ทุ่ม4แสนล. พยุงศก.ปลายปี

26 พ.ค. 2563 712 0

            จัดแผนใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท “สภาพัฒน์” ชี้มีเงินเข้าระบบพยุงเศรษฐกิจ ก.ค.-ต.ค.นี้ ย้ำชัดโครงการโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยันไม่มีตีเช็คเปล่าแน่ การันตีกฎหมายล็อกกรอบโครงการชัดเล็งถกส่วนราชการส่งโครงการภายใน 5 มิ.ย.นี้ เผยเตรียมผุด “ไทยเที่ยวไทย” จัดสารพัดแพ็กเกจ หวังกระตุ้นไตรมาสสาม ย้ำท่องเที่ยวเห็นผลชัดเจนสุด ขณะที่ “อุตตม” ตั้งทีมคลังลงพื้นที่ฟื้นฟูชาวบ้านหลังโควิด พร้อมเปิดสาขาแบงก์รัฐเป็นคลินิกแก้จนจ่ออัดฉีดมาตรการเศรษฐกิจ อีกชุดใหญ่ ภาษี-สินเชื่ออีก 2.3 แสนล้าน ฟุ้งโชว์มาตรการเยียวยาช่วยแล้ว 7.82 ล้านคน วงเงิน 3.8 ล้านล้าน

          เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงถึงกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตามพ.ร.ก.เงินกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการมารับทราบกรอบแนวทางการเสนอโครงการโดยยืนยันว่า ตามหลักเกณฑ์จะเน้นโครงการที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นเป็นหลักคาดว่าจะมีเงินลงไปยังระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ ซึ่งแต่ละโครงการต้องอยู่ภายใต้แผนงานหลัก 4 ข้อ คือ 1.กิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่น เกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

          นายทศพร กล่าวต่อว่า 2.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกรอบวงเงินทั้ง 4 แสนล้านบาท จะอยู่ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เช่น เกษตรพอเพียง เกษตรผสมผสาน สินค้าโอทอป และท่องเที่ยวชุมชน 3.ต้องส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และ 4.ต้องสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิตแต่ไม่ใช่ทำโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาทำโครงการหลายปี โดย แนวความคิดนี้จะชัดเจนขึ้นผ่านโครงการต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานที่ต้องไปจัดทำภายในเวลา 2 สัปดาห์หรือภายในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งต้องนำเสนอให้ สศช.ในฐานะอนุกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 22 มิ.ย. ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองชุดใหญ่พิจารณาภายในวันที่ 2 ก.ค. จากนั้นจึงรวบรวมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้

          นายทศพร กล่าวอีกว่า ในโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงต่อจากนี้แนวทางที่ได้ผลดีที่สุด คือการกระตุ้นผ่านการท่องเที่ยว โดยจัดทำโครงการไทยเที่ยวไทยซึ่งจะเน้นไปในพื้นที่อันซีน โดยใช้กลไกด้านงบประมาณและด้านภาษีไปช่วยเพื่อสร้างการบริโภคในประเทศ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่า ในไตรมาสที่ 3หากมีการคลายล็อกให้คนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้จะมีมาตรการออกมากระตุ้น เช่น การลดราคาโรงแรมที่พักลงครึ่งหนึ่ง และรัฐ จะจัดเงินลงไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ หรือข้อเสนอของเอกชนที่ต้องการให้ต่ออายุโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” หรือ “ชิมช้อปใช้” คงต้องดูที่ความเหมาะสมอีกครั้ง

          เลขาฯ สศช.กล่าวด้วยว่า การกู้เงินมาทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจก้อนนี้จะไม่เป็นการตีเช็คเปล่าแน่แม้จะยังไม่มีโครงการใดเสนอเข้ามาให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณาก็ตาม ล่าสุดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขอใช้เงินกู้เพิ่งจัดทำเสร็จ และเพิ่งเสนอให้ ครม.เห็นชอบพร้อมกับชี้แจงให้หัวหน้าส่วนราชการรับทราบและทำความเข้าใจ โดยจะดำเนินการอย่างมีขั้นตอนและชัดเจนเพราะตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. กระทรวงการคลังกำหนดรายละเอียดเอาไว้อย่างรัดกุม มีการวางแนวทางเอาไว้แล้วว่าเงินกู้ก้อนนี้จะใช้ทำโครงการอะไรบ้างซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก โดยจะพิจารณาเลือกโครงการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์จริง ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะใช้เงินให้หมดทั้ง 4 แสนล้านบาท

          “ส่วนกรณีนี้จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมา ธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบกระบวนการการเงินกู้ตามข้อเสนอของฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ยอมรับว่าถือว่าเป็นประโยชน์และถือเป็นความรอบคอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบขั้นตอนการใช้เงินให้เกิดความโปร่งใสสามารถนำความเห็นต่าง ๆ มาปรับแต่งโครงการให้มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ ขณะที่ สศช.ก็มีระบบการตรวจสอบผ่านคณะอนุติดตามประเมินผล มีระบบดิจิทัล มีผู้ตรวจราชการ ที่สำคัญระหว่างการดำเนินโครงการจะมีการจ้างผู้ตกงานหรือบัณฑิตจบใหม่มาเป็นผู้ช่วยประเมินโครงการด้วย"นายทศพร กล่าว

          ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด“โควิด-19” ว่า ได้สั่งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินรัฐจัดตั้ง“ทีมเราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่ไปสำรวจความเดือดร้อน และจะ เร่งฟื้นฟูอาชีพให้กับประชาชนหลังจากผ่านมาตรการเยียวยาเบื้องต้น เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจะเปิดสาขาธนาคารรัฐให้เป็นคลินิกคลังสมอง หมอคลัง ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และธนาคารกรุงไทย เพื่อรับปรึกษาร้องทุกข์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านอาชีพ บริการทางการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็ว

          นายอุตตม กล่าวต่อว่า ทั้งทางกระทรวงการคลังกำลังจัดทำมาตรการทางภาษีและมาตรการทางการเงิน สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกแพ็กเกจใหญ่ โดยเบื้องต้นให้ธนาคารรัฐเตรียมวงเงินไว้ปล่อยกู้เพิ่มเติมอีก 2.3 แสนล้านบาท เพื่อใช้สร้างอาชีพให้เงินหมุนเวียนแก่ประชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เช่น ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้สินเชื่อให้ภาคเกษตรอีก 1.7 แสนล้านบาท ออมสินช่วยประชาชน 40,000 ล้านบาท และขยายพักหนี้อีก 2 ปี รวมถึงธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอีกมากกว่า 1 ล้านราย

          “นอกจากนี้ยังได้จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com เพื่อเผยแพร่มาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงเร่งสร้างตลาดใหม่ ปรับปรุงตลาดเก่าให้เป็นตลาดปลอดเชื้อ รวมถึงเพิ่มช่องทางซื้อขายออนไลน์ให้พ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่ และมีนโยบายจัดกิจกรรมสัญจรเยี่ยมเยียนประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจจากชนบทสู่เมือง ส่วนการดำเนินมาตรการเยียวยาโควิด-19 ของกระทรวงการคลังช่วงที่ผ่านมา ได้ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านธนาคารรัฐไปแล้วมากกว่า 7.82 ล้านคน วงเงิน 3.86 ล้านล้านบาท และยังมีมาตรการภาษี ให้เลื่อนการชำระ และเร่งคืนภาษีกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท” รมว.คลังกล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย