แนะเก็บภาษีต่างชาติซื้อบ้านในไทย ตั้งกองทุนฯอุ้มคนจนมีที่อยู่อาศัย-ลดแรงต้าน
“เทอร์ร่าฯ” กางผลสำรวจอสังหาฯ ในภาวะเกิดโควิด ชี้ผู้บริโภคกังวล ขาดความเชื่อมั่น เปลี่ยนแปลงการซื้อที่อยู่อาศัย ตัดสินใจลดงบซื้อบ้าน เน้นโปรโมชัน มองความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ เชื่อในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ด้าน ปธ.สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย แนะทางออก เปิดต่างชาติได้สิทธิ์ซื้อบ้านในไทย คนไทยต้องได้รับประโยชน์ Win Win ทุกฝ่าย ลดแรงต่อต้าน ชงเก็บค่าธรรมเนียมคนต่างชาติซื้ออสังหาฯ ในไทย ดึงตั้งกองทุนฯ ช่วยผู้มีรายได้ คนจนมีบ้าน ขณะที่บิ๊ก “เอพี ไทยแลนด์” ระบุ ต้องให้ชัดเจน ชี้มีข้อดี และข้อเสีย เหตุเกี่ยวข้องถือครอง ที่ดิน “คลัง” ห่วงลดค่าโอนฯ-ภาษี อสังหาฯ กระทบท้องถิ่น รายได้ลด
นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า TerraBKK ได้สำรวจ “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ช่วงโควิด-19” จากแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่าง 430 คน อายุ 20 ถึง มากกว่า 60 ปี ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2564 พบว่า ในช่วงที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดหนัก ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลและขาดความเชื่อมั่น กระทบต่อพฤติกรรมการซื้ออสังหาฯ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 66% เห็นว่าโควิด-19 ระลอกนี้มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ และจำเป็นต้องเลื่อนหรือชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน 22% เห็นว่าโควิด-19 ไม่มีผล กระทบ โดยยังคงตัดสินใจซื้อ อสังหาฯ อยู่ และอีก 12% ระบุว่าโควิด-19 มีผลกระทบทำให้เปลี่ยนใจไม่ซื้ออสังหาฯ แล้ว
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยมาพิจารณาปรับลดงบประมาณในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง มองหาโครงการที่จัดโปรโมชันเยอะๆ เน้นเลือกผู้พัฒนาโครงการที่น่าเชื่อและไว้ใจได้ ขณะที่ดัชนีชี้วัดผู้บริโภคในปี 2564 ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ลงมา และมองว่า ใน 12 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แต่กลับมีความเชื่อมั่นว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น”
นางสาวสุมิตรา กล่าวถึงสถานการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติ ในปี 2564 ว่า จากยอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า เริ่มเห็นสัญญาณบวกในตลาดกลุ่มนี้ เนื่องจากมียอดโอนฯ กว่า 55% ซึ่งเกินครึ่งของเมื่อเทียบกับปี 2563 ทำให้ประเมินในปีนี้จะเห็นกำลังซื้อของชาวต่างชาติเข้ามาซื้อโครงการคอนโดฯ แต่สัดส่วนถือครองชาวต่างชาติในครึ่งแรกของปีนี้เป็น 5-7% ยอดโอนฯ คอนโดฯ เท่านั้น ไม่ได้มีสัดส่วนถึง 20% จนเกิดความกังวล
เก็บภาษีต่างชาติซื้อบ้านในไทย หนุนตั้งกองทุนฯ ดูแลผู้มีรายได้น้อย
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้มุมมองต่อประเด็นการเปิดให้ชาวต่างชาติมีสิทธิ์ในการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยว่า การจะทำอะไรทุกอย่าง ก็ต้องมองเรื่อง Win Win ถึงจะ OK แต่ถ้ามองในแง่เดียว คือ กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ อย่างเช่น ผู้ประกอบการ หรือ ผู้ขาย ขายได้มาก ก็จะมีแรง ต่อต้านเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเรามีโมเดลและมาตรการที่จะให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ได้ง่ายขึ้น แล้วคนไทย จะได้รับประโยชน์อะไร คนไทย ที่ควรได้รับประโยชน์คือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ถ้าเราสามารถบริหารความสมดุล จะทำให้แรงต่อต้าน และการทำจะน้อย
“ถ้าต่างชาติมาซื้ออสังหาฯ ในไทย และให้มาตรการอะไรก็ตาม ต่างชาติ ต้องเสียเงิน (สิ่งที่อาจารย์เคยเสนอมาตลอด) สมทบเป็นอัตราพิเศษเติมเข้าไปในกองทุนที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือคนจน ก็จะทำให้ต่างชาติเข้ามา ไม่ได้มีคนได้ประโยชน์จากคนรายได้สูงเท่านั้น แต่กลับเป็นผลดีกับกลุ่มคนรายได้ต่ำด้วย ถ้าเรามีกองทุน เฮาซิ่งฟันด์ เพื่อช่วยให้กลุ่มระดับล่าง สามารถซื้อบ้านได้ ในราคา ถูกลง สิ่งสำคัญ เราต้อง Balanced ให้ได้ ถึงจะดี การจะเสนออะไร ถ้าไปมองมุมมองด้านเดียว ผู้ที่ได้รับประโยชน์และรายได้สูง ทำธุรกิจ แรงต่อต้านและคนไม่เห็นด้วย จะเยอะ แต่ถ้าพูดเป็น Win Win ทั้งผู้มีรายได้สูง และรายได้ต่ำด้วย เหมือนในหลายประเทศที่มีการบังคับใช้มาตรการ หากเป็นชาว ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นอกเหนือจากคนไทย และนำส่วน รายได้พิเศษจากต่างชาติ นำไปสนับสนุนสร้างบ้าน หรือไปช่วยเหลือด้านการเงินให้กับผู้รายได้น้อย จะทำให้เกิดความสมดุล ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกคนจะสนับสนุน” นายกิตติกล่าว
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวสนับสนุนแนวคิดทางสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยส่วนของตนเองมองว่า ถ้าจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามามีสิทธิ์เป็นเจ้าของ หรือ เช่าอสังหาริมทรัพย์ ระยะยาว จะเป็นการช่วยดีมานด์ระดับหนึ่งเหมือนกัน ทำให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งแนวคิดตั้งกองทุนฯ นั้น ดี แต่ต้องไปดูในรายละเอียด เงินที่จะกันเข้าสู่กองทุนฯ จะเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถซัปพอร์ตกับทุกฝ่าย แต่จริงๆ แล้ว ผมเห็นด้วยกับการเปิดรับต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ
เอพี มอง มีข้อดี-ข้อเสีย ต่างชาติถือครองที่ดิน
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “AP” ต้องดูรายละเอียดให้เยอะขึ้น จะเปิดอย่างไร เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุด เราก็ต้องการชาวต่างชาติเข้ามาช่วยซื้ออสังหาฯ แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นการถือครองที่ดิน ต้องมีความชัดเจนมากๆ ถึงจะตัดสินใจได้ว่า ดี ไม่ดี
คลังมอง ลดค่าโอนฯ-ภาษีอสังหาฯ กระทบท้องถิ่น รายได้ลด
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวในประเด็นการขยายเพดานเรื่องราคาที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองนั้น เราก็อยากให้คนได้รับประโยชน์ แต่ในอีกมุม การลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ หรือการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะส่งผลให้ท้องถิ่นสูญเสียรายได้ไป ทำให้เม็ดเงินที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่น้อยลง
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา