รฟม.อัปเดตแผนลงทุนรถไฟฟ้า ปีหน้าประมูลสายสีม่วงใต้ ขายซอง ก.พ.64

29 ธ.ค. 2563 871 0

          “รฟม.” อัปเดตแผนลงทุนรถไฟฟ้า ย้ำปีหน้าเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 1.3 แสนล้านแน่นอน พร้อมลุยลงทุนอีก 1 สายทางที่เหลือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ประเมินชงครม.ได้ใน ต.ค. 65 ส่วนรถไฟฟ้าภูมิภาค เริ่มภูเก็ตที่แรก เสนอครม. ต.ค. 64 ปรับโครงการล้มแทรม ใช้ BRT/EV แทน

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ปรับปรุงล่าสุดโดยแบ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล กับโครงการในภูมิภาค ว่า สำหรับรถไฟฟ้าในเขตกทม.-ปริมณฑลนั้น รฟม.มีแผนเปิดประกวดราคา 1 สายทางในปี 2564 คือ สายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท โดยจะเปิดประกวดราคาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 (ขายซอง)-เดือนพฤศจิกายน 2564 / เริ่มก่อสร้างธันวาคม 2564 / ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564-มีนาคม 2566 เปิดให้บริการมีนาคม 2570

          ขณะที่ปัจจุบันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา 1 สายทาง คือ สายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งกำลังรอการพิจารณาของศาลปกครอง กรณีที่ รฟม.ปรับเงื่อนไขเกณฑ์ประเมิน โดยเบื้องต้นโครงการมีกำหนดเปิดให้บริการเมษายน 2570

          ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าในกทม.และปริมณฑล ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 เส้นทาง ล่าสุดสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ความก้าวหน้างานโยธา 72.74% กำหนดเปิดบริการตุลาคม 2567 / สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความก้าวหน้ารวม 68% กำหนดเปิดบริการเดือนมิถุนายน 2565 / สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้ารวม 66.05% กำหนดเปิดบริการกันยายน 2565

          นอกจากนี้ยังเหลืออีก 1 สายทางที่ รฟม.มีแผนดำเนินโครงการ คือ สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงินประมาณ 48,386 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ในเดือนตุลาคม 2565 ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ช่วงเดือนเมษายน 2566-เมษายน 2567 เปิดบริการสิงหาคม 2570 โดยโครงการเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail) โครงสร้างยกระดับทั้งหมด 22.1 กม. 20 สถานี

          ด้านโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค ที่รฟม.ดำเนินการอยู่ 4 โครงการนั้นได้ปรับปรุงแผนการทำงานล่าสุด ดังนี้ 1.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือนตุลาคม 2564  ดำเนินการคัดเลือกเอกชน PPP ช่วงเดือนมีนาคม 2565-มีนาคม 2566 เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2566 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2569

          ทั้งนี้ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างการปรับรูปแบบโครงการจากเดิมดำเนินการเป็นรถรางไฟฟ้า (Tram) ระยะทาง 42 กม. วงเงินประมาณ 35,201 ล้านบาท มาเป็นทางเลือกอื่น เช่น รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) โดยใช้รถเมล์ไฟฟ้า (EV)  โดยใช้แนวเส้นทางเดิม หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้ปรับปรุงโครงการ เพราะเห็นว่าตามผลศึกษาแล้วจะมีผู้ใช้บริการแค่ประมาณ 3.9 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่การลงทุนทำระบบรางจะใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่ถ้าทำเป็น BRT จะช่วยประหยัดค่าก่อสร้างลงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท อีกทั้งการก่อสร้างทำได้ง่ายกว่า ด้วยการใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ปรับปรุงผิวทาง-แบ่งกั้นช่องจราจรให้ชัดเจน

          2.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ซึ่งเป็นระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) วงเงิน 27,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติได้ในเดือนเมษายน 2566 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนช่วงเดือนตุลาคม 2566-ตุลาคม 2567 เริ่มการก่อสร้างพฤศจิกายน 2567 เปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2571

          ทั้งนี้ รฟม.จะเสนอการลงทุนในรูปแบบ PPP ประเภท Net Cost โดยเอกชนรับงาน 100% ทั้งก่อสร้าง ระบบ ขบวนรถ พร้อมรับสัมปทานเดินรถ 30 ปี เอกชนจัดเก็บค่าโดยสารและแบ่งรายได้ให้รัฐ ซึ่งรัฐอุดหนุนไม่เกินค่างานโยธาที่ 22,000  ล้านบาทรวมดอกเบี้ย ดังนั้นรัฐจะเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วน 80% ส่วนเอกชนก็จะลงทุนจริงแค่ 5,000 ล้านบาท หรือ 20% เท่านั้น โดยในช่วงแรกจะใช้รถ Tram 10 ขบวน และจะทยอยเพิ่มขึ้นจนสูงสุดที่ 21 ขบวน

          3.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ระยะทาง 11.17 กม.  21 สถานี วงเงิน 7,115.48 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติได้ในเดือนพฤษภาคม 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน PPP ช่วงเดือนตุลาคม 2566-ตุลาคม 2567 เริ่มก่อสร้างพฤศจิกายน 2567  เปิดบริการกุมภาพันธ์ 2571

          4.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง) ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัล พลาซา เป็นแบบรถรางล้อยาง ระยะทาง 12.6 กม. 15 สถานี วงเงินประมาณ 3,440 ล้านบาท  ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาว่าควรลงทุนแบบ PPP ประเภท Net Cost โดยรัฐลงทุนงานเวนคืน ค่าก่อสร้าง และระบบรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนจัดซื้อรถและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดย รฟม.ประเมินว่าจะสามารถเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการได้ในเดือนตุลาคม 2566  ดำเนินการคัดเลือกเอกชน PPP ช่วงมีนาคม 2567-มีนาคม 2568 เริ่มการก่อสร้างเมษายน 2568 เปิดบริการกรกฎาคม 2571

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย