รายงาน: บิ๊กอสังฯ ยันธุรกิจยังรับมือได้ โต้สมรภูมิไวรัส

09 เม.ย. 2563 561 0

          “ทริส”  มีความวิตกกันว่า ช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชน ครบกำหนดไถ่ถอน ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1แสนล้านบาท โดยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ไม่สามารถยืดอายุการชำระหนี้ได้ ท่ามกลาง สถานการณ์การขายค่อนข้างฝืด การโอนกรรมสิทธิ์ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะต่างได้รับผลกระทบรุนแรง การระบาดไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 และประเมินว่า น่าจะลากยาวกลายเป็นเรื้อรังนับจากนี้ไปจนถึงปีหน้า ท่ามกลางสินค้ารอระบาย แนวราบ-คอนโดมิเนียมสะสมสูงกว่า 3 แสนหน่วย (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์) สอดคล้องกับทริสเรทติ้งยังมองภาพลบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จัดอันดับ จำนวน 22บริษัทพบว่า ยอดขายในปี 2562 ลดลงถึง 33% เมื่อปีกับปี 2561 แต่วิเคราะห์ว่า สามารถชำระหนี้ได้

          “ทริส” มองว่า ด้วย อานุภาพทำลายล้าง ระบบเศรษฐกิจของโควิด-19 ส่งผลให้ ทุกสาขาอาชีพ ได้รับผลกระทบ จึงเชื่อมโยงมาถึง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจนี้ตลาดซึมมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากเกณฑ์สินเชื่อแอลทีวีธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส ล่าสุดธปท.ยืนยันข่าวดีเตรียมซ้อนซื้อ ตราสารหนี้ ที่มีอนาคต ซึ่งธุรกิจอสังหาฯอาจได้อานิสงส์ตามไปด้วย

          “โควิด” อยู่ไม่นาน

          ขณะ ดีเวลอปเปอร์ รายใหญ่ในตลาด นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) สะท้อนว่า จากสถานการณ์โควิดที่กำลังแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ทุกอย่างจะหยุด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่เชื่อว่าโรคระบาดนี้คงมีระยะเวลาอยู่ได้ไม่นาน สำหรับการเข้ามาซื้อตราสารหนี้ ของธปท. มองว่า

          “แบงก์ชาติจะช่วยยืดอายุตราสารหนี้ออกไป เพราะ การออกตราสารหนี้ช่วงนี้ นักลงทุนคนไม่ค่อยเชื่อมั่นหาก โครงการไปต่อไม่ได้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งแบงก์ชาติได้ช่วยเหลือเอกชนเช่นเดียวกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ ทั้งนี้ การเข้ามาช้อนซื้อของแบงก์ชาติ น่าจะดูที่การจัดอันดับเรตติ้งมากกว่า”

          สำหรับ แอล.พี.เอ็น. ยอมรับว่า มีการออกตราสารหนี้เพียง 1,000 ล้านบาท และครบกำหนดชำระปีหน้า ซึ่งไม่กระทบแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีเงินสด คงเหลือวงเงินกู้จากธนาคารเพียงพอ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการโอนกรรมสิทธิ์ สต๊อกคงเหลือ ซึ่งต่างกับค่ายอื่นที่มีหุ้นกู้มากถึงกว่าหมื่นล้านบาท

          สอดคล้องกับ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ระบุ ยอมรับว่ามีลูกค้าไม่มาโอนค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่มีความมั่นคงในอาชีพ จากสถานการณ์โควิด แต่ประเมินว่าโรคระบาดนี้จะไม่อยู่นาน อีก สักระยะจะหายไปและสามารถเร่งพลิกฟื้นกลับมาใหม่

          เช่นเดียวกับ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท แวลู บมจ.พฤกษา ระบุ บริษัท มีสภาพคล่องค่อนข้างมาก ทั้งการก่อสร้างเร็วการขายและการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ละเดือนมียอดโอน กว่า 3,000 ล้านบาท บริษัทจึงไม่มีผลกระทบและมีแคชโฟลว์ค่อนข้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องกู้แต่อย่างใด

          พร้อมรับมือ

          ด้านนายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ย้ำในความมั่นใจว่าได้ปรับเปลี่ยนแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างปรับการทำงานของทีมงาน ปรับเรื่องการขายที่ดึงเทคโนโลยี Virtual Tour 360 องศา ให้ลูกค้าชมบ้านเสมือนจริง ฯลฯ โดยในไตรมาสแรกบริษัทสร้างยอดขายได้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากรวมยอดจอง Pre-Approve และ Backlog เข้าไปจะทำให้บริษัทสามารถทำรายได้ในช่วงไตรมาสแรกคิดเป็น 35% ของเป้าทั้งปี 63

          ประกอบกับความแข็งแกร่งในแง่ของแผนธุรกิจ 5 ปี ของบริษัทที่มุ่งสร้างสมดุลรายได้ ที่ทางบริษัทมีธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ หรือธุรกิจรายได้ประจำจากแผนการกระจายรายได้เพื่อความมั่นคง โดยยังมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้

          นอกจากนี้ ในส่วนเรื่องของหุ้นกู้และตั๋วแลกเงิน ที่บริษัทครบกำหนดเงื่อนไขที่ระยะเวลาชำระคืนในช่วงปีนี้ทั้งหมดนั้น บริษัทได้มีการวางแผนการเงินไว้โดยจะมีการ ขายทรัพย์สินในส่วนของโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ากว่า 120,000 ตร.ม. เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน ให้ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นปี มีสัดส่วนเท่ากับ 1.3%

          แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าโควิด จะมีอายุอยู่ได้ไม่ยาวนานนัก ทว่าการทำลายล้าง ระบบเศรษฐกิจ วันนี้พังพาบเกินเยียวยา แต่มุมกลับเชื่อว่าธุรกิจแต่ละค่ายต่างมีทางออกที่ดีโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์

          ‘แบงก์ชาติจะช่วยยืดอายุตราสารหนี้ออกไป เพราะการออกตราสารหนี้ช่วงนี้นักลงทุนคนไม่ค่อยเชื่อมั่นหากโครงการไปต่อไม่ได้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย