บาทดิ่ง หวั่นเศรษฐกิจถดถอย

08 ก.ค. 2565 696 0

ค่าเงินทะลุ 36 บาท ทำสถิติ 6 ปี - ‘คลัง’ กำชับ ธปท.จับตาใกล้ชิด

          “ผู้ส่งออก” ชี้ผันผวนแรง แนะดูแลให้มีเสถียรภาพ

          ทั่วโลกกังวลภาวะเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย “หุ้น-น้ำมัน-ทอง” กอดคอ ดิ่งเหวเซ่นแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย ค่าเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 6 ปี “อาคม” ระบุเกิดจากดอลลาร์-หยวนแข็งค่า  ยืนยัน ธปท.ดูแลอย่างใกล้ชิด “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” ชี้ไตรมาส 3 บาทอ่อนค่าต่อ “ผู้ส่งออก“ชี้ผันผวนแรงทำการค้าลำบาก กระทบกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แนะแบงก์ชาติ ดูแลให้มีเสถียรภาพ

          เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว หลังจากมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพิ่มมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีความเสี่ยง ที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation และเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งทำให้เงินไหลเข้าสหรัฐและเงินดอลลาร์แข็งค่า

          ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยเงินบาท ปิดตลาด วานนี้ (6 ก.ค.) อ่อนค่าสุดในรอบ กว่า 6 ปีที่ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ เหตุตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอย หนุนดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และโฟลว์ซื้อเก็งกำไรทองคำ ยังเตือน ระยะสั้นยังเห็นบาทยังผันผวนอ่อนค่าแตะ36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากจีนกลับมา ล็อกดาวน์-การระบาดระลอกใหม่ในไทย กดดันท่องที่ยว-แรงขายหุ้นตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แต่ยังคงมุมมองเปิดประเทศฟื้น ท่องเที่ยว หนุนเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ ช่วงปลายปี

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลงว่า มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจภายนอก อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินหยวนก็เริ่มแข็งขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้มีการไหลออกของเงินทุนบ้าง

          ทั้งนี้ ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนในตลาดตราสารหนี้ไทย ก็มีผลกระทบเล็กน้อย แต่นักลงทุนจาก ต่างประเทศก็ยังคงให้เชื่อมั่นกับตราสาร ที่ออกโดยประเทศไทยอยู่ ขณะที่ตลาดทุน ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดทั่วโลก

          ส่วนทิศทางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงถึง 7.66% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปีนั้น นายอาคม กล่าวว่า หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยยังถือว่า เป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งในเรื่องนี้ ทางรัฐบาลยังมีมาตรการออกมาดูแลเฉพาะกลุ่ม ทั้งเรื่องราคาสินค้าและพลังงาน

          คาดเงินบาทอ่อนค่าต่อ

          นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวถึง สถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยในเดือนนี้คาดเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% และเดือน ก.ย.ขึ้นอีก 0.50% ส่งผลให้สิ้นปี ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะอยู่ที่ 2.75% ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญให้ค่าเงินดอลลาร์ แข็งค่ากระทบต่อเงินบาทให้อ่อนค่าลงต่อได้

          แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า เงินบาท จะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.00-34.00 บาทในปลายปี จากภาคเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัว จากภาคท่องเที่ยว ที่คาดเพิ่มสูงขึ้นไปสู่ระดับ 1.0-1.5 ล้านคน จะยิ่งเป็นตัวหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้

          ดังนั้นประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นจุด Trigger point หรือจุดเปลี่ยนของ ภาพเศรษฐกิจไทยได้ เพราะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเร็วมากกว่าคาด สู่ระดับ 5-10 ล้านคน ปีนี้ จากประมาณการณ์เดิมที่ 4-5 ล้านคน อาจเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจไทย ให้ปรับตัวดีขึ้นกว่าระดับ 3.3% ได้ในปีนี้ ดังนั้น ในไตรมาส 4 ปีนี้ อาจเห็นการรีวิวภาพเศรษฐกิจไทย ปรับเพิ่มขึ้นได้

          ส่วนประเด็นเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2565 ที่ออกมา 7.6% เดือน มิ.ย.ที่ออกมา ถือว่าสูงกว่าที่ธนาคารคาด และมากกว่าที่ตลาดการณ์ และมองไปข้างหน้า ยังไม่เห็นสัญญาณของเงินเฟ้อที่ลดลงได้ แม้หลายสำนักมองว่าเงินเฟ้อจะถึงจุดพีคได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าเงินเฟ้อ จะลงได้จากปัจจัยของราคาอาหาร ราคาน้ำมัน และค่าไฟ เงินบาทที่อ่อนค่า การนำเข้าที่สูงขึ้น เหล่านี้ยังเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น

          ห่วงเงินเฟ้อพีคไตรมาส 4  นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยพิเศษจากฐาน ที่ต่ำกว่าปีก่อน ดังนั้นอาจเป็นตัวหนุนให้เงินเฟ้อ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอีก   ดังนั้นประเมินว่า แม้เงินเฟ้อจะมีจุดพีคในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ก็มีโอกาส ที่จะเห็นเงินเฟ้อยืนระดับสูงต่อเนื่อง หรือ อาจเห็นจุดพีคเปลี่ยนไปเป็นไตรมาส 4 ปีนี้ได้ หากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนรุนแรง กระทบราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูง เหล่านี้ อาจเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นได้ต่อ

          ซึ่งทั้งปีพบว่าเงินเฟ้อมีโอกาสสูงกว่า ระดับ 6% จากเดิมที่ประมาณการณ์ได้ และหากมองระยะข้างหน้าเงินเฟ้อยังคงทรงตัวระดับสูง โดยเฉพาะปี 2566 ที่คาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 3% ดังนั้นภายใต้เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ประเมินว่าจะยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในการประชุมครั้งละ 0.25% โดยขึ้นครั้งแรกใน ส.ค.ปีนี้ ทำให้สิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปสู่ระดับ 1.25% จากปัจจุบันที่ 0.50%

          ทั้งนี้ ประเมินว่า จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยมีต่อเนื่องไปถึงปี 2567 โดยขึ้นทั้งปี 2565 ที่ 3 ครั้ง และคาดว่า จะขึ้นอีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง 2566 และขึ้นอีกครั้งสิ้นปี 2567 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ซึ่งมากกว่าดอกเบี้ยนโยบายก่อนเกิดโควิด-19 ที่เงินดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่ยังมองว่าจะทรงตัวระดับสูงต่อเนื่องตลอดทั้ง 3 ปีนี้

          ค่าเงินผันผวนทำการค้าลำบาก

          นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน กรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออก ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเริ่มต้นที่สหรัฐ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงส่งผลกระทบ ต่อกำลังซื้อในแต่ละประเทศจึงทำให้กังวลความต้องการสินค้าชะลอตัวลง

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสหรัฐมีปัญหาเงินเฟ้อและมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไป 0.75% และจะมีการปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง จึงจะทำให้เงินไหลเข้าสหรัฐ โดยจากจากเดิมที่เงินไหลออกจากสหรัฐและทำให้ค่าเงินหลายประเทศแข็งค่า แต่ขณะนี้เงินไหลเข้าสหรัฐและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

          รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ถือว่ามีความผันผวนมาก ถึงแม้การอ่อนค่าจะมีผลดีต่อการส่งออก แต่สินค้าหลายกลุ่ม ที่มีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบสูงจะได้รับผลกระทบ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ส่งออกกลุ่มดังกล่าวจะกำหนดราคาคำสั่งซื้อได้ยากจากสถานการณ์ค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่าที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าแพงขึ้น

          ส่วนผู้ส่งออกอาหารแปรรูปมีต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า 30% เช่น เหล็กผลิตกระป๋อง ซึ่งต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน

          แนะดูแลค่าเงินให้เสถียรภาพ

          นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภา ผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกต้องเร่งส่งออกสินค้าให้เร็วในช่วงนี้ ในทางกลับกันค่าเงินบาท ที่อ่อนค่ามากจะกระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศ เพราะต้นทุนของสินค้าก็มีความเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เพราะไทยจะซื้อ น้ำมันแพงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

          อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ในขณะนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ขณะที่ผู้ส่งออกต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต้องประเมินความเสี่ยงของค่าเงินไว้ด้วย โดยเห็นว่า ค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ในระดับ 33-35 บาท ต่อดอลลาร์ซึ่งจะดีต่อการส่งออก

          “แม้ว่าค่าเงินบาทอ่อนค่ามากจะเป็นผลดี ต่อการส่งออกในทางกลับกันก็ไม่ส่งผลดี ต่อการนำเข้า เพราะเราต้องซื้อวัตถุดิบ ที่แพงขึ้น ดังนั้นควรต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนเกินไปหรือมีความผันผวนสูง” นายชัยชาญ กล่าว

          “หุ้น ทอง น้ำมัน” ดิ่งทั้งโลก

          ขณะที่ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกทั้งหุ้น น้ำมัน และทองคำ ต่างทรุดตัวลง วานนี้ (5 ก.ค.) ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

          ภาพรวมตลาดหุ้น ตลาดทุน และตลาดน้ำมันเมื่อวันอังคาร (5 ก.ค.) เป็นไปในทิศทางลบ ดัชนีดาวโจนส์ เปิดการซื้อขายทรุดตัวลง 700 จุด หรือ 2.25% ก่อนจะรีบาวด์และร่วงลง 129.44 จุด หรือ 0.42% ปิดที่ 30,967.82 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ตอนเริ่มเปิดตลาด ดิ่งลง 2% แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.06 จุด หรือ 0.16% ปิดที่ 3,831.39 จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 1% ก่อนจะดีดตัวขึ้น 194.39 จุด หรือ 1.75% ปิดที่ 11,322.24 จุด

          ทั้งนี้ หุ้นทุกกลุ่มในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่างปรับตัวลง นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานตามการดิ่งลงของ ราคาน้ำมัน ในตลาดโลก

          ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า เวสต์เท็กซัสดิ่งลงกว่า 8% หลุดระดับ บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 9.50% หลุดระดับบาร์เรลละ 103 ดอลลาร์

          ด้านซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะทรุดตัวลงแตะระดับ 65 ดอลลาร์ ปลายปี 2565 หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าภาวะถดถอย

          ส่วนราคาทองฟิวเจอร์ดิ่งลง 30 ดอลลาร์ หลุดระดับ 1,770 ดอลลาร์ เมื่อวันอังคาร ถึงแม้ราคาทองถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยช่วงตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

          เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแล้ว

          รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ก็บดบังปัจจัยบวกดังกล่าว เพราะการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส ในการถือครองทอง เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

          นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐเพิ่มมากขึ้น หลังจาก เฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจเข้าภาวะถดถอยแล้ว โดยเฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0%

          ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่า ไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย