รีดภาษีที่ดินหด5หมื่นล้าน เบรกโครงการใหม่รับเลือกตั้งอบจ.

29 ต.ค. 2563 979 1

          กทม.-เมืองพัทยา-ท้องถิ่น 7.8 พันแห่งบักโกรก ภาษีที่ดินวูบ 5.3 หมื่นล้าน เหตุคลัง-มหาดไทย ออกกฎหมายลูกสารพัดข้อยกเว้น ที่ดินรกร้าง-เสาสัญญาณมือถือ-หอพัก-อพาร์ตเมนต์ ส้มหล่นถ้วนหน้าทำท้องถิ่นเก็บภาษีได้จิ๊บจ๊อย บอร์ดกระจายอำนาจไฟเขียวขอรัฐ ชดเชย ชงเข้า ครม.เดือน พ.ย.นี้ เจอพิษเศรษฐกิจ-โควิดซ้ำ เงินภาษีที่ได้รับจัดสรร จากส่วนกลาง เงินอุดหนุนลดลงแสนล้าน ต้องรัดเข็มขัดชะลอลงทุน โครงการใหญ่

          รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครองท้องถิ่น สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางชดเชยรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีรายได้ลดลง เนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 5 ต.ค. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ และมีมติเห็นชอบแนวทางการชดเชยรายได้ให้กับ อปท.ตามที่คณะอนุกรรมการฯเสนอ โดยขอให้รัฐบาลชดเชยรายได้ให้ อปท.ที่ได้รับผลกระทบ จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ทำให้รายได้ลดลง 53,000 ล้านบาท ขั้นตอนต่อจากนี้ไป สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะรวบรวมข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดสรรวงเงินชดเชยก้อนดังกล่าวภายในเดือน พ.ย.นี้

          ชดเชย 3 ปี 5.3 หมื่นล้าน

          ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากท้องถิ่น ทั่วประเทศกว่า 7,800 แห่ง ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล จัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินปีงบประมาณ 2563 ได้ลดน้อยลงมาก โดยขอให้ ครม.จัดสรรงบฯชดเชยในปีนี้ 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท จากนั้นปี 2564-2565 ให้จัดสรรงบฯชดเชยอีกปีละกว่า หนึ่งหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับจัดสรร จากการแปรญัตติในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 1.67 หมื่นล้านบาท สำหรับนำมาชดเชยให้กับท้องถิ่นขนาดเล็ก ได้แก่ อบต. เทศบาลตำบล ขณะที่ท้องถิ่นขนาดใหญ่อย่าง กทม. เมืองพัทยา เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ยังต้องรอวงเงินที่เสนอขอชดเชยจากรัฐบาล

          ท้องถิ่นรายได้วูบ 15%

          รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า วงเงิน 53,000 ล้านบาท ที่เสนอขอชดเชย มาจากการคาดการณ์รายได้การจัดเก็บภาษีที่ดินของ อปท.ในปีนี้ เทียบกับปี 2562 หลัง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯมีผลบังคับใช้ โดยให้ยกเลิกจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดไม่สามารถจะจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้ยอดจัดเก็บภาษีทั้งระบบลดลงเฉลี่ย 15% ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ คือ

          1.ภาษีที่ดินกำหนดบทเฉพาะกาลบรรเทาภาระภาษี ทั้งกับประชาชน ผู้ประกอบการ เช่น ปี 2563 การคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย หากประชาชน ผู้ประกอบการ ต้องจ่ายภาษีที่ดินฯต่ำกว่าภาษี โรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ ที่เคยจ่ายในปี 2562 ก็ให้จ่ายตามนั้น แต่ถ้าต้องจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าภาษีเดิม ให้บรรเทาภาระภาษี 75% ของส่วนที่ต้องเสียเพิ่ม เท่ากับ อปท.จัดเก็บได้เพียงแค่ 25% ของภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม จากนั้นปี 2564-2565 ค่อยจัดเก็บเพิ่มเป็น 50% และ 75% ถึงปี 2566 จึงสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็ม 100% จะทำให้ อปท.มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั้งประเทศ 20%

          วืดภาษีบ้านไม่เกิน 50 ล้าน

          2.กฎหมายมีข้อยกเว้นจัดเก็บภาษีจำนวนมาก เช่น ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 50 ล้านบาท บุคคลธรรมดาถือกรรมสิทธิ์ และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ๆ จะได้รับการยกเว้นไม่จัดเก็บภาษี เท่ากับฐานภาษี ลดลงมาก เนื่องจากที่อยู่อาศัยทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ 70% มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ดินเกษตรกรรมที่บุคคลธรรมดาถือกรรมสิทธิ์ ได้รับยกเว้นภาษี 3 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2563-2565

          ช่องโหว่ กม.ที่ดินรกร้างเกลี้ยง

          3.กฎหมายมีช่องโหว่ จากที่รัฐบาลไปรับรองให้ผู้ที่ถือครองที่ดินรกร้าง ว่างเปล่าปรับแผ้วถางที่ดินรกร้างมาทำ การเกษตร เพียงเพื่อได้ประโยชน์จากที่จะมีภาระภาษีลดน้อยลง จากปกติการถือครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตรา 0.3% ปรับมาทำการเกษตร เสียภาษีเพียงแค่ 0.01% อย่างกรณีปลูกมะนาวบนที่ดินในทำเลถนนรัชดาภิเษก ทำให้เกิดพฤติกรรมตามอย่างทั่วประเทศ จากเดิมที่รัฐบาลตั้งสมมติฐานว่าจะมีรายได้ จากการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างเพิ่มจำนวนมาก เมื่อมีช่องโหว่ และกฎหมายรับรอง ทำให้ที่ดินรกร้างที่ต้องจ่ายภาษีเข้ารัฐหายไปแทบเกลี้ยง

          คลังทำ 1.5 พันล้านหายวับ

          4.กิจกรรมบางอย่างที่ท้องถิ่นเคยจัดเก็บภาษีโรงเรือนได้เป็นกอบเป็นกำ และเคยเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของท้องถิ่นบางแห่ง เมื่อ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯใช้บังคับ ปรากฏว่าไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อีก อย่างกรณีเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค่ายมือถือ รายใหญ่ 3 ค่าย มีเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยค่ายละ 18,000 ต้นทั่วประเทศ ต้องจ่ายภาษีโรงเรือนให้ท้องถิ่นในอัตรา 30,000 บาท/ต้น/ปี แต่หลังกฎหมายภาษีที่ดินฯบังคับใช้ กระทรวงการคลังตีความว่า เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี เฉพาะส่วนนี้รายได้หายไปอย่างน้อย 1,500 ล้านบาท

          ปล่อยผีหอพัก-อพาร์ตเมนต์

          รศ.วีระศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุประการที่ 5 กรณีห้องเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ ฯลฯ ซึ่งเดิมจะถูกจัดเก็บภาษีโรงเรือนโดยอิงจากอัตราค่าเช่า และโดยหลักกฎหมายภาษีที่ดินฯ ควรต้องเสียภาษีประเภทกิจการเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงการคลัง ร่วมกันพิจารณา และออกกฎหมายลูกรองรับว่า แม้จะเป็นการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ถ้าเป็นกรณีปล่อยเช่าสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ให้คิดอัตราภาษีเท่ากับที่อยู่อาศัย 0.02% จากที่ควรต้องเสีย 0.3% เท่ากับภาระภาษีลดลง 67 เท่า

          6.การปรับลดอัตราภาษีที่ดินที่จัดเก็บในปี 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลให้ท้องถิ่น ลดภาษีที่ดินลง 90% ให้จัดเก็บเพียงแค่ 10% จากที่ต้องจ่ายจริง

          กทม.รายได้วูบ 1.5 หมื่นล้าน

          น.ส.นราทิพย์ ผินประดับ ผู้อำนวยการ กองรายได้ สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ของ กทม. โดยรวมอยู่ที่ 67,555 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 83,000 ล้านบาท ราว 15,444 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ผลกระทบจากโควิด-19 และการบรรเทาภาษีที่ดินฯ ที่รัฐบาลปรับลดภาษีลง 90% ทำให้ภาษีทั้งหมดที่ กทม.จัดเก็บเองไม่เป็นตามเป้าจาก 15,900 ล้านบาท จัดเก็บได้เพียง 3,997 ล้านบาท หายไป 8,900 ล้านบาท ขณะที่ภาษีส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ลดลงจาก 62,500 ล้านบาท เหลือ 59,725 ล้านบาท ลดลง 5% หรือ 2,775 ล้านบาท

          “เดิมจากที่เก็บภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ ปี 2562 เคยจัดเก็บได้ 15,000 ล้านบาท แต่ปี 2563 จัดเก็บได้ 1,600 ล้านบาท เป็นภาษีที่ดินฯ 1,200 ล้านบาท ที่เหลือเป็นภาษีประเภทอื่น ล่าสุดอยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพื่อขอเงินชดเชยจากรัฐบาลกว่า 15,000 ล้านบาท เพราะ กทม.ยังมีงานบริการด้านต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการ”

          สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ตั้งเป้า จัดเก็บรายได้ 75,500 ล้านบาท เป็นรายได้ ที่ กทม.จัดเก็บเอง 12,000 ล้านบาท ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 63,500 ล้านบาท โดยปี 2564 คาดว่าจะเก็บภาษี ที่ดินฯได้ 5,115 ล้านบาท

          เร่งเก็บภาษีประจำปี 2564

          น.ส.นราทิพย์กล่าวว่า เพื่อให้การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ปี 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ได้ออกประกาศ กทม.เรื่อง กำหนดระยะเวลาทำการสำรวจที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้าง ลงวันที่ 10 ก.ย. 2563 ขอความร่วมมือประชาชนผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ อำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปสำรวจประเมินภาษี ระยะเวลาสำรวจที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 โดยจะประกาศบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีรายการ ห้องชุด และจัดส่งข้อมูลให้กับผู้เสียภาษีภายในเดือน พ.ย. 2563 หากเห็นว่าไม่ถูกต้องให้ยื่นคำร้องขอแก้ไข ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้เริ่มชำระภาษีที่ดินฯเดือน เม.ย. 2564

          เตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ.

          ด้านแหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเปิดเผยว่า จากที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ให้มีการเลือกตั้งสภาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อนท้องถิ่นประเภทอื่น กรมได้ทำหนังสือแจ้งให้ อปท.ทั่วประเทศเตรียมความพร้อมล่วงหน้าแล้ว และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิก อบจ. และนายก อบจ. โดยจะมีการเปิดรับสมัครเลือกตั้งระหว่าง วันที่ 2-6 พ.ย. และกำหนดวันเลือกตั้ง วันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. 2563 ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นประเภทอื่น ๆ จะทยอยตามมา และแม้สถานการณ์เศรษฐกิจ และผลกระทบ จากโควิด-19 จะทำให้ท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องรายได้ แต่คาดว่าการรับสมัคร เลือกตั้งสมาชิก อบจ. นายก อบจ. จะได้รับ ความสนใจจากนักการเมืองท้องถิ่น พรรคการเมือง ส่งตัวผู้สมัครชิงชัยอย่างคึกคัก

          พิษ ศก.รายได้หดแสนล้าน

          ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบ จากโควิด ทำให้รายได้ของท้องถิ่นในปี 2563 ลดน้อยลงมาก โดยในส่วน ของรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ หน่วยงานรัฐจัดเก็บให้ ลดลงจากปี 2562 จัดส่งให้ท้องถิ่น 3.2 แสนล้านบาท เหลือ 3 แสนล้านบาท ลดลง 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ลดลงจากปี 2562 ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท เหลือ 3.2 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 3.4 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่ลดลงจาก ปี 2562 ที่รัฐจัดสรรเงินอุดหนุนให้ 6.58 แสนล้านบาท เหลือ 6.03 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.5 หมื่นล้านบาท รวมรายได้ลดลงกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้ต้องปรับลดงบฯลงทุน จัดซื้อจัดจ้าง โครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะท้องถิ่นขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กทม. เมืองพัทยา เทศบาลนคร ลดค่าใช้จ่าย เน้นทำโครงการ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่จำเป็นต่อการ ให้บริการประชาชนในพื้นที่เท่านั้น

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย