แผนสร้างไฮสปีดอีอีซีอืด
รฟท.แจงส่งมอบพื้นที่ไม่ทัน/ขยายเพิ่มอีก3เดือน
รถไฟฯ-สกพอ.ถกปมรถไฟเชื่อมสามสนามบิน เคาะขยายเวลาต่ออีก 3 เดือน หลังส่งมอบที่ดินให้เอกชนยังไม่ได้ข้อยุติ รฟท.ส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดตีความเพื่อสรุปประเด็นเงื่อนไขต่างๆ ว่าถูกต้องก่อนเดินหน้าต่อ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด เป็นคู่สัญญา ซึ่งดำเนินการเจรจาแก้ไขสัญญาให้ได้ข้อยุติภายในวันที่ 24 เม.ย.65 หลังจากยืดเวลามาแล้วก่อนหน้านี้ ล่าสุดคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญา ได้ขอขยายกรอบเวลาการเจรจาแก้ไขสัญญา ออกไปอีก 3 เดือน โดยหลังจากนี้จะรายงานให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ รฟท.ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆ ที่ได้มีการเจรจากับคู่สัญญาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา และถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่อีกด้วย เพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบ รัดกุม อย่างไรก็ตาม รฟท.ยืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยรวม และ รฟท.มิได้เพิกเฉยต่อการบริหารงบประมาณ หรือข้อตกลงต่างๆ ที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัญญา และพยายามดำเนินการในกระบวนการต่างๆ อย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้าน สกพอ.ที่ผ่านมาก็พยายามกำกับดูแลให้โครงการสามารถขับเคลื่อนได้โดยเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ
สำหรับประเด็นการโอนและชำระค่าบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) ยืนยันว่า ปัจจุบันรายได้จากค่าโดยสารยังเป็นของ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยชำระค่าสิทธิให้รัฐไม่น้อยกว่า 1,067 ล้านบาทต่อปี เมื่อมาตร การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระ ทบต่อการดำเนินงานของเอกชนคู่สัญญาสิ้นสุดลง รฟท.จะได้รับชำระเงินค่าสิทธิ ARL ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยและค่า ธรรมเนียม ซึ่งการแก้ไขปัญหา ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้โดย สารที่ใช้บริการ ARL ได้อย่างต่อเนื่อง และ รฟท.ไม่ต้องแบกภาระการขาดทุนของ ARL ทั้งยังได้รับค่าสิทธิ ARL ครบจำนวนอีกด้วย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์