อสังหาฯ3จังหวัดปริมณฑล ราคาพุ่งรับ รถไฟฟ้า-ห้างฯ-แหล่งงาน
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
ผลการสำรวจของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ บริษัทนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับแนวโน้ม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 พื้นที่ 3 จังหวัดปริมณฑล แนวรถไฟฟ้า พบว่าราคาเพิ่มขึ้น เริ่มจาก จังหวัด นนทบุรี ซึ่งมีรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง มีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าและแหล่งงาน
เมื่อพิจารณาการเติบโตของทำเลแนวรถไฟฟ้าจะพบว่า บริเวณตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง ราคาที่อยู่อาศัยปรับขึ้นในรอบปี 13% จากการหนุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อีกหนึ่งทำเลที่มีแนวโน้มเติบโตคือบริเวณตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย เพิ่มขึ้น 16% จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน และแยกเป็นประเภทที่อยู่อาศัยพบว่าทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ บริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วง MRT กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขึ้น 6% บริเวณ MRT ตลาดบางใหญ่ และ MRT สามแยกบางใหญ่ เพิ่มขึ้น 4% และบริเวณสถานีแยกปากเกร็ด รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี เพิ่มขึ้น 3%
ทางด้านจำนวนอุปทาน พบว่าทำเลที่มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ ตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง เพิ่มขึ้น 87% ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง เพิ่มขึ้น 41% จำนวนอุปทานคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ในตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ (บริเวณ MRT ตลาดบางใหญ่ และ MRT สามแยกบางใหญ่) เพิ่มขึ้น 52% บ้านเดี่ยวอยู่ในตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด เพิ่มขึ้นถึง 107% และทาวน์เฮ้าส์อยู่ในตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง เพิ่มขึ้น 103%
สมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่ได้รับผลดี จากโครงการรถไฟฟ้าทั้งสายสีเขียว รวมถึงรถไฟฟ้าสายใหม่อย่างสายสีเหลือง ที่คาดว่าจะเปิดในปี 2564 ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาทิ ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ (บริเวณสถานี BTS แพรกษา, BTS สายลวด, BTS เคหะฯ) ราคาเพิ่มขึ้น 21% เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากที่สุดในรอบปี ล้วนอยู่ในอำเภอเมืองสมุทรปราการที่แนวรถไฟฟ้า ทั้งสิ้น ได้แก่ตำบลปากน้ำ (บริเวณ BTS ปากน้ำ) เพิ่มขึ้น 11% ตำบลท้ายบ้านใหม่ เพิ่มขึ้น 8% และตำบลเทพารักษ์ (บริเวณ BTS สำโรง, BTS ทิพวัล, BTS ศรีเทพา) เพิ่มขึ้น 6% ส่วนบ้านเดี่ยว ได้แก่ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง เพิ่มขึ้น 43% และทาวน์เฮ้าส์อยู่ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เพิ่มขึ้น 27%
ทางด้านจำนวนอุปทาน พบว่า ทำเลที่มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ เพิ่มขึ้น 58% ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 57% ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี เพิ่มขึ้น 44% ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี เพิ่มขึ้น 30% และตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 23%
ขณะที่ ปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีปัจจัยเอื้อต่อการอยู่อาศัยหลายด้าน ไม่ว่าจะโครงการพัฒนาของภาคเอกชน อาทิ โครงการ ของภาคเอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต่าง ๆ และโครงการพัฒนาของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และส่วนต่อขยาย คูคต-วงแหวนรอบนอก ทำเลที่มีราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย คูคตวงแหวนรอบนอก ได้แก่ ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 18% และตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 16%
เมื่อโฟกัสที่ประเภทของที่อยู่อาศัย พบว่าทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากที่สุดในรอบปี อยู่ในทำเลแนวรถไฟฟ้า ทำเลใกล้ สถานศึกษา ได้แก่ ตำบลบางยี่โถ อำเภอธัญบุรี (ใกล้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีดรีมเวิลด์) เพิ่มขึ้น 17% ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี (ใกล้มหาวิทยาลัยรังสิต) เพิ่มขึ้น 13% รวมถึงทำเลใกล้รถไฟฟ้า ได้แก่ ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 14% และตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 3% ด้านจำนวนอุปทานพบว่าทำเลที่มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 42% ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 26% และตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 25% โดยคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ในตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา มีจำนวนเพิ่มขึ้นในรอบปี ถึง 49% บ้านเดี่ยวส่วนใหญ่อยู่ในตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 38% ส่วนทาวน์เฮ้าส์ ส่วนใหญ่อยู่ในตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 21%
ราคาที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัดส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 1-3 ล้านบาท โดยคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ส่วนใหญ่มีระดับราคาใกล้เคียงกันคือ 1-3 ล้านบาทและบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 5-10 ล้านบาท ทำให้คอนโดมิเนียมอาจขายได้ยากขึ้น เนื่องจากราคาใกล้เคียง กับทาวน์เฮ้าส์
‘รถไฟฟ้า’ปัจจัยสำคัญทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า และแหล่งงาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ