กทม.บูมมิกซ์ยูส 5 สถานีรถไฟฟ้าศูนย์กลางธุรกิจ-ที่อยู่อาศัย-ค้าปลีก

10 Aug 2020 828 0

 

           กทม.เลื่อนประกาศผังเมืองรวมใหม่ เป็นปลายปี‘64 เร่งวางพิมพ์เขียวพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟฟ้าสารพัดสี รัศมี 800 เมตร บุม 5 สถานีจุดตัดใหญ่ในเมือง “ประตูน้ำ-วงเวียน ใหญ่-บางขุนพรหม-ลำสาลี-เตาปูน”เป็นโมเดลนำร่อง พัฒนามิกซ์ยูส ฮับธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง แหล่งงาน ที่อยู่อาศัย แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หนุนการเดินเท้า ใช้จักรยาน เชื่อมโยง การเดินทางด้วยระบบรถ ราง เรือ แทนรถยนต์ส่วนตัว แก้ปัญหาการจราจร ลดมลภาวะ

          นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.จะเลื่อนการบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงใหม่เป็นปลายปี 2564 เนื่องจากยังมีขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ผังเมืองใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2562 จึงทำให้เกิดความล่าช้า  ขณะเดียวกัน กทม.อยู่ระหว่างรวบรวมการยื่นขอปรับปรุงผังเมืองรวมที่ประชาชนและภาคธุรกิจยื่นเสนอขอมาพร้อมกันไปด้วย

          บูมมิกซ์ยูส 5 สถานีรถไฟฟ้า

          รวมถึงอยู่ระหว่างดำเนินการวางผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่มีศักยภาพรอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้า (TOD) เพื่อกำหนดเป็นแนวทางให้ภาครัฐและเอกชนพัฒนาตามกรอบที่กำหนดไว้ให้สอดรับกับข้อกำหนด การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าสายใหม่จะทยอยเปิดบริการอีกหลายสาย

          โดยแบ่งกลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในแผนแม่บท จากประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงใหม่ให้มีแนวทางการพัฒนา ไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบด้วย 1.กลุ่มย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (สีแดง) 50 สถานี 2.กลุ่มย่านที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯชั้นใน (สีส้ม) 84 สถานี 3.กลุ่มย่านพาณิชยกรรมและย่านที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯชั้นกลาง (สีเหลือง) 132 สถานี 4.กลุ่มย่านที่อยู่ อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมในเขตกรุงเทพฯชั้นนอก (สีเขียว) 9 สถานี 5.กลุ่มย่านประวัติศาสตร์ (สีน้ำตาล)15 สถานีและ 6.กลุ่มย่านสถาบันราชการ(สีน้ำเงิน) 13 สถานี

          “คัดสถานีมีศักยภาพเป็นต้นแบบมี 5 สถานีที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าและอยู่ในเมือง ห่างจากสถานีรัศมี 800 เมตร ได้แก่ สถานีประตูน้ำ วงเวียนใหญ่ เตาปูน ลำสาลี และบางขุนพรหม ตามมาตรการผังเมืองรวมฉบับใหม่ส่งเสริม พัฒนาพื้นที่รอบสถานี อัพโซนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง-มากหรือที่ดินพาณิชยกรรม และให้สิทธิ์ พัฒนาเพิ่มขึ้นในพื้นที่รอบสถานีเป็น จุดตัด 2 สถานีขึ้นไปจาก 500 เมตรเป็น 800 เมตร ในปีนี้ผลศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์”

          สำหรับแนวทางการพัฒนาจะวางแนวทางพัฒนาให้สอดรับกับเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เบื้องต้นจะพัฒนาเป็น รูปแบบมิกซ์ยูส มีศูนย์ธุรกิจ การค้า แหล่งงาน และที่อยู่อาศัย เพิ่มความหนาแน่น การใช้พื้นที่ แต่เป็นการสร้างเมืองแบบกระชับ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง ส่งเสริมการเดิน ใช้จักรยาน สร้างเส้นทาง เชื่อมต่อ เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง ลดปัญหาการจราจร

          ประตูน้ำฮับค้าส่ง

          นายสมชายกล่าวอีกว่า แนวคิดการพัฒนา ในส่วนของ “สถานีประตูน้ำ” ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม จุดต่อเชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์และสายสีเขียว จะพัฒนาเป็นสำนักงานเกรดเอ คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ให้เช่า โรงแรมระดับ 3-4 ดาว บัดเจ็ตโฮเทลระดับ 1-2 ดาว เป็นย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางกิจกรรม ค้าปลีกค้าส่ง โดยจะส่งเสริมพื้นที่ พาณิชยกรรมเดิมและพาณิชยกรรมใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมของกรุงเทพฯ แหล่งธุรกิจแฟชั่นและเสื้อผ้าระดับนานาชาติ ทั้งกลางวันและกลางคืน เหมือนซินจูกุ ชิบูย่า และเมียงดงและจะพัฒนาเส้นทางการสัญจรกับแหล่งท่องเที่ยวหลักและพื้นที่พาณิชยกรรม ที่ต่อเนื่องจากย่านสยาม ราชประสงค์ มักกะสัน พระราม 9 จะมีการส่งเสริมการเข้าถึงด้วยระบบรถ-ราง-เรือ

          “สถานีวงเวียนใหญ่” จุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีแดง สีม่วง (เตาปูนราษฎร์บูรณะ) และสีเขียว จะพัฒนาเป็นศูนย์พาณิชยกรรมรองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของฝั่งธนบุรี มีแผนงานพัฒนา เช่น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินผสมผสานรอบสถานีรัศมี 500 เมตร 650 เมตร และ 800 เมตร ปรับปรุงทางเท้า ทางจักรยานและภูมิทัศน์พื้นที่สถานีกับพื้นที่รอบวงเวียนพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปรับปรุงทางสัญจรและภูมิทัศน์ริมคลองบางไส้ไก่ ถนนย่อยรอบสถานี

          ลำสาลีเกตเวย์โซนตะวันออก

          “สถานีลำสาลี” จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) แนวทางการพัฒนาของพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพาณิชกรรมที่เป็นประตูหลักสู่ พื้นที่กรุงเทพฯ ด้านตะวันออก มีรถไฟฟ้าและเรือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง จะมีโครงการก่อสร้างสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามคลองแสนแสบ มีปรับปรุงทางเท้า ภูมิทัศน์ถนนรามคำแหงและถนนศรีนครินทร์ ขณะที่การพัฒนา จะมีความหลากหลายของที่อยู่อาศัย หลายระดับราคา แหล่งที่อยู่อาศัยแบบหมู่บ้านจัดสรร แหล่งสำนักงานขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ร้านค้าขายแบบ ตึกแถวริมทางเดิน นอกจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่

          เตาปูนศูนย์กลางธุรกิจ-การค้า

          “สถานีบางขุนพรหม” จุดเชื่อมต่อสายสีม่วงและสายสีส้ม จะพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อเนื่องกับกรุงรัตนโกสินทร์ ผสานความหลากหลายของกิจกรรมพาณิชย์ดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ที่คงไว้ ซึ่งเสน่ห์แห่งวิถีชุมชนบางกอกที่ร่วมสมัย ส่งเสริมการเชื่อมต่อของพื้นที่สาธารณะหลายรูปแบบสำหรับการเดินและเส้นทาง จักรยาน เพื่อการท่องเที่ยวย่านบางขุนพรหม โดยปรับปรุงทางเท้า ภูมิทัศน์ถนนสามเสน ถนนวิสุทธิกษัตริย์ และริมแม่น้ำเจ้าพระยา

          และ “สถานีเตาปูน” สถานีร่วมของสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง จะพัฒนาพื้นที่ให้ต่อเนื่องจากพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางรองของสถานีกลางบางซื่อ รองรับย่านรัฐสภาใหม่ โดยแนวคิดการพัฒนาจะเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อสถานีเตาปูน กับพื้นที่ย่านสำคัญรอบสถานีให้เป็นมิกซ์ยูส เช่น สำนักงานเกรดบี คอนโดมิเนียมหลายระดับราคา โรงแรมธุรกิจระดับ 3-3.5 ดาว ศูนย์การค้า ชุมชน ศูนย์การค้าเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้ จากบางโพ จะเพิ่มเส้นทางและโครงข่ายการสัญจร เช่น ท่าเรือด่วนเจ้าพระยา ปรับปรุงถนนและทางเท้าประชาราษฎร์สาย 2  ขยายถนนประชาราษฎร์สาย 1 ซอย 10 พัฒนาภูมิทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา ตัดถนนใหม่แนวตามผังเมืองรวม “สาย ง.10” จากสามแยกเตาปูน-ถนนริมคลองประปา, สาย ง.8 จากสามแยกเตาปูน-ถนนทหาร

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button