ศก.-ท่องเที่ยวไทยฟื้นเร็วเกินคาด ความต้องการแรงงานก่อสร้าง-อสังหาฯดีดตัว จับตาเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพพุ่งบีบแรงงานเพื่อนบ้านทะลักเข้าไทย

08 มี.ค. 2566 202 0

 อสังหาริมทรัพย์

          สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ยังคงเกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้น ปี 63 ซึ่งต้องประสบกับสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องกว่า 2 ปี ทำ ให้ผลกระทบทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นผลจากการเดินทางกลับถิ่นฐานของแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน เมียนมา เขมร และลาว แล้ว ไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้

          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงาน ด้วยการเสนอค่าแรงสูงขึ้น 10-20% รวมทั้งการปิดพื้นที่ก่อสร้างส่งผลกระทบต่อโครงการที่อยู่อาศัย แนวราบและแนวสูง ทำให้ต้องหยุดชะงัก จากปัญหาความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน เนื่องจากในพื้นที่ก่อสร้างนั้นแรงงานส่วนใหญ่ คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าว ทำให้ในช่วงปี 64 แรงงานในระบบหายไปกว่า 300,000-500,000 คน ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างเกิดความกังวลว่าในระยะยาวปัญหาแรงงานขาดแคลนจะกระทบต่อตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดอสังหาฯกลับมาขยายตัว ซึ่งจะทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงานกันอีกครั้ง

          อย่างไรก็ตามในช่วง ปลายปี 65 ซึ่งภาคธุรกิจต่างๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัว แต่สถานการณ์แรงงานขาดแคลนยังคงเกิดขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าความต้องการแรงงานในระบบเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 ล้านคน เนื่องจากเป็นปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่โควิด-19 และการเดินทางกลับภูมิลำเนา และยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้  และจนถึงขณะนี้แรงงานต่างด้าวก็ยังกลับเข้ามาในระบบน้อยมาก แม้รัฐบาลจะมีการผ่อนปรนเป็นระยะก็ตาม ทำให้ปัจจุบันเกิดการช่วงชิงแรงงานข้ามอุตสาหกรรม

          โดยเฉพาะแรงงานในภาคอสังหาฯ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งขาดแคลนแรงงานกว่า 300,000-400,000 คน เนื่องจากแรงงานไทยไม่นิยมทำงานหนักหรืองานก่อสร้าง ทำให้ภาคอสังหาฯและอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ประกอบกับแรงงานไทยเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้าสู่ภาคบริการเพิ่มขึ้น เช่น เคยทำงานโรงงานก็เคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคธุรกิจบริการ โรงแรม ขณะที่แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้างก็เคลื่อนย้ายเข้าสู่แรงงานในภาคการผลิต เช่น โรงงานผลิตสินค้า เพราะสบายและได้เงินตอบแทนดีกว่า

          การเคลื่อนย้ายแรงงานในลักษณะนี้ ทำให้ภาคอสังหาฯและภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเพิ่มค่าแรง 20-30% เพื่อดึงดูดแรงงานให้เข้าสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างมากขึ้น และทำให้บริษัทอสังหาฯ และธุรกิจก่อสร้าง มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น 5-7% เมื่อนับรวมกับต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ต้นทุนการเงิน และสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ การปรับตัวของราคาที่ดิน ส่งผลให้ราคาบ้านและที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวขึ้น นับตั้งแต่ปลายปี 65 ที่ผ่านมา

          ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในปี 66 นี้ โครงการที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่จะมีราคาสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างในช่วงก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลให้งานก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม เกิดความล่าช้ามากขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วความล่าช้าในการก่อสร้างของแต่ละโครงการเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 เดือน และความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้ มีผลต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการหลายๆ รายต้องแก้ปัญหาด้วยการยอม คืนเงินให้กับลูกค้าที่ขอเงินคืน เพราะปัญหาความล่าช้า หรือยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้า

          “นโยบายผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เพื่อดึงดูดแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้จะทำให้สถานการณ์แรงงานในประเทศไทยดีขึ้นแต่ จำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของ ภาคการผลิตและก่อสร้าง โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิตสูงถึง 500,000 คน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขาดแคลนแรงงาน 300,000 คน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างขาดแคลนแรงงานถึง 700,000 คน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอีก กว่า 400,000 คน ปัญหาขาดแคลนแรงงานดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการขยายการผลิต ซึ่งจำเป็นต้องเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยแม้ว่า มีเข้ามาแล้วบางส่วนตามMOU แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

          ทั้งนี้  ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุว่าแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างช่วงปี 65-67 คาดการณ์ตามมูลค่าการลงทุนงานก่อสร้างโดยรวม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวจากแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของ ภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการในพื้นที่เขต ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ (EEC) โครงการขยาย เส้นทางการคมนาคมขนส่งทางรางและถนนทั่วประเทศ อีกทั้งการลงทุนโครงการก่อสร้างภาคเอกชน ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยและภาคอสังหาฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะส่งผลให้ความต้องการแรงงานก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ ภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานกลับมารุนแรงอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคส่งผลต่อโครงการก่อสร้างล่าช้า เพราะแรงงานก่อสร้างต่างด้าวจะยังไม่เดินทางกลับมาทำงานในไทยมาก ในระดับเดียวกันช่วงก่อนเกิดการ แพร่ระบาดของ COVID-19

          ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์สถานการณ์แรงงานปี 66 ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็น ปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขมา โดยตลอด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร โดยประเมินว่าปีนี้ภาคอุตสาหกรรมโดยรวมยังขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 350,000-500,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นความต้องการจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการกลับมาขยายตัวของภาคธุรกิจ ท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้ความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เช่นกัน

          นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ ภาคธุรกิจอสังหาฯ และอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องตื่นตัว ปัญหาการแรงงานขาดแคลนในระบบ เนื่องจากการกลับเข้ามาท่องเที่ยวของชาวจีน และกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย และ กลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่หนีช่วงฤดูหนาวมาพักผ่อนในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว และภาคบริการกลับมาขยายตัวและมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น

          ขณะเดียวกันก็จะดึงดูดแรงงานให้เคลื่อนย้ายแรงงานจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างไปสู่ภาคบริการ เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาคือ การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาฯจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปด้วย และยังผลักดันให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ค่าแรงของแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งอยู่ที่300บาทต่อวัน ก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท ต่อวัน ส่วนแรงงานฝีมือหรือแรงงานที่มีทักษะสูงค่าจ้างก็จะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจากเดิมที่เคยมีค่าจ้างอยู่ที่ 500 บาทต่อวันก็มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นไปอีก

          “กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ประกอบการ หรือ บริษัทอสังหาฯ ที่พัฒนาโครงการคอนโดฯและบ้านจัดสรร เพราะต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีโอกาสที่แรงงานจะขาดแคลนสูงกว่า 20-30% ซึ่งถือว่าขาดแคลนแรงงานรุนแรง และมีผลต่องานก่อสร้างล่าช้า การส่งมอบบ้านให้ลูกค้าก็จะล่าช้าออกไปด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากไตรมาส 2 เป็นต้นไป”

          ทั้งนี้แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการหรือ บริษัทอสังหาฯหลายๆ ราย จะนำระบบก่อสร้างแบบพรี แฟบพริเคชั่น หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้ในการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากสามารถลดต้นทุนแรงงานได้ถึงประมาณ 50%  และยังลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้างกว่า 30% ซึ่งจะทำให้ต้นทุนรวมของการก่อสร้างลดลงกว่า 15% ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็น การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตามความต้องการแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงที่จะเข้ามาแก้ไขงานระบบหรือเชื่อมต่อระบบพรีแฟบพริเคชั่นก็ยังมีอยู่สูง ขณะที่แรงงานฝีมือดังกล่าวที่จำนวนจำกัด ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจก่อสร้างยังคงขาดแคลนแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมากเช่นเดิม

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายจะคาดการณ์ว่าสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในระบบของประเทศไทยจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี66 นี้ แต่ แนวโน้มความต้องการเข้ามาทำงานของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมา ลาว และกัมพูชา กลับทวีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

          ทั้งนี้หลังจากที่เกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวขณะที่ประเทศ เพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชาต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเมียนมาและลาวที่มีความต้องการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อมาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

          โดยในส่วนของแรงงาน จากประเทศเมียนมานั้นมีความต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเมียนมาอยู่ในภาวะสงครามทำให้ภายในประเทศขาดการจ้างงานประกอบกับประชาชนเมียนมาต้องการหนีภาวะสงครามเข้ามาทำงานในประเทศไทยทำให้มีแรงงาน เมียนมาจำนวนมากที่แสดงความต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

          ขณะที่แรงงานจาก สปป.ลาว ก็มีความต้องการ เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยสูงที่สุดนับตั้งแต่ มีการจ้างงานแรงงานจากลาว เนื่องจากลาวประสบปัญหาค่าเงินเฟ้อปรับตัวสูงซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพพุ่งสูงกว่า รายได้ โดยรายได้เฉลี่ยในประเทศ สปป.ลาวต่อเดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 บาทต่อเดือนทำให้ค่าใช้จ่ายและรายได้ไม่บาลานซ์ ขณะที่ค่าแรงในประเทศไทย อยู่ที่300-400 บาทต่อวัน หรือประมาณ 9,000-12,000 บาทต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพแล้วมีความสมเหตุสมผลมากกว่าทำให้แรงงานลาว ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับสถานการณ์การจ้างงานในประเทศกัมพูชา มีสถานการณ์ไม่แตกต่างไปจากลาวมากนัก แม้ว่าการ จ้างงานจะมีราคาสูงกว่าทำให้แรงงานกัมพูชามีรายได้มากกว่า แต่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อค่า ครองชีพ นอกจากนี้อัตราการว่างงานในประเทศกัมพูชายังมีอยู่สูง ทำให้มีการแข่งขันที่สูง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานต่อวันยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศไทยทำให้ความต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานกัมพูชามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          แนวโน้ม ความต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าวจากทั้ง3ประเทศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลดีต่อสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยในระยะข้างหน้า และคาดว่าจะทำให้ปัญหา การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ลดลงได้ 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย