รายใหญ่ปั้นพอร์ตบ้านลักชัวรี ขยับหนีปมหนี้ครัวเรือน-รับรถไฟฟ้าเส้นใหม่

26 พ.ย. 2563 435 0

           อสังหาริมทรัพย์

          ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มคอนโดมิเนียมระดับ ลักชัวรี แม้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีความร้อนแรงและมีการลงทุนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามา แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจทั้งจากภาพรวม ของทั่วโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศไทย รวมถึงซัปพลายคอนโดฯไฮเอนด์ และระดับลักชัวรี ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะ มีอยู่ในตลาดจานวนมาก ที่ดินพัฒนาต้องอยู่ในโลเกชัน ที่Primeมากๆ เพื่อยกระดับแบรนด์ให้มีความเป็นซูเปอร์ลักชัวรี หรือ ลักชัวรี ได้

          แต่จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และทั่วโลกยังประสบกับมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้คอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี ค่อนข้างชะลอตัวลงอย่างมาก ประกอบกับซัปพลายใหม่ที่จะออกสู่ตลาด หดตัวลงอย่างรุนแรง ทำให้คาดว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า หากไม่มีซัปพลายมาเพิ่มเติม จะทำให้คอนโดฯลักชัวรี กลับมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

          ทั้งนี้ เมื่อตลาดกลุ่มนักลงทุนหรือผู้ซื้อในกลุ่มตลาดคอนโดฯลักชัวรี แคบลง ผู้ประกอบการรายใหญ่และ รายกลาง (บางราย) หันมาเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มตลาด บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ระดับแพงหรือลักชัวรีมากยิ่งขึ้นเนื่องจากเป้าหมายหลักของตลาดกลุ่มนี้ กว่า 80% จะเป็นคนไทย ต่างชาติหากจะซื้อ ก็มองเรื่องการเป็นบ้านหลัง ที่ 2 เท่านั้น แต่ในภาวะปัจจุบันคงต้องมองข้ามกลุ่ม ต่างชาติไปก่อน ตราบใดวัคซีนยังไม่ชัดเจน!!

          รายใหญ่ปรับหนีตลาดล่าง

          ขยับขึ้นเซกเมนต์ระดับบน

          หากไล่เรียงบริษัทที่มีพอร์ตบ้านเดี่ยวลักชัวรี มูลค่าขายมีตั้งแต่ 20 ล้านบาท ไปจนถึง กว่า 300 ล้านบาท ทั้งจากการลงทุนพัฒนาเอง และร่วมทุนกับพันธมิตรแล้ว มีอยู่หลายบริษัท เช่น เจ้าตลาดอย่าง บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และใน เครืออย่างบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน), บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซี แอสเสทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัทชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงค่ายบริษัท สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) กับโครงการบ้านเดี่ยวอัลตราลักชัวรี สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส อภิมหาบ้านที่แพงที่สุดในประเทศไทยเริ่มต้น 245-360 ล้านบาท เป็นต้น

          ทั้งนี้ หากพิจารณาจากตัวเลขจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯในไตรมาส 3 ปี 63 และแนวโน้มปี 2564 พบว่า แม้หน่วยรวมที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เปิดตัวใหม่ สะสม 9 เดือนปีนี้ จะเป็นกลุ่มราคา 2-3 และ 3-5 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดรวมมากที่สุด เกือบ 29,850 หน่วย แต่หากมาพิจารณาที่อยู่อาศัย ระดับบน ตั้งแต่ราคา 5 ล้านบาทไปจนมากกว่า 10 ล้านบาท มีหน่วยเปิดใหม่กว่า 9,400 หน่วย

          ซึ่งหากมองในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ สะสม 9 เดือน พบว่า ในกลุ่มแนวราบ ทั่วประเทศ ราคาตั้งแต่ 7 ล้านบาทไปจนมากกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไป มีหน่วยการโอนเพิ่มขึ้นติดต่อมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงคาดการณ์ตัวเลขในปี 63 ต่างกับสินค้ากลุ่มคอนโดฯในระดับราคาดังกล่าวที่ภาพรวมอัตราการโอนลดลงมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึง ปี 63

          และเมื่อแยกประเภท ตลาดโดยรวมของแนวราบ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ ค่อนข้างดี ยกเว้นกลุ่มอาคารพาณิชย์ ที่คาดว่าในปีนี้หน่วยการโอนจะติดลบทั้งนี้ ในกลุ่มแนวราบด้วยกัน สินค้าประเภทบ้านเดี่ยว จะมีภาพเด่นของความต้องการเพื่ออยู่อาศัย โดยราคา 7.51-10 ล้านบาท ปี 63 ยอดโอนฯประมาณ 2,209 หน่วยบวกเพิ่มขึ้น 30.9% และกลุ่มราคามากกว่า 10 ล้านบาท 2,610 หน่วย บวกเพิ่มขึ้น 20.4% เช่นเดียวกับ บ้านแฝดราคาเกิน 10 ล้านบาท มีหน่วยโอน 104 ยูนิต เพิ่มขึ้น 108% ส่วนตลาดทาวน์เฮาส์ จะมีการขยายตัวในระดับราคา 1.51 ล้านบาท ไปจนถึงไม่เกิน 7.50 ล้านบาท

          และเป็นที่น่าสังเกต หน่วยซัปพลายใหม่ใน ครึ่งแรกของปี 63 ในกลุ่มบ้านเดี่ยว มีสินค้าเข้าสู่ตลาดระดับไฮเอนด์ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ระดับราคา 7.51 ล้านบาทไปจนมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยน่าจะเกิดจากเรื่องของการส่งเสริมการขาย และผลจากโควิด-19 ทำให้ตลาดบ้านเดี่ยวระดับบน ที่มีพื้นที่กว้าง และมีความเป็น ส่วนตัวสูงได้รับความนิยม ขณะที่ หน่วยเหลือขายของกลุ่มนี้ รวมกันก็มีปริมาณที่มากเช่นกันประมาณ 9,400 หน่วย ส่วนบ้านเดี่ยวราคาต่ำกว่า 7.50 ล้านบาทลงมา หน่วยเหลือขายสะสมไม่ต่ำกว่า 17,400 หน่วย

          บ้านแพง 10-40 ล้านบาท ยอดขายเกือบหมื่นหลัง

          นางสาวริษิณี สาริกบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บ้านภในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป มีการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี 2560 ถึงไตรมาส 3 ปี 2563 ในช่วง ปีละมีการขอและได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินตั้งแต่ 1,489 หลังจนถึง 2,669 หลัง โดยจำนวนใบอนุญาตจัดสรร ในปี 2561 มีจำนวนสูงสุด คือ 2,669 หลัง ส่วนใน ระยะเวลา 9 เดือนของปีนี้พบว่ามีใบอนุญาตจัดสรร ที่ดินในกลุ่มบ้านที่มีระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 1,170 หลัง

          อุปสงค์ทำการวัดจากโครงการบ้านที่ยังเปิดขาย ณ ปัจจุบัน ณ เดือนกันยายนปีนี้ บ้านระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปที่เปิดขายในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 257 โครงการ มีจำนวน 17,933 หลัง และมีจำนวนที่ขายแล้วรวม 11,211 หลัง คิดเป็นอัตราการขายที่ 63% จากการศึกษาพบว่าจำนวนหน่วยขายเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2558 จำนวนหน่วยขายบ้านที่ขายได้ในปี 2559 มีจำนวน 1,088 หลัง ยอดขายบ้านในปี 2561 และ 2562 มีจำนวนหน่วยขายได้ที่ประมาณ 2,500 หลังต่อปี ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนหน่วยขายได้ทั้งสิ้น 2,047 หลังและ คาดว่าในปี 2563 จำนวนหน่วยขายได้น่าจะมากกว่า ปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยคาดว่าจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ในปี 2563 น่าจะสูงกว่า 2,600 หลัง

          หากจำแนกตามระดับราคาบ้าน พบว่า บ้านที่มีระดับราคาขายระหว่าง 10-20 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายสะสมสูงสุดอยู่ที่ 5,906 หลัง มีอัตราการขายอยู่ที่ 59% ของอุปทานรวม รองลงมาคือบ้านที่มีระดับราคาขายระหว่าง 21-30 ล้านบาท และ 31-40 ล้านบาท มียอดขายรวมอยู่ที่ 2,290 หลัง และ 1,625 หลัง มีอัตราการขายอยู่ในอัตรา 69% และ 67% ของอุปทานรวมตามลำดับ บ้านที่มีอัตราการขายที่สูงสุด คือ บ้านที่ราคาสูงกว่า 100 ล้านบาท มีอัตราการขายอยู่ที่ 78% เนื่องจากอุปทานที่มีอยู่จำกัด (มีเพียง 418 หลัง)

          “กลุ่มผู้ซื้อบ้านอยู่อาศัยที่มีระดับราคาขายเกิน 10 ล้านบาท เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่ได้รับผลกระทบไม่มาก จากการควบสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ที่อาจส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้านมากกว่าคอนโดมิเนียม เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับคนหมู่มาก ประกอบกับโครงข่ายพัฒนารถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ จะช่วยให้การเดินทางเข้าสู่กลางเมืองสะดวกขึ้น ก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มอุปสงค์ของบ้านในกลุ่มนี้”

          ‘บริทาเนีย’ เครือออริจิ้นฯ ปั้นแบรนด์บ้านหรู

          นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจบ้าน จัดสรรในเครือบริษัท ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทพัฒนาโครงการแนวราบ ที่ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจ ที่กำลังกลายเป็น “หัวหอก” สำคัญในการขับเคลื่อน ธุรกิจของเครือออริจิ้นฯให้เติบโต แม้ว่าจะเริ่มกระโจน เข้าสู่ตลาดแนวราบอย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ กลับมีมูลค่าการเปิดโครงการที่เติบโต โดย ณ สิ้นปี 2563 จะมียอดพัฒนาโครงการสะสมทั้งสิ้น 13 โครงการ มูลค่าโครงการที่จะสร้างรายได้สูงถึง 16,927 ล้านบาท

          “แม้ว่าเป้าหมายใน 54 ปีจะมียอดขาย 10,000 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ และสิ่งที่เราเจอกันมา เยอะ ทำให้เราต้องมาเน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ และด้วยแนวทางที่เราวางไว้ตั้งแต่ต้น หากเรามองแค่โปรดักต์ที่อยู่ในเซกเมนต์ง่ายๆ เป็นเมส เราคงขยายตัวยาก เราคงไม่สามารถสบายไปทั้งชาติ ทำให้เราต้องทำ โปรดักต์ที่ยาก เพื่อสบายในอนาคต และบริทาเนียวันนี้ มาเร็วกว่าแผนธุรกิจที่วางไว้ เหมือนโชคชะตาที่ถูก วางไว้ เรามีความพร้อม ในการก้าวขึ้นมาสู่เซกเมนต์ การทำแบรนด์ ท็อป บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี ภายใต้ ชื่อโครงการ เบลกราเวีย เอ็กซ์คลูซีฟพูลวิลล่า บางนาพระราม 9 ครั้งแรก ด้วยมูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท ราคาขาย 25-40 ล้านบาท”

          ‘เฟรเซอร์สโฮม’ รุกเปิดซิตี้โฮม ‘อารมณ์บ้านเดี่ยวลักชัวรี’

          นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ หันมารุกตลาด แนวราบมากยิ่งขึ้น ซึ่งในแต่ละโซนจะมีผู้ประกอบการ อยู่ในทำเลนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ราย ผมไม่เคยเห็นเลย โซนไหนจะมีผู้ประกอบการน้อยกว่า 10 ราย สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่สูง ซึ่งการขยายตัวของโครงการแนวราบ ทำให้เกิดความต้องการในขนาดของที่ดินจำนวนมากส่งผลให้แนวโน้มราคาที่ดินในปี 2564 ปรับขึ้นต่อ จะเห็นไม่น้อยกว่า 30% อันเป็นผลต่อเนื่องจากความต้องการ (ดีมานด์ขับ) ของผู้ประกอบการ ราคาบ้านเดี่ยวจะแพงมากขึ้น ราคาที่ดินจะคิดเป็น 30% ของราคาขายต่อหน่วยขณะที่พฤติกรรมของลูกค้า จะซื้อบ้านเดี่ยวด้วยเงินสดมากขึ้น เนื่องจากการฝากเงินได้ผลตอบแทนน้อย เลยมาซื้อบ้านเดี่ยว รวมถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ความเชื่อมั่น ในแบรนดิ้ง

          “เรื่องหนี้ครัวเรือน ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาตรงนี้ ไปทำให้ความสามารถกำลังซื้อที่อยู่อาศัยลดน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องขยับเซกเมนต์มาเล่นตลาด ระดับบนมากยิ่งขึ้น ไม่อยากอยู่เซกเมนต์ล่างๆ  และหนึ่งในกลยุทธ์ของ เฟรเซอร์สโฮม นอกจากการขยาย โครงการแนวราบทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด แล้วยังมีแผนขยายตลาดในกลุ่มใหม่ พัฒนาในรูปแบบโครงการบ้านเดี่ยว  3 ชั้น ระดับราคา 15-40 ล้านบาท เน้นทำเลในเมืองการเข้าถึงสะดวก เพื่อให้เป็นอีก ทางเลือกของคอนโดฯระดับเพนต์เฮาส์ หรือ ลักชัวรี คอนโดฯ และกลุ่มที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home”

          สำหรับในพอร์ตของเฟรเซอร์สโฮมในตลาด ระดับลักชัวรี ปัจจุบันจะมีแบรนด์ เดอะแกรนด์ คฤหาสน์หลังใหญ่ ช่วงราคา 25 ไปจนถึง 40 ล้านบาทขึ้นไปและ 10-25 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีโครงการ เดอะแกรนด์ ปิ่นเกล้า New Luxury  ราคาระหว่าง 20-75 ล้านบาท และแบรนด์ แกรนด์ดิโอ เริ่ม 7-12 ล้านบาท

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเฟรเซอร์สโฮม ได้ประกาศต้องการที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล (จังหวัดชลบุรี ระยอง ภูเก็ต นครศรีธรรมราชเชียงใหม่ และขอนแก่น) โดยหากเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯต้องการที่ดิน 10 ไร่ เพื่อทำโครงการซิตี้โฮม

          ศุภาลัยฯวางเป้าเพิ่มบ้านพรีเมียม 10-15%

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) (SPALI) กล่าวถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค เริ่มมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้อง ต่อยอดขายโครงการแนวราบของบริษัทที่เติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น

          ขณะที่แนวโน้มตลาดบ้านระดับลักชัวรี ยังคงมีโอกาสขยายตัว แม้ว่าในปัจจุบันด้วยภาวะเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวลง อาจกระทบต่อกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจ แต่ หากในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ความต้องการ (ดีมานด์) โครงการบ้านระดับลักชัวรีจะพลิกกลับมาเร็วขึ้น ซึ่งทางศุภาลัยฯ มองว่า ตลาดบ้าน ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปยังคงเติบโต โดยบริษัท มีสัดส่วนของกลุ่มราคานี้ประมาณ 7% แม้สัดส่วนจะ ไม่มากแต่ถ้าเทียบเป็นมูลค่าแล้วจะมีสัดส่วนค่อนข้างมากประมาณ 20% ซึ่งในแผนจะเพิ่มสินค้าบ้านลักชัวรีให้ได้ระดับ 10-15%

          ด้านนายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกกลุ่มที่เติบโตมาจากธุรกิจการก่อสร้างให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ และได้มารุกตลาดพัฒนาคอนโดมิเนียม ล่าสุด พรีบิลท์ ได้ปรับกระบวนทัพธุรกิจ เข้ามาสู่ตลาดบ้านเดี่ยวลักชัวรี ราคาตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากยังเป็นเซกเมนต์ที่มีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งระดับราคานี้ จะเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มอื่น มองหาบ้านเดี่ยวที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนในครอบครัว และมองหาทำเลที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต จะเห็นได้จากการที่ เราสามารถปิดการขายได้กว่า 80% ของเฟสที่เปิดขายภายในระยะเวลา 6 เดือน

          “ที่เลือกทำเลฝั่งธนบุรี บนถนนพุทธมณฑล สาย 3 จากการเห็นโอกาส และศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งราคาที่ดินในย่านนี้มีการขยับตัวสูงขึ้นราว 8-10% ต่อเนื่องทั้งการอยู่อาศัยในทำเลนี้ยังคงความเป็นส่วนตัว และสามารถเดินทางเข้าสู่ย่านศูนย์กลางธุรกิจได้อย่างสะดวกสบาย ยังรายล้อมด้วยแหล่งอำนวยความสะดวกครบครันเรียกได้ว่าเป็นทำเลที่คุ้มค่ากับการลงทุน เหมาะแก่การลงหลักปักฐาน และขยับขยายสร้างครอบครัวในระยะยาว” นายวิโรจน์ กล่างถึงลักษณะพิเศษของโลเกชันที่ตั้ง โครงการ

          นายพิศาล ธรรมวิเศษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจรับสร้างบ้าน บริษัท พีดีเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดในปี 2563 ว่า แม้ตลาดรวมจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่กลุ่มราคาบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป สวนทางกับตลาดปรับเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากพบว่า ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับการเกษตร เจ้าของโรงสี ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังมีกำลังซื้อที่สูง จึงได้ตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน และยังช่วยบอกต่อในเรื่องแบรนด์พีดีเฮ้าส์ให้กับเจ้าของธุรกิจในพื้นที่

          “ลูกค้ากลุ่มรับสร้างบ้านมูลค่าสูง มีแนวโน้มเติบโตอย่างเช่นในจังหวัดที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มีดีมานด์เข้ามาต่อเนื่อง ยิ่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน นิยมสร้างบ้านหลังใหญ่มูลค่าตั้งแต่ 7 ถึง 11 ล้านบาท เป็นนักธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งในปีนี้ คาดว่าลูกค้ากลุ่ม 10 ล้านบาทจะมีสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่ายอดขาย 1,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2564 สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์”.

          ราคาที่ดินปลายรถไฟฟ้าส่วนขยาย-อนาคตปรับขึ้น 21.1%

          การขยายแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้นออกไปนอกเมืองมากขึ้น กลายเป็นปัจจัยหนุนที่อาจจะทำให้ผู้พัฒนโครงการอสังหาริมทรัพย์ ได้มีโอกาสในการลงทุนและซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูงจนกระทบถึงระดับ ราคาของโครงการที่จะนำออกสู่ตลาด เพราะอาจจะไม่จูงใจในด้านการตัดสินใจ ซื้อที่อยู่อาศัย อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง แม้จะว่าเรื่องโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่ค่าใช้จ่าย (หาก) ต้อง ใช้รถไฟฟ้าเข้าเมือง จึงเป็นคำถาม ที่ผู้ซื้อ “คิดอย่างมาก”

          ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ดูเหมือนว่า ผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ต่างกระโจนออกไป “ดัก” ที่ดิน ตามแนวรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่อยู่ในแผนที่ จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้กลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น นอกเหนือจากการเข้ามาของโครงการข่ายรถไฟฟ้า แม้ว่าถัวเฉลี่ยแล้วต้นทุนของราคาที่ดินต่อราคาขาย จะมีสัดส่วนไม่มาก แต่หากการเข้ามาของผู้ประกอบการในแต่ละทำเลที่เพิ่มมาก ก็มีผลให้เจ้าของที่ดินนำเสนอราคาที่สูง เนื่องจากมีดีมานด์จาก บริษัทอสังหาฯเข้ามา

          ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้สะท้อนให้เห็นถึง ความเคลื่อนไหวของราคาที่ดินในสายรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย และโครงการในอนาคตที่อยู่ ไทม์ไลน์ จะเกิดขึ้น ผ่านการรายงาน “ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล” ในไตรมาส 3 ปี 2563 พบว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 310.7 จุด ปรับเพิ่มขึ้น  0.7% เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 308.6 จุด และปรับเพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 256.5 จุด

          โดยทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านและมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดิน เพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) 5 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นทำเลที่มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ได้แก่

          1) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 35.7% และเพิ่มขึ้น 0.3 %เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)

          2) สายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ทำเลนี้เคยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน (YOY) สูงสุดติดต่อกัน 5 ไตรมาส ปัจจุบันราคาที่ดินเริ่มมีอัตราชะลอตัวลงในไตรมาสนี้ มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 34.2 %

          3) สายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  28.5 %

          4) สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 21.5%และ 5) สายสีเทา (วัชรพล-พระราม 9-ท่าพระ) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 14.8%

          แต่เมื่อพิจารณาทำเลที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ส่วนใหญ่เป็นทำเลที่มีแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิด ให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 3.8%

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย