ตลาดค้าวัสดุคึก เปิดหน้าดินลุย 2โปรเจ็กต์อีอีซี

17 ส.ค. 2565 577 0

 

          ตอกเสาเข็ม ปลายปีนี้

          วงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ค้าวัสดุ แรงงาน ตื่นรับ 2 เมกะโปรเจ็กต์ยักษ์อีอีซี “ไฮสปีด-เมืองการบินอู่ตะเภา"ตอกเข็มปลายปี2565หลัง สกพอ.เร่งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผน 4 ปี

          4 ปีกับการขับเคลื่อน 2 เมกะโปรเจ็กต์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิอู่ตะเภา) และ เมืองการบินอู่ตะเภา ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม เจรจาเกิดผลสำเร็จ สามารถลงมือก่อสร้างได้ตามแผนปลายปีนี้หลังจากลงนามแก้ไขในสัญญา ซึ่งปลุกการลงทุนในพื้นที่ กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อิฐหินปูน ทราย รับเหมา แรงงาน

          วัสดุก่อสร้างสะพัดหมื่นล้าน

          แหล่งข่าวจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หนึ่งในพันธมิตร ร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน กับ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้ลงเข้าปรับพื้นที่และก่อสร้างฐานราก เบื้องต้นมาก่อนหน้านี้ เพราะสามารถทำได้ก่อนขณะการก่อสร้างตัวสถานี สะพานโครงสร้างหลักทางวิ่ง ระบบราง จะต้องรอการลงนามในสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนผู้รับสัมปทานอย่างเป็นทางการคาดว่าการก่อสร้าง เริ่มได้จริงไม่เกินเดือนพฤศจิกายน นี้

          ยอมรับว่า การใช้วัสดุก่อสร้างโครงการไฮสปีดฯ ต้องใช้ในปริมาณสูง และต้องมีเพียงพอตลอดการดำเนินโครงการ ซึ่งประมาณการ ต้องใช้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงสร้างหลัก ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการติดต่อซื้อสินค้า โดยเฉพาะปูนซิเมนต์ ของปูนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อกับกลุ่ม เอสซีจี แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการขาดแคลนวัสดุทำให้ บริษัทได้ เจรจากับผู้ผลิตปูนในทุกค่าย ไว้ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังมี อิฐ เหล็กเส้น ขณะทรายได้ซื้อต่อจากบริษัทรับเหมารายย่อยในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมองว่าหาง่ายมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด จากผลกระทบราคาน้ำมันและค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหิน ได้ซื้อจากบริษัทในเครือของ ITD เอง เนื่องจากมีโรงโม่หินเป็นของตนเอง ส่วนโครงงานซึ่งเป็นอุปกรณ์เทปูนหล่อ ลงบนเสาตอม่อสำหรับก่อสร้างสะพานทางวิ่งของไฮสปีด บริษัทมีอุปกรณ์ในมืออยู่แล้วสามารถช่วยลดต้นทุนลงได้โดยไม่ต้องซื้อหรือสร้างใหม่ โดยเก็บจากโครงการที่เคยก่อสร้างในโครงการลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่นงานก่อสร้างสะพาน ทางพิเศษ โครงสร้างรถไฟฟ้า

          ต้นทุนพุ่ง-ผวาขาดแคลน

          เพื่อป้องกันวัสดุก่อสร้างขาดแคลน โดยเฉพาะเหล็กทุกประเภท เบื้องต้นบริษัทได้มีการสั่งของไว้แล้วโดยในส่วนของเหล็กเส้นมากกว่า 100 ตัน เช่นเดียวกับปูนซิเมนต์ ได้กว้านซื้อทุกค่ายในประเทศไทย เพื่อป้องกัน การขาดแคลน ทั้งปูนผง ปูนผสมเสร็จ ฯลฯ

          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากความผันผวนของต้นทุนเหล็กเมื่อปลายปีที่ผ่านมาประกอบกับการซ้ำเติมจากสงครามรัสเซียและยูเครนยาวนาน เกือบทั้งปีในปี 2565 ค่าเงินเฟ้อ เป็นเหตุให้ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับตัวสูงต่อเนื่อง และอาจขาดแคลนได้ ซึ่งวัสดุก่อสร้างทุกประเภทไม่เว้นแม้แต่ หิน ทราย ยังปรับตัวขึ้นมากกว่า 10%

          แรงงานจ่ายเกิน 300 บาท

          นอกจากนี้ยังจะมีการปรับขึ้นของค่าแรงอีกทั้งดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามมองว่าไม่กระทบมากนัก เพราะแรงงานที่ใช้ส่วนใหญ่บริษัทจะจ่ายสูงกว่า 300 บาท ซึ่งหมายถึงแรงงานต่างด้าว อาทิเมียนมา

          สำหรับแรงงานบริษัทมีพร้อมที่ติดตามกันมาหลังจากจบแต่ละโปรเจ็กต์ต่างได้เข้ามาสมัครเพื่อร่วมก่อสร้างในโครงการไฮสปีด โดยล่าสุดมีอยู่ในมือกว่า 1,000 ราย และจะรับสมัครแรงงานก่อสร้างอีกจำนวนมาก ซึ่งมองว่าหากโครงการเริ่มก่อสร้างจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจ้างงานในระบบรถไฟความเร็วสูงที่สำคัญเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เข้ามาในพื้นที่

          แบ่งสร้าง 8 ส่วนไฮสปีด

          สำหรับโครงการก่อสร้างไฮสปีดฯมีทั้งหมด 8 ส่วนด้วยกันทั้งฐานราก ตอม่อ ทางวิ่ง สถานี อาคาร ฯลฯซึ่งมีความพร้อม อย่างไรก็ตาม ITD จะก่อสร้างในส่วนตั้งแต่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภา แต่ทั้งนี้อาจมีผู้รับเหมารายอื่นร่วมก่อสร้างในแต่ละช่วงด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้รับเหมาช่วงรายเล็ก ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่เข้าร่วมโครงการในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าต้องแล้วเสร็จทันตามกำหนดภายใน 3 ปี คือปลายปี 2568 และเปิดให้บริการต้นปี 2569

          2 โปรเจ็กต์ใช้วัสดุอื้อ

          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่านอกจาก โครงการไฮสปีดเชื่อม3สนามบินแล้ว ยังมีโครงการขนาดใหญ่เมืองการบินอู่ตะเภาที่ต้องใช้วัสดุก่อสร้างแรงงานสูงไม่แพ้กันมองว่าทั้งสองโครงการรวมกันเม็ดเงินน่าจะสะพัด หมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาท

          ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ลงมือก่อสร้าง และรองรับนักท่องเที่ยวนักลงทุนเดินทางเข้าพื้นที่อีอีซี ที่ผ่านมาติดปัญหาการระบาดโควิด ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลง จึงไม่น่ามีปัญหาอะไรต้องกังวล ส่วนการก่อสร้างเริ่มได้ปลายปีนี้ ซึ่งบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นเป็นผู้ลงมือก่อสร้าง คาดว่าการใช้แรงงานและวัสดุก่อสร้างค่อนข้างมาก

          สมาคมอุตฯมองเป็นเรื่องดี

          นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สะท้อนว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สองโครงการขนาดใหญ่ในอีอีซีมีการก่อสร้าง ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพื้นที่ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าทั้งสองโครงการย่อมใช้วัสดุก่อสร้างค่อนข้างมาก แต่มองว่าราคาวัสดุในปัจจุบันมีต้นทุนสูงขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับช่วงที่ชนะประมูลโครงการเป็นเหตุให้ต้องแบกภาระเพิ่มตามมา

          สกพอ.ฉายภาพสำเร็จ 4 ปี

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2565 (วันที่ 15 ส.ค. 2565) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้รับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของอีอีซี ในช่วง 4 ปีแรก (2561-2565) เกิดความสำเร็จและการเกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ ผลประโยชน์ตรงถึงประชาชน ขณะเดียวกันโครงพื้นฐาน 4 โครงการหลัก ทั้งไฮสปีดฯ เมืองการบิน ท่าเรือฯลฯเข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปีนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2568-2569 ซึ่งจะทำให้ อีอีซีก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 2569 เป็นต้นไป

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย