ซัพพลายใหม่ทะลัก! 6,000 หน่วย รามคำแหง เรดโอเชี่ยน
รถไฟฟ้า 3 สาย จุดพลุรามคำแหง EBD ย่านธุรกิจต่อขยาย บิ๊กทุนพรึบ ซัพพลายใหม่ ทะลัก 6 พันหน่วย ขึ้นแท่น เรดโอเชี่ยน หลัง “ริสแลนด์” ทุนยักษ์ฮ่องกง สวนโควิด ยึดสถานีลำสาลี ป้อนคอนโดฯใหม่เกือบ 2 พันหน่วย
แม้การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ตลอดช่วงครึ่งปีแรก 2563 จำนวนลดลงหดตัวแรง 67% เนื่องด้วยผู้ประกอบการเกรงผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์ผ่านจุดต่ำสุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินเครื่องอีกครั้ง เริ่มเห็นการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น ด้วยหวังช่วงชิงโอกาสการขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ทั้งยังเปรียบเป็นจังหวะเปิดตัวที่ปังที่สุด ท่ามกลางรายอื่นๆ ยังเฝ้าระวัง ชะลอการตัดสินใจอยู่
ทำเลส่วนต่อขยายย่านธุรกิจหรือ EBD (Extension Business District)กลายเป็นศัพท์ใหม่ พื้นที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต่างยกให้เป็น Safe Zone ของการพัฒนาคอนโดฯยุคโควิด เพราะอย่างน้อยไม่ต้องกังวลกับซัพพลายค้างเก่าซึ่งเกิดขึ้นในหลายทำเลฮอต ขณะจุดตัดการคมนาคมต่างๆ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า สร้างโอกาสการเติบโตให้กับพื้นที่สูง ทั้งการขยายของเมือง แหล่งงาน และความต้องการด้านที่อยู่อาศัย ที่จะหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน
เช่นเดียวกับ ย่านรามคำแหง ทำเลกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกที่มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวด เร็วจนกลายเป็น EBD โดยมีจุดที่น่าสนใจ คือส่วนต่อขยายการคมนาคมต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี),รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ทำให้ทำเลย่านนี้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อทางราง ที่มีให้เลือกหลายเส้น โดยทั้ง 3 สาย มีจุดเชื่อมต่อที่ “สถานีลำสาลี” ซึ่งถือเป็นโซนที่ขยายตัวเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการลงทุนและเกิดการเติบโตของพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น
พรานบุญความเชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้ทำเลรามคำแหง กลายเป็นที่จับตามองของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯยักษ์ใหญ่หลายค่าย โดยซัพพลายคอนโดฯเริ่มพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2560 นับตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเกิดขึ้น ซึ่งคาด ภายในสิ้นปี 2563 จะมีหน่วยใหม่เกิดขึ้นสูงถึง 6,000 หน่วย เช่น โครงการ นิช โมโน รามคำแหง จากค่าย บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ 1,698 หน่วย และคอนโดฯ โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง ของรายกลางอย่างบริษัท แอสเซทไวส์ บนพื้นที่ 2 ไร่ ใกล้สถานีรามคำแหง อีก 546 หน่วย เป็นต้น
ขณะล่าสุดทุนใหญ่ต่างชาติสัญชาติฮ่องกง อย่าง บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยสโลแกนการลงทุน “เล็กๆไม่ ใหญ่ๆทำ” ก็ประกาศลุยปักหมุด โครงการขนาดยักษ์ “เดอะ ลิฟวิ่ง รามคำแหง” มูลค่าสูงถึง 4.9 พันล้านบาท ซึ่งเลื่อนการเปิดตัวมาจากช่วงปี 2562 บนเนื้อที่ 8 ไร่ บริเวณแยกลำสาลี อาคารสูง 42 ชั้น จำนวน 1,938 หน่วย โดยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด และสื่อสารภาพลักษร์องค์กร ประจำภูมิภาคไทย บริษัท ริสแลนด์ นางสาว มณีกานต์ อิสรีย์โกศล เผยว่า บริษัทเชื่อมั่นต่อตลาดคอนโดฯในไทย เพราะพบยังมีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออยู่ โดยเฉพาะสัญญาณบวก ย่านรามคำแหง โดยคาดราคาขายเปิดตัวที่ต่ำกว่าตลาด ประมาณ 7 หมื่นต่อตร.ม. จะดึงดูดทั้งกลุ่มคนซื้อเพื่ออยู่อาศัยและซื้อเพื่อลงทุนได้ จากอัตราการเติบโตของค่าเช่าราว 6-7%
“ภาพรวมตลาดไตรมาส 3 ทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว พบหลายรายกลับมาเปิดโครงการใหม่โดยเฉพาะทำเลรอบนอก ขณะรามคำแหงนั้น ดีมานด์น่าจะกลับมาเป็นบวก หลายโครงการที่อั้นไว้คาดจะกลับมาเปิดตัว และทำการขายกันอย่างคึกคัก โดยมีริสแลนด์ เป็นผู้ทดลองตลาด เชื่อหากยอดขายเราไปได้ดี โครงการอื่นๆจะ Come Back กลับมาลงทุน”
นอกจากนี้ ยังระบุว่า แผนก่อสร้างทางเดินเท้าสกายวอล์คเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลของรัฐ จะเป็นอีกตัวผลักดันให้โครงการที่อยู่อาศัยโดยรอบมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งในอนาคต บริษัทเอง มีแผนก่อสร้างท่าเรือ ใกล้เคียงกับโครงการเช่นกัน เพื่อให้ตอบโจทย์การเดินทาง รถ ราง เรือ อย่างครบครัน คาดสร้างความคึกคักให้กับทำเลดังกล่าวไม่น้อย
ทั้งนี้ บริษัท ตั้งเป้ายอดขาย ณ สิ้นปี ที่ 1.6 พันล้านบาท หรือประมาณ 50% ของมูลค่าโครงการ หลังแนวโน้มลูกค้าตอบรับดี จาการเปิดขายอย่างไม่เป็นทางการในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ราว 400 หน่วย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ จีน ฮ่องกง ซึ่งส่งสัญญาณว่าอสังหาฯไทยยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน
นางสาวพจมาน วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายงานบริหารงานขายและการตลาด บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมทำเลรามคำแหง ยังเป็นตลาดบลูโอเชี่ยน จากการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการน้อยราย เช่น เสนาฯ, ศุภาลัย ซึ่งทั้ง 2 โครงการมียอดขายเกิดขึ้นดีตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด และกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังคลายมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากเป็นทำเลส่วนต่อขยาย ที่ได้อานิสงส์ลูกค้าบางส่วนหลั่งไหลมาจากย่านรัชดา-พระราม 9 รวมถึงนักลงทุนชาวจีนก็ยังให้ความสนใจ ขายดีสุดในระดับราคา ช่วง 1 ล้านบาทปลายๆ-2 ล้านกว่า จากกลุ่มลูกค้าบ้านหลังแรก อย่างไรก็ตาม การเข้ามาปักหมุดลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของริสแลนด์ จะทำให้การแข่งขันในทำเลดังกล่าวร้อนแรงขึ้น แต่ไม่ได้กังวลถึงปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย เนื่องจาก รามคำแหง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นติดอันดับต้นๆของกรุงเทพฯ อีกทั้งตลาดมีกลุ่มลูกค้าเช่าอพาร์ตเมนต์ ที่รอดูดซับโครงการแล้วเสร็จอีกจำนวนมากเฝ้าตัดสินใจอยู่ คาดจะเป็นอีกหนึ่งทำเล ที่มีความคึกคักด้านการขายอย่างต่อเนื่อง
“ริสแลนด์ เป็นอีกคีย์สำคัญ ว่าสามารถเปิดโครงการและทำยอดขายได้ดีหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เจาะแค่กลุ่มลูกค้าคนไทย ถ้าเปิดแล้วรอด ย่อมการันตรีว่าตลาดยังไปได้ อีกทั้ง รามคำแหง ยังมีตลาดกลุ่มลูกค้าเช่าอพาร์ตเมนต์จำนวนมาก ที่รอซื้อเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ เนื่องด้วยไม่สามารถเช่าจ่าย 2 ทางได้ ลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นความหวังของดีเวลลอปเปอร์จึงกล้าเสี่ยง”
ทั้งนี้ พบช่วงรามคำแหงตอนปลาย ใกล้มีนบุรี จุดตัดเชื่อมต่อของสายสีส้ม และสีชมพู ยังมีโครงการ ดิ ออริจิ้น ราม 209 อินเตอร์เชนจ์ ของ บมจ.ออริจิ้น มูลค่า 1,900 ล้านบาท อีก 1,007 หน่วย ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ปัจจุบันพบมียอดขายแล้วประมาณ 80%
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ