ธปท.จี้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเชิงรุก

13 Jan 2021 540 0

           นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          1.ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

          2.ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึง ถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่างๆ ดังนี้

          2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้น เป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น 2.2 ให้เงินทุน หมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม 2.3 พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan และ 2.4 ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ในการนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด

          ขณะที่กระทรวงการคลังและสถาบัน การเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) จึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและ ค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระ หนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1.มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) 2.มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้แล้ว

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button