ธุรกิจรับสร้างบ้านซินเนอร์จี อสังหาฯต่อจิ๊กซอว์พัฒนาโครงการ แก้ปมจัดสรรแรงงานขาด

11 เม.ย. 2565 202 0

           อสังหาริมทรัพย์

          ธุรกิจรับสร้างบ้าน หนึ่งในเซกเตอร์ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลพวงจากเรื่องสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านค่าพลังงานของประเทศไทย ต้องขยับขึ้นติดต่อในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่แพงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ราคาเหล็กไปแล้ว 50% สินค้ากลุ่มกระเบื้อง ก็เริ่มจะส่งผลกระทบต่อตลาด เพราะมี “ผู้ผลิต” รายใหญ่ มีการหยุดไลน์การผลิตสินค้าลง เนื่องจากยอดขายลดลง จากความต้องการซื้อที่ยังไม่พลิกฟื้นมากเท่าที่ควร

          ...นี้ คือ วังวน ที่ธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงต้องรับมือและบริหารจัดการธุรกิจให้รอดไปอีกปี! ซึ่งมีสภาพ ไม่ต่างกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยิ่งบริษัทรับ สร้างบ้านขนาดกลางและเล็ก หาก Scale ของธุรกิจ ไม่ใหญ่ด้วยแล้ว อำนาจในการต่อรองกับซัปพลายเออร์ หรือ กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ประตูก็จะอาจจะ “แคบลง“อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรับสร้างบ้าน กับการ หลุดกรอบของธุรกิจหลักนั้น แม้จะไม่ค่อยได้เห็น แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถ เพียงแต่วิธีการและรูปแบบการออกไปสู่ธุรกิจอื่นๆ แบบเต็มตัว คงมีไม่กี่ราย!

          บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด เป็นอีกตัวอย่างของ ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่แตกไลน์ไปสู่ตลาดใหม่ โดยได้เปิดตัวบริษัทย่อยในนาม บริษัท รอแยลเฮ้าส์อีเลฟเว่น จำกัด เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจพัฒนาจัดสรรที่ดิน โครงการแรกที่ได้เปิดตัว คือ คอนโดมิเนียม “โคคูน พระราม 9” มูลค่าโครงการ 305 ล้านบาทซึ่งแม้จะเป็นโครงการแรกในธุรกิจอสังหาฯของเจเนอเรชันที่ 3 แต่หากย้อนไปแล้ว ครอบครัวตระกูลโควิสุทธิ์ ค่อนข้างชื่นชอบในการลงทุนและซื้อที่ดินเก็บไว้ และมีการพัฒนาโครงการอสังหาฯมาก่อนหน้านี้

          นายวรวุฒิ กาญจนกูล ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด กล่าวในฐานะนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาสแรกปี 65 ที่ผ่านมาแล้วว่า ตลาดรับสร้างบ้าน ยังทรงตัวอยู่ ไม่ถึงกับลดลงไป แต่เราก็มาเจอสถานการณ์ที่หนักเลย คือ เรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายๆอย่างเกิดความผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องราคาวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น ราคาเหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้างในช่วงนี้มีการปรับราคาหลายระลอก และคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ ปูนผสมเสร็จจะขึ้นอีกครั้ง คิวละ 70-100 บาททำให้วัสดุก่อสร้างประเภทอื่นๆ ที่ต้องมีส่วนผสมจากปูนต้องพาเหรดขึ้นอีกรอบ เช่น เสาเข็ม ผนังเทียม ไม้เทียมเป็นต้น

          “เราคิดว่า ตลาดต่ำกว่า 5 ล้านบาทในกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจจะเป็นกลุ่มที่มีความกังวลต่อสถานการณ์อาจชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน ส่วนตลาดต่างจังหวัดเช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ มีการเจริญเติบโต แทนที่จะจ้างผู้รับเหมา ก็มาจ้างบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น ส่วนกลุ่มบ้านแพง ซึ่งมีกำลังซื้อ ก็ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อล็อก ต้นทุนจากที่มีสัญญาณในไตรมาส 2 ราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาบ้านต้นทุนใหม่จะปรับขึ้นร้อยละ 5-8 ซึ่งในความเป็นจริง ต้นทุนของรับสร้างบ้านขึ้นไปจริงๆ ในภาพรวมกว่าร้อยละ 10 แม้แต่ภาคอสังหาฯก็ได้รับผลกระทบ”

          อย่างไรก็ดี รับสร้างบ้านกำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยมีบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ 2-3 รายเริ่มกลับมาคุยกับบริษัทรับสร้างบ้าน ในประเด็นที่อยากจะได้ทีมงานมา สร้างบ้านให้กับโครงการจัดสรร สร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะสามารถผลิตได้ตามที่ต้องการ ภายใต้ต้นทุนที่อาจจะแพงขึ้น เนื่องจากในอดีต บริษัทพัฒนาอสังหาฯจะจ้างแรงงานในราคาที่ไม่สูง แต่ในปัจจุบัน ค่าแรงสูงขึ้น ต้นทุนวัสดุก่อสร้างแพง การจะทำราคาต่อตารางเมตร (ตร.ม.) เหมือนในช่วงที่ผ่านมา ทำไม่ได้ ดังนั้น บริษัทอสังหาฯกำลังพิจารณาบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านไปร่วมงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา โควิดทำให้ผู้รับเหมาล้มหายไปเป็นจำนวนมาก แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถกลับมาได้ นี้จึงเป็น สเต็ปของการทำธุรกิจที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไป แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้

          “ของผม คือ บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด มีไปสร้างบ้านให้กับทางโครงการที่พัทยา ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงที่เขาใหญ่ ลูกค้าที่ซื้อที่ดินกับทางโครงการ ก็สามารถสร้างบ้านตามแบบบ้านของบริษัทฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ที่ตรงกับทางโครงการ ส่วนนี้จะทำให้เจ้าของโครงการ ไม่มีภาระเรื่องสถาปนิกผู้ออกแบบ ไม่ต้องมีผู้รับเหมา ต้นทุนก็ลดไป ซึ่งผลักดันให้เกิดแนวธุรกิจใหม่ การประสานความร่วมมือ เกิดประโยชน์ร่วมกัน เป็นเอสเคิร์ฟตัวใหม่ได้” นายวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย .

          ‘พีดีเฮ้าส์’ ชู ‘วิสัยทัศน์’ คีย์ซัคเซส ฝ่าวิกฤต ลุยโกยยอดขายสวนโควิด-สงครามยูเครน

          เริ่มต้นเปิดศักราชใหม่ปี 2565 บรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน ต่างมั่นอกมั่นใจและคาดการณ์ว่ามูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านจะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา แต่ผ่านไปเพียงแค่ไตรมาสแรกหรือย่างก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 เท่านั้น กลับพบว่า ความมั่นใจก็เริ่มเปลี่ยนเป็นความหวาดผวา เมื่อธุรกิจรับสร้างบ้าน ต้องเผชิญกับวิกฤตและผลกระทบจากปัจจัยลบหลายๆ ด้านที่คาดไม่ถึง ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนปัญหาขาดแคลนแรงงาน ราคาน้ำมันและต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศและกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหดตัว

          ดังนั้น บรรดาผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งรายเก่ารายใหม่ จึงต้องหันมาหาทางแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่ได้รับกันชุลมุน รวมถึงเร่งปรับตัวและหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านมานาน

          นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า ประสบการณ์ 30 ปีเศษที่ผ่านมา สำหรับพีดีเฮ้าส์แล้วเคยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบที่ได้รับมาหลายครั้งหลายคราว

          ตัวอย่างเช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2534 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 อุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2538 ฯลฯ และวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และถือได้ว่าหนักที่สุดสำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านและภาคธุรกิจอื่นๆ ขณะนั้นมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านแข่งขันกันเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนกว่า 200 ราย ซึ่งต้องล้มหายหรือเลิกกิจการและเหลืออยู่เพียงแค่ไม่ถึง 30 ราย

          และพีดีเฮ้าส์ เป็นรายหนึ่งที่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนั้นมาได้ กระทั่งนำมาสู่แนวคิดริเริ่มและการผลักดันของทีมผู้บริหาร ที่ชักชวนบรรดาผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ให้รวมตัวกันจนสำเร็จ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะยกระดับภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน สร้างการรับรู้ สู่ผู้บริโภคในวงกว้าง และสร้างการยอมรับของผู้ประกอบการในแวดวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมุ่งขยายตลาดรับสร้างบ้านออกไปยังต่างจังหวัดหรือทั่วประเทศ

          ด้วยเหตุผล เพราะไม่อยากเห็นธุรกิจรับสร้างบ้านและบรรดาผู้ประกอบการต้องล้มหาย หรือ เลิกกิจการเหมือนในอดีต หากต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ในอนาคต และด้วยแนวคิดที่ว่าตลาดรับสร้างบ้านหรือความต้องการสร้างบ้านบนที่ดินของผู้บริโภคและประชาชน มิใช่มีแค่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น

          “ที่ผ่านมา พีดีเฮ้าส์ เองได้พยายามแปรเปลี่ยนจากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายอื่นๆ ทั้งการพัฒนารูปแบบการจัดการธุรกิจ การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ การขยายสาขาและพื้นที่การให้บริการออกไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า ไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือมีรายได้เติบโตทุกสาขา แต่ สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากประสบการณ์ขยายสาขาหลายๆ พื้นที่หรือใน ต่างจังหวัดก็คือ การเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ และการกระจายความเสี่ยง ในอีกมุมหนึ่งก็ช่วยลดแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจถดถอยและกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว และกระทบกับภาพรวมตลาดรับสร้างบ้าน ซึ่งอันที่จริงแล้วกำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นไม่ได้เป็นไปทิศทางเดียวกันเสมอ หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่ได้ชะลอตัวหรือขยายตัวพร้อมๆ กันทั่วประเทศ อย่างเช่น บางช่วงเวลาความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคหรือยอดขายจากภูมิภาคหนึ่งลดลง ในขณะที่อีกภูมิภาคหนึ่งยอดขายกลับเติบโต เป็นต้น”

          นายพิศาล เผยว่าวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน สำหรับ พีดีเฮ้าส์ แล้วอาจถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ได้รับ และเชื่อมั่นว่าจะผ่านไปได้ไม่ยากนัก ด้วยอาศัยประสบการณ์ในอดีตที่สั่งสมมา และนำมาปรับใช้หรือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแนวคิดการสร้างโอกาส ใหม่ๆ และการกระจายความเสี่ยง อีกประการที่สำคัญคือ วิสัยทัศน์และมุมมองขององค์กรที่มีต่อทิศทางธุรกิจในอนาคตและพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเราจะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาและไม่หยุดนิ่งทั้งด้านผลิตภัณฑ์หรือการออกแบบและมาตรฐานก่อสร้าง การให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น

          รวมถึง ความน่าเชื่อถือขององค์กร ที่สามารถสัมผัสได้โดยตรง ภายใต้แบรนด์พีดีเฮ้าส์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานใดมารับรองแทน พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ทางการตลาด ให้มีความชัดเจนในสายตาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ในฐานะบริษัทรับสร้างบ้านประหยัดพลังงานและบ้านเพื่อสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาและปัจจุบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

          หากจะกล่าวว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจไม่มีผลกระทบใดๆ กับพีดีเฮ้าส์ ก็คงไม่ผิดเพราะจากตัวเลขยอดขายไตรมาสแรกที่เติบโตแล้ว แนวโน้มยอดขายในไตรมาส 2 ก็ดูจะยังเติบโตสวนทางเศรษฐกิจ และภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านที่คาดว่าจะชะลอตัว ดังจะเห็นว่า กลยุทธ์ที่พีดีเฮ้าส์นำมาใช้ในการปรับตัว เพื่อจะฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้รอดพ้นนั้น มิใช่เริ่มต้นคิดและลงมือทำเมื่อวิกฤตถาโถมเข้ามาแล้ว หากแต่เกิดจากวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล การเตรียมพร้อมบนความไม่ประมาทและปรับตัวอยู่เสมอ.

          ‘ศักดา โควิสุทธิ์’ แห่ง รอแยลเฮ้าส์ ยึด4หลักคิด ‘ขยัน-อดทน-ซื่อสัตย์-ประหยัด’

          วิกฤตการณ์ที่เกิดเคยขึ้นมา และกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คนรุ่นบุกเบิกในธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว มาหลายสังเวียน ย่อมมีหลักการคิด และเตรียมความพร้อมในการนำพาองค์กรให้อยู่รอดปลอดภัย บนความ “ไม่แน่นอน” และสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่!

          บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด หนึ่งในบริษัทรับสร้างบ้านที่ยังในปัจจุบัน ยังคงโลดเล่นอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน และเป็นอีกแบรนด์ ที่พยายามชูคอนเซ็ปต์ความต่าง ภายใต้สโลแกน “สร้างบ้านด้วย สมอง”

          นายศักดา โควิสุทธิ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด แม้จะได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่น 2 (คนรุ่นใหม่) ในการรันธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่เจ้าตัว ก็มาเป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำและกลั่นกรองความคิดของคนรุ่นใหม่

          โดยนายศักดา กล่าวว่าแม้ตนเองจะผ่านสนามมาเยอะ แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ พูดตรงไปตรงมา “ต้องเดากับเฮง“ที่ใช้คำนี้ ถ้าเราย้อนไปช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า โลกเปลี่ยนเร็วเพราะเทคโนโลยีมาเร็ว การสื่อสารมันเร็ว ความเร็วจะส่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น สมัยก่อนเทคโนโลยีช้า จะเดาหรือทำนาย ก็ถูก แต่เราดูปลายปี 64 บอกว่าจะดีขึ้น พอเข้าสู่เดือนมีนาคม 65 ประเทศรัสเซียบุก ยูเครน เพี้ยนไปหมดแล้ว  ข่าวสงครามมีความตื่นเต้นและเปลี่ยนแปลงเร็ว ตอนต้นๆ สถานการณ์ดูจะแย่ แต่วันนี้ น้ำมันลง เพราะอะไร เกิดจาก 1.ประเทศจีนปิดเมืองล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ดีมานด์หายไป 2.สถานการณ์สงครามยืดเยื้อนึกว่าจะกินหมู ก็ต้องมีการเจรจา น้ำมันก็จะถูกลง อันนี้ คือ 2 เด้ง นี้คือตัวอย่าง “เดาอย่างไรก็ไม่มีทางถูก ใครเดาถูกก็มีเฮง”

          เรื่องดาต้าเบส คนรุ่นเก่า(ตัวผม) ถ้าไปใช้ดาต้าเบส วันนี้ก็ไม่รอดหรอก แต่สิ่งที่คุณรุ่นเก่า รอดมาได้ คือ ความโชคดี ผมอยู่มา 30 ปี อยู่ช่วงนาทีทอง ถือว่าอยู่ได้นาน เป็นความโชคดีของคนรุ่นเก่า มีระยะเวลาในการสะสมความมั่งคั่ง ตอนช่วงที่ดี ถ้าเรารู้จักเก็บ รู้จักการลงทุนที่ดี หมายถึง ลงทุนเพื่ออนาคตไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ก็มีคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ในสังคม จะบอกว่า จะคืนกำไรให้กับชีวิตใช้แบรนด์หรูๆ ไปพักผ่อนที่หรูๆ กินอาหารดีๆ นี้คือ หลักคิดของคนที่คิดคืนกำไรให้กับชีวิต

          “แต่คนรุ่นเก่าอย่างผม โตขึ้นมา ถูกสอนในเรื่อง ความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ และประหยัด นี้คือ คีย์ซัคเซสของคนรุ่นเก่า เราก็จะมีเงินเยอะ ผมก็รู้จักลงทุน สิ่งที่เราไม่เก่ง คือ เรื่องเทคโนโลยี แต่เราเก่งในเรื่องความเป็นจริง ที่ว่า ประชากรเกิดขึ้นเรื่อย ที่ดินไม่มีงอก ประสบการณ์ก็บอกอยู่แล้วว่า ที่ดินแพงขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เอาเงินไปลงทุนในที่ดิน แปลงแรกของผม เยอะ เราลงทุนไม่รู้ตัว แต่เรามีหลักคิด เพราะเราเป็นคนสร้างบ้าน สมัยก่อน เวลาที่ไปตรวจงาน ไซต์งานอยู่ตรงไหน ระหว่างตรวจงาน เราจะได้ประสบการณ์ที่ไม่รู้ตัวสงสัยทำไม บริเวณนี้เจริญ ทำไมถนนเส้นนี้จะเจริญ เพราะด้วยอะไร ทำไมคนปลูกบ้านบริเวณนี้เยอะ คุณนึกออกหรือป่าว เราได้ประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว"นายศักดา กล่าว

          สำหรับหลักการบริหารธุรกิจในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายศักดากล่าวยอมรับว่า รอแยลเฮ้าส์ไม่มีกำไร แต่เรามี Fixed Cost เยอะ มีจำนวน 12 สาขา แต่ในปี 2563 คนมาสร้างบ้านน้อยลง เราเคยทำสถิติยอดขายสูงสุด 1,000 ล้านบาท ปี 2563 เหลือไม่ถึง 600 ล้านบาท แต่ปี 2564 เริ่มดีขึ้น ตัดปี 62 ออกไป ไม่มีอะไรตื่นเต้น

          “ช่วงที่เกิดโควิด ฝุ่นเยอะนั้น เราเตรียมพร้อม ช่วงปลายปี 63 เราได้ขายที่ดินออกไป 1 แปลง และปีที่ผ่านมาขายอีก 1 แปลงพอขาย 2 แปลงนี้ โควิดอยู่อีก 5 ปี เราก็ไม่เป็นอะไร เรามีกระสุนเหลือเยอะ และพอเรารู้เรื่องที่ดิน ประสบการณ์จากปี 2540 สอนให้เรารู้ว่าวิกฤตจากปี 40 พังเพราะ Cash flow และอีกเรื่อง คือ สร้างบ้าน ไม่ดี เก็บเงินไม่ได้ คนไม่ใช้บริการ นี้คือ 2 จุดใหญ่ จะเห็นว่า ที่ดินของ 12 สาขารอแยลเฮ้าส์ เราซื้อหมด ไม่ได้เช่า ตั้งอยู่บนทำเลที่เด่น ใกล้ห้าง ใกล้รถไฟฟ้า หรือบางสาขา เช่น ที่จ.สระบุรี ซื้อมา ไม่แพง รวมๆมูลค่าที่ดินของ 12 สาขากว่า 200 ล้านบาท ตรงนี้ เราสามารถนำไปวางเป็นหลักประกันกับธนาคาร ทำให้มีวงเงิน O/D ไว้ใช้ พูดง่ายๆ กระแสเงินสดเราไม่เคยขาด แต่เราไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ไม่ซี้ซั้วใช้ และทีมงานที่เรามีอยู่ ก็อยู่มาโดยตลอด”

          สำหรับประเด็นส่งท้ายแล้ว นายศักดามองว่า ปี 65 สิ่งที่น่ากลัวที่สุด (อันนี้เดา) คือ วัสดุก่อสร้าง จะปรับขึ้นอีก ปีที่ผ่านมา เหล็กขึ้นราคามาแล้ว 40% และยังไม่หยุด แต่ด้วยที่ รอแยลเฮ้าส์ อาศัยการ ซื้อกับซัปพลายเออร์มากว่า 20 ปี ก็สามารถล็อกต้นทุนเหล็กได้ ประมาณ 3 เดือน แต่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวน ที่คุณถามผมว่า เหล็กจะขึ้นอีกเท่าไหร่ อันนี้ เดายาก และที่น่ากลัวอีกอย่าง คือ ราคาน้ำมันหากรัฐบาลยังตรึงราคาดีเซลอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร สถานการณ์ ก็ไม่เลวมาก แต่ถ้าปล่อยลอยตัวเมื่อไหร่ วุ่นวายแน่ เพราะทุกอย่างคือ ค่าขนส่ง

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย