การเคหะฯ ปรับโมเดลพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เช่า ร่วมกฟผ.ลุยโครงการบ้านเบอร์ 5 ลดค่าใช้จ่าย
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็น เป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และเป็นไปตามนโยบาย ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยความเชื่อว่าสังคมจะดีขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้นทุก อย่างเริ่มต้นที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผล กระทบด้านภาวะเศรษฐกิจ คนจำนวนมากตกงาน มีปัญหาในการหารายได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายในการลดภาระให้ประชาชน ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายการพัฒนาโครงการของการเคหะแห่งชาติในช่วง 3 ปีนี้ จะเน้นพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทเช่า 100% เพื่อต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น
“เพื่อช่วยกลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ แต่ยังพอมีกำลังเช่าบ้านให้มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย เพราะถ้าเป็นบ้านขาย ผู้ซื้อต้องมีผ่อนดาวน์ ต้องเข้าไฟแนนซ์ ในขณะที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การขอกู้ธนาคารในช่วงนี้ก็เป็นเรื่องยาก แตกต่างจากบ้านเช่า เมื่อสร้างเสร็จก็สามารถเข้าอยู่ได้เลย ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น” นายทวีพงษ์ กล่าว
ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติ ได้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทเช่าหลายโครงการ เช่น โครงการบ้านเคหะสุขประชา, โครงการบ้านเคหะสุขเกษม, โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น โดยแนวทางการพัฒนายังเน้นการสร้างสังคมคุณภาพ โดยชูแนวคิด “ฉลาดคิด ชีวิตดี” (Smart Think Smart Life by NHA) โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาโครงการบ้านเบอร์ 5 ออกแบบบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้อยู่อาศัย พร้อมกับการดูแลในเรื่องคุณภาพชีวิตควบคู่กันไป
สำหรับแนวคิดนี้ จุดเริ่มต้นเป็นการ “สร้างบ้านด้วยใจ” หลังจากนั้นต้อง “ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำอย่างประหยัด การใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า การจัดการขยะ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนที่คุ้มค่า และสุดท้ายต้อง “สร้างเพื่อทุกคน” โดยนำแนวคิดการออกแบบ “อารยสถาปัตย์” เข้ามาใช้ในการพัฒนาโครงการ เพื่อคนทุกเพศทุกวัย ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย มีการปรับปรุงห้องน้ำที่มีความสะดวกมากขึ้นรองรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น นำไปสู่เป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพ อย่างยั่งยืนในระยะยาว
Reference: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ