โมเดลอุตฯราง อีอีซี หนุนพัฒนา ไฮสปีด-ทางคู่

21 ก.ค. 2564 482 0

          นครินทร์ ศรีเลิศ

          วรรณิกา จิตตินรากร

          กรุงเทพธุรกิจ


          การพัฒนาระบบรางในประเทศขยายตัว มากขึ้นทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่และ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ระบบรางได้ โดยเฉพาะการวางแผนการเดินรถ และซ่อมบำรุง การก่อสร้างและงานระบบ และการบริหารจัดการขนส่ง

          คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ. ได้เตรียมแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความน่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับระบบราง โดยจะมีการส่งเสริมให้เชื่อมโยงกับการพัฒนา “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการพัฒนา ระบบรถไฟทางคู่ในประเทศไทยที่กำลัง มีการขยายเส้นทางเพิ่มมากขึ้น

          ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนระบบรางของภูมิภาคได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับอิตาลี และสหภาพยุโรป (EU) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย ซึ่งจะสามารถรองรับแรงงานและอุตสาหกรรมบางส่วนจากภาคยานยนต์สันดาป และชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมที่ต้องมีการปรับตัวเมื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อม ให้กับภาคยานยนต์ของไทยด้วย

          รายงานข่าวระบุว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้กำหนดพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่จะมาร่วม พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง คือ Ferrovie dello Stato Italiane  จากประเทศอิตาลี ซึ่งเป็น รัฐวิสาหกิจบริการรถไฟในประเทศอิตาลี รวมทั้ง ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาและบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ไต้หวัน

          พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดี กรมขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาล ได้มีนโยบายให้ผลักดันอุตสาหกรรมระบบราง ให้เกิดการพัฒนาในไทย โดยมีเป้าหมายภายใน  5 ปี ไทยจะเป็นประเทศในอาเซียนที่มีการประกอบ ชิ้นส่วนระบบราง เป็นฝีมือคนไทยในการผลิต และประกอบรถไฟ และรถไฟฟ้าเองได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันระบบขนส่ง ทางรางให้เป็น 30% ของการขนส่งในประเทศ

          “ตอนนี้กรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ระบบขนส่งทางราง ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นองค์กรแรกในการ เริ่มผลิตชิ้นส่วนและนำร่องนำชิ้นส่วน มาประกอบในไทย 100% ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ ภายใน 5 ปีนับจากนี้”

          อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งส่วนผลักดันให้เกิด อุตสาหกรรมระบบรางในไทย นอกจากการ ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว กระทรวง คมนาคมยังมีนโยบายกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบรางหลังจากนี้ โดยขอให้ทุกสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างมีการพิจารณากำหนดนำชิ้นส่วน หรือการมีส่วนร่วมจากผู้ผลิตหรือ ซัพพลายเออร์ในไทย เช่น กำหนดจัดซื้อชิ้นส่วน ขนาดเล็ก น็อต หรือยางล้อ ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตมาเป็นส่วนประกอบ

          รวมทั้งปัจจุบันมีเอกชนที่กำหนดเงื่อนไขจัดซื้อจัดจ้างหาชิ้นส่วนที่ผลิตในไทยมาเป็นส่วนประกอบรถไฟหรือรถไฟฟ้าแล้ว เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส มีการกำหนดจัดหา ส่วนประกอบรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยระบุให้บริษัทบอมบาร์ดิเอร์ ผู้รับผิดชอบ งานระบบรถไฟฟ้า ต้องนำชิ้นส่วนล้อยาง จากซัพพลายเออร์ในไทยมาเป็นส่วนประกอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทย เพื่อเป็น การเริ่มต้นพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมระบบรางในไทย

          “ตอนนี้ไทยเรามีความพร้อมเรื่องการผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางอยู่แล้ว เรามีซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนทางรางอยู่ประมาณ 200 แห่ง แต่เป็นการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก ตอนนี้เราต้องพัฒนาให้เริ่มมีการซ่อมระบบราง และต่อยอดไปถึงการผลิตของที่ซ่อม เริ่มนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ และผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบเอง ส่วนเรื่องบุคลากรปัจจุบันเราก็มีพร้อม บุคลากรจบใหม่ ที่มีความรู้เรื่องวิศวกรระบบรางจากสถาบันในไทยรวมกว่า 20 แห่ง”

          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบัน และการสรรหาเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน โดยสถาบันเทคโนโลยีระบบรางตั้งขึ้นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง สร้างความร่วมมือกับ องค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง

          รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและการสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศอย่างแท้จริง มีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วน ในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟ ในประเทศ ได้ตามนโยบาย Thai First

          อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง เบื้องต้นประเมินว่า หากมีการลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนารถไฟ และรถไฟฟ้า 1,000 ตู้ จะก่อให้เกิดการลงทุน ขั้นต่ำกว่า 500 บาท ไทยจะซื้อรถไฟได้ในราคาลดลงราว 2,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน กว่า 2,000 คน และหากมีการพัฒนาชิ้นส่วน ในประเทศ จะสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้ เป้าหมายของรัฐบาลต่อการผลักดัน อุตสาหกรรมระบบรางในไทย กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2565 จะส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ประกอบขั้นสุดท้ายในไทยเพื่อผลักดันให้เกิดการประกอบชิ้นส่วนในประเทศมากที่สุด

          หลังจากนั้นในปี 2567 ต้องส่งมอบ ตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในไทยทั้งหมด โดยต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่น้อยกว่า 40% ของราคารถไฟและรถไฟฟ้า และในปี 2568 ต้องส่งมอบเฉพาะตู้รถไฟและระบบอาณัติสัญญาณต้องผลิตในไทยทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ระบบตัวรถ ระบบช่วงล่าง ระบบขับ และควบคุม เป็นต้น

          การพัฒนาอุตสาหกรรมรางภายในประเทศจะรองรับบางส่วนของยานยนต์ที่เปลี่ยนไปผลิตอีวี คณิศ แสงสุพรรณ

 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย