ธปท. เดินหน้าขึ้น ดอกเบี้ย

18 ต.ค. 2565 409 0

          ย้ำชัดอัตราสูงสุดต้องเป็นบวก - อีกปีครึ่ง ศก.กลับสู่ศักยภาพ

          “แบงก์ชาติ” แจงชัดดอกเบี้ยนโยบายไทยยังขึ้นได้ต่อเนื่อง พร้อมย้ำอัตราดอกเบี้ยสุทธิควรต้องเป็นบวก ประเมินเศรษฐกิจไทยกว่าจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพต้องใช้เวลาร่วม1 ปีครึ่ง 

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565 โดยกล่าวยืนยันว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด พร้อมประเมินเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว

          นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวในงานประชุม นักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2565 ว่า กรณีที่มีการตั้งคำถามว่า ภายใต้บริบทปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของไทย ควรขึ้นไปอยู่ระดับใดถึงเป็นระดับที่ เหมาะสมนั้น เรื่องนี้ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะ กนง. ไม่ได้กำหนดว่าระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสม ควรอยู่ที่เท่าไหร่ แต่บอกได้เพียงว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ 1% ยังไม่ใช่ระดับสูงสุด

          นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยในระดับ ดังกล่าว ยังไม่ใช่ระดับที่เป็น Neutral rate หรือจุดที่ดอกเบี้ยเข้าสู่สมดุล ดังนั้น ระยะข้างหน้าจะเห็นดอกเบี้ยขึ้นต่อไป ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ขณะนั้นเป็นอย่างไร

          อีกทั้งมองว่า อัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด (Terminal Rate) ควรจะเป็นบวก เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ระดับศักยภาพ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง

          อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. จะพยายามหลีกเลี่ยงการให้ Forward Guidance หรือการส่งสัญญาณชัดเจน เพราะสถานการณ์ข้างหน้าคาดเดาอนาคตลำบาก จากความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่ต้นปีมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะ อยู่ที่ 4% แต่ปัจจุบัน 8% เช่นเดียวกับดอกเบี้ย ที่ตลาดคาดสิ้นปีจะอยู่ที่ 1% แต่ปัจจุบันเพิ่มไปที่ระดับกว่า 4% เหล่านี้สะท้อนว่าสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

          กนง.ย้ำเลี่ยงการเซอร์ไพร์สตลาด
          นอกจากนี้ นายปิติ กล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. จะพยายามไม่เซอร์ไพรส์ตลาด โดยการสื่อสารของ กนง. ต่อตลาดที่ผ่านมา เป็นการให้น้ำหนักและพัฒนาของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในขณะนั้น

          “หากมีการให้ Forward Guidance ที่ชัดเจน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน อาจเกิดช็อกได้ ที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ได้ ทำให้ กนง.หลีกเลี่ยงที่จะให้ทิศทางที่เป็น Forward Guidance ที่ชัดเจน และ กนง.ไม่ได้มีระดับดอกเบี้ยว่าควรไปที่เท่าไหร่ ไม่งั้นจะเป็นการผูกมัด และจะสร้าง uncertainty ได้” นายปิติ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความผันผวนและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น การดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง จำเป็นต้องมองทะลุความไม่แน่นอน และแรงกระแทกระยะสั้น และควรมองภาพ ระยะปานกลาง พยายามไม่เพิ่มความ ไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงิน เพิ่มขึ้นไปอีก จากความไม่แน่นอนที่มีอยู่แล้ว

          นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงิน จำเป็นต้องยืดหยุ่น และพร้อมปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยนโยบายการเงินต้องมุ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และไม่ไปเสริมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เพราะเราไม่ได้ต้องการให้เศรษฐกิจ ชะลอตัว ต่างกับสหรัฐ เพราะเงินเฟ้อไทยมาจากอุปทาน ไม่ได้มาจากอุปสงค์ และระดับเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 และยังห่างกับระดับศักยภาพมาก ทำให้การถอนคันเร่งต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

          ส่วนทุนสำรองของไทยที่ลดลง หลักๆ มาจาก การตีราคา จากสินทรัพย์ในทุนสำรอง เมื่อเทียบกับดอลลาร์ มีค่าลดลง จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เป็นหลัก อีกส่วนมาจาก การเข้าไปดูแลเงินบาท ช่วงที่มีความผันผวนผิดปกติ

          คาดเงินเฟ้อทยอยลดตามราคาน้ำมัน
          นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธปท. กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจไทย ภายใต้การขยายตัวปีนี้ที่ 3.3% และปีหน้าที่ 3.8% มาจากการบริโภคเอกชนเป็นสำคัญ รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยการท่องเที่ยวคาดว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวจะเกินระดับ 9 ล้านคน และปีหน้าจะมีจำนวนราว  21 ล้านคน อีกทั้งมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะดีกว่าที่ธปท.คาด จากเดิมที่คาดนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาปลายไตรมาส4 แต่หากมาเร็วกว่าคาดก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย

          ส่วนปัจจัยเงินเฟ้อ มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ และคาดทยอยลดลง จากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ตัวที่ปรับเพิ่ม คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่เห็นการส่งผ่าน ต้นทุนมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะส่งผ่านไปสู่อาหารสด จึงทำให้ ธปท. ปรับประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% และ 2.4% ทั้งปีนี้และปีหน้า

          อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังไม่เห็นสัญญาณของ Demand pull inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการสินค้า และเศรษฐกิจไทยยังไม่ตึงตัวเป็นวงกว้าง แม้จะเริ่มฟื้นตัว

          สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การตึงตัวของตลาดแรงงานบาง เซกเตอร์ในระยะข้างหน้า และเงินเฟ้อที่อาจต่ำกว่าฐานได้ จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ที่อาจกระทบต่อราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และกระทบเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าด้วย

          อุ่นใจเงินเฟ้อเริ่มทรงตัว
          ด้าน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงินธปท. กล่าวว่า โจทย์ในการดำเนินนโยบายการเงิน คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไม่สะดุด หลักๆ มีสองประเด็นคือ เงินเฟ้อ และเงินบาท

          โดยเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศมาเดือนล่าสุด เริ่มทรงตัวหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า ถือว่าเป็นระดับที่อุ่นใจว่า แรงกดดันเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจไม่ได้สูงต่อเนื่อง อีกทั้งการดำเนินนโยบายการเงิน กนง.ค่อนข้างระมัดระวังในการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะข้างหน้า ไม่ได้ อินไลน์ไปกับสถิติเพียงอย่างเดียว เพราะรู้ว่าบริบทปัจจุบันมีหลาย Shock ที่กระทบเงินเฟ้อ

          อีกทั้งปัจจุบัน หากดูการส่งผ่านต้นทุนไปสู่การตั้งราคาที่สูงขึ้นของ ผู้ประกอบการ ในวันนี้ยังเป็นการส่งผ่านปกติ ไม่ได้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังไม่เห็น และเงินเฟ้อคาดการณ์ Inflation expectations ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้แรงกดดันเงินเฟ้อกำลังมาจากอุปสงค์ที่จากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่มากนัก

          “เรายังมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย 10 ปีข้างหน้า ที่ 2.3% และจากการเซอร์เวอร์ของนักวิเคราะห์ในช่วงปีที่ 6-10 ก็คาดว่า เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.4% ซึ่งยังยึดอยู่ในกรอบเป้าหมาย เช่นเดียวกับเงินเฟ้อของผู้ประกอบการ และครัวเรือนที่มีสัญญาณปรับลงด้วยซ้ำ ดังนั้นเงินเฟ้อก็น่าจะปรับลงได้ในระยะถัดไป” นายสุรัช กล่าว

          ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีการอ่อนค่าเร็วขึ้น ในช่วงประชุม กนง. และหลังประชุม กนง. ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าแล้ว 12-13% หลักๆ มาจาก ดอลลาร์ที่แข็งค่า ปัจจุบันที่ 18% ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทถือว่าสอดคล้องกับภูมิภาคโดยเฉพาะหากดูด้านดัชนี เงินบาท (NEER) ที่พบว่าอ่อนค่าเพียง 1% สะท้อนว่าการอ่อนค่าไม่ได้เป็นสิ่ง ผิดปกติ และการอ่อนค่าไม่ได้เกิดที่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลกทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่

          ย้ำพร้อมดูแลเงินบาทหากผันผวนแรง
          แต่อย่างไรก็ตาม หากอัตราแลกเปลี่ยน เคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ธปท.ก็มีความสามารถเข้าไปดูแลผ่านทุนสำรองที่อยู่ระดับสูง โดยเฉพาะเวลาที่เงินบาทผันผวนผิดปกติ

          ดังนั้นโดยรวม การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ยังคง Normalization Policy แบบค่อยเป็นค่อยไป และพร้อมปรับ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินหากสูงกว่าคาดในระยะข้างหน้า กนง.ก็สามารถปรับดอกเบี้ยขึ้นมากกว่า 0.25%ได้ ทางกลับกัน หากมีความเสี่ยงเศรษฐกิจสูงขึ้น หรืออาจชะลอตัว ทำให้ต้องหยุด การขึ้นดอกเบี้ย หรือชะลอดูความชัดเจน ก็สามารถทำได้

         

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย