท ผมไม่รู้ว่าผู้บริโภคมีหนี้สินไฟแนนซ์เท่าไหร่ด้วย แต่ภาพที่เห็นตอนนี้เจ้าของกิจการก็ลำบาก โดยเฉพาะกิจการร้านอาหาร วัตถุดิบต่าง ๆ ซื้อเข้าครัว 2-3 วันขายไม่หมดต้องทิ้งและขาดทุน” นายประกอบกล่าว

          แม้ยอดขายจะอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ “ยงสงวน” ยังมีโอกาสทางการค้าอยู่เพราะสินค้าสามารถเก็บไว้ได้นานนับเดือน และเดือนสิงหาคม 2566 จะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิด ยังมีความหวังว่ากำลังซื้อจะกลับมา พร้อมกับธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลูกค้าเป็นนักศึกษา แต่ไม่แน่ใจว่าจะกระตุ้นการจับจ่ายซื้อของได้มากน้อยเพียงใด

          ค้าส่งเชียงรายกระทบมาก

          ด้าน นางอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP จังหวัดเชียงราย ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อในภาคเหนือนั้น “ไม่ดีเท่าไหร่” สังเกตได้ว่าสินค้าประเภทของใช้จำเป็นยอดขายยังทรงตัวอยู่ ส่วนของใช้ฟุ่มเฟอยผู้บริโภคซื้อปริมาณลดลง ยกตัวอย่าง เครื่องสำอาง จากที่ลูกค้าเคยซื้อแบบกระปุกก็เริ่มหันมาใช้แบบซองมากขึ้น เฉลี่ยราคาไม่ถึง 100 บาทต่อซอง ลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างขยายตัวและเติบโตมากขึ้น

          ตอนนี้ยอดขายในส่วนธุรกิจค้าส่งได้รับผลกระทบมาก สวนทางกับกำลังซื้อในส่วนของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งทาง “ธนพิริยะ” มีการค้าปลีกเป็นหลักกว่า 90% ซึ่งกำลังซื้อลูกค้าในกลุ่มตลาดแมสหรือสินค้าปลีกค่อนข้างดี ประกอบกับขยายสาขาเพิ่มจากปี 2565 รวมถึงเพิ่มการโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ตัวเลขการค้าจึงบวกขึ้น  ”เราฟ้นจากโควิด-19 มาแล้ว ถือว่าไม่ได้แย่ แต่ภาพรวมตอนนี้การค้าไม่ค่อยดีเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ทำให้ทุกอย่างนิ่ง และอยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นซึ่งนักท่องเที่ยวลดน้อยลง เห็นความคึกคักอยู่เพียงจังหวัดเชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างเยอะ คาดหวังว่าช่วงไตรมาสที่ 4 ปลายปีสถานการณ์จะดีขึ้น จากภาวะทางการเมืองที่น่าจะดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังไม่สามารถดีขึ้นด้วยตัวมันเอง ต้องอาศัยเงินกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาช่วย”

          กนกกาญจน์ 3 เดือนยอดขายลด

          นางสาวณัฐสินี กนกวรกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างกนกกาญจน์ จ.กาญจนบุรี ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองกาญจนบุรี ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 48 ปี กล่าวว่า ยอดขายของห้างกนกกาญจน์มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 3 เดือนต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม 2566 จากที่คาดการณ์ว่า สินค้าทุกแผนก ควรมียอดขายเติบโตมากกว่า 10% ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน ใช้จ่ายอย่างประหยัด ระมัดระวังมากขึ้น

          สินค้าหลายแผนกของห้างยอดขายเติบโตขึ้น หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ปี 2566 สถานการณ์โควิดคลี่คลายไปแล้ว ทางห้างคาดการณ์ว่า ยอดขายสินค้าหลายแผนกน่าจะเติบโตขึ้นได้มากกว่า 10% แต่ปรากฏว่าไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์ เช่น แผนกซูเปอร์มาร์เก็ตเติบโตขึ้น 10% แต่แผนกเสื้อผ้าเติบโต 2-3% ถือว่าเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะน่าจะเติบโตได้มากกว่านี้  ”หากเทียบกับช่วงก่อนเลือกตั้งเงินสะพัดมาก แผนกซูเปอร์มาร์เก็ตขายดีมาก แต่หลังเลือกตั้งปรากฏคนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้ยอดขายลดลง ส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะเป็นผลจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น สินค้าบางอย่างราคาเดิม แต่ขนาดของบรรจุภัณฑ์เล็กลง ซึ่งตอนนี้สินค้าหลายตัวยังมีการปรับราคาและปรับขนาดบรรจุภัณฑ์อยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้อีกปัจจัยอาจมาจากการเมืองขาดเสถียรภาพ”

          กลุ่มยานยนต์ลดเป้าผลิตครึ่งแสน

          นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มได้ตัดสินใจปรับลดเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทย จำนวน 50,000 คัน จากเดิมตั้งไว้ที่ 1,950,000 คัน ซึ่งจะเหลือเพียง 1,900,000 คัน

          สำหรับตัวเลขที่ปรับลดลงนั้น หลัก ๆ เป็นผลพวงมาจากตลาดภายในประเทศที่เดิมคาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ 950,000 คันนั้น จะเหลือเพียง 900,000 คัน โดยมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของ GDP รวมถึงการส่งออกสินค้าของประเทศไทยลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้หลายอุตสาหกรรมลดกะการทำงานและลดการทำงานล่วงเวลา ทำให้คนทำงานขาดรายได้

          รวมถึงดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้ที่มีหนี้และประชาชนต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงระวังการใช้เงิน ทำให้อำนาจซื้อลดลง ธุรกิจหลายสาขาต้องชะลอตัว และยิ่งการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ใช้น้ำมันมากกว่า 5% โดยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์นำเข้า ไม่ได้ผลิตในประเทศ จึงมีผลต่อการลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศ

          การผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 145,557 คัน

          ส่วนยอดผลิต 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 921,512 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 5.91% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 321,061 คัน คิดเป็น 34.84 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 24.96% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตัน และมากกว่า 10 ตันขึ้นไป ผลิตได้ 78 คัน เพิ่มขึ้น 3,800% รถยนต์บรรทุก ผลิตได้ทั้งสิ้น 600,373 คัน ลดลง 2.09% รถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ทั้งสิ้น 583,867 คัน เท่ากับร้อยละ 63.36 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 1.61% รถบรรทุกขนาดต่ำกว่า 5 ตัน-มากกว่า 10 ตัน ผลิตได้ 16,506 คัน ลดลง 16.50%

          การผลิตเพื่อส่งออกเดือนมิถุนายน ผลิตได้ 84,909 คัน เท่ากับร้อยละ 58.33 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 4.66% และการผลิต 6 เดือนแรกของปีนี้ ผลิตเพื่อส่งออกได้ 530,655 คัน เท่ากับร้อยละ 57.59 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 12.09%

          รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 81,676.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.37% และรวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 481,784.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.99%

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button