ไม่หวั่นโควิด คีรี มั่นใจลุยเมืองการบินอู่ตะเภา

21 พ.ค. 2563 1,049 0

           เลขาฯอีอีซีลั่น โควิด-19 ไม่สะเทือนโปรเจ็กต์ ประกาศเดินหน้า “เมืองการบินอู่ตะเภา” ดีเดย์ 21 พ.ค. นี้ ชงบอร์ดอีอีซีเคาะเซ็นสัญญา “หมอเสริฐ-บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ” รับสัมปทาน 50 ปี 3 แสนล้าน เล็งดึงโบอิ้งลงทุน MRO เสียบแทนแอร์บัส “คีรี กาญจนพาสน์” มั่นใจเต็ม 100% เชื่อธุรกิจการบิน กลับมาสดใส ประเดิมเฟสแรก 4 หมื่นล้าน ตอกเข็มปี’65 ทอท.ไม่หยุดขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ดอนเมืองเฟส 3 เชียงใหม่ และภูเก็ตแห่งที่ 2

           นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก แต่ในส่วนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก บนพื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท
          ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ 21 พ.ค.
          โดยขณะนี้ได้ผู้ร่วมลงทุนแล้ว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น โดยเสนอนาริตะเป็นผู้บริหารสนามบิน ที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุดตลอดระยะเวลา 50 ปี และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาผลเจรจาวันที่ 21 พ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คาดว่า จะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้
          นายคณิศกล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา มีทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ 6.ศูนย์ฝิกอบรมการบิน เพื่อไปสู่เป้าหมายเป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 และมหานครการบิน เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูง
          4 ปีเสร็จ-ดึงโบอิ้งลงทุน MRO
          นายคณิศกล่าวระบุว่า กว่าโครงการจะเสร็จอีก 4 ปี ในเวลานั้นอุตสาหกรรมการบินคงกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จะมีปัญหาระยะสั้น ๆ ในช่วงโควิด จากการปิด น่านฟ้า ไม่มีเที่ยวบินมาที่สนามบินอู่ตะเภา สำหรับการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) บนพื้นที่ 210 ไร่ มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท ของ บมจ.การบินไทย หลังแอร์บัสตัดสินใจไม่ร่วมลงทุนด้วยแล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิด-19 แต่แอร์บัสยินดีที่จะแบ่งปันโนว์ฮาวด้านเทคโนโลยีการบินอย่างเต็มที่ และอีอีซีจะต้องกลับมาพิจารณาโครงการใหม่ มี 2 แนวทางเลือก คือ 1.จะให้การบินไทยดำเนินการลงทุนเอง แต่ต้องรอดูแผนฟี้นฟูกิจการของบริษัทก่อน และ 2.การบินไทยร่วมทุนกับบริษัทอื่น เช่น โบอิ้ง
          ปี’65 ตอกเข็มเฟสแรก
          นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์หรือ BTS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้การเจรจาโครงการลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภาเสร็จสิ้นแล้ว รอรัฐบาลอนุมัติให้กลุ่ม BBS เซ็นสัญญาโครงการ โดยกลุ่มบริษัทเสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุดร่วม 3 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี ทั้งนี้แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้การบินทั่วโลกซบเซา แต่บริษัทยังมั่นใจ 100% ที่จะเดินหน้าลงทุน เนื่องจากกว่าโครงการจะพัฒนาเสร็จใช้เวลาอีกหลายปี ถึงเวลานั้นสถานการณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
          นายคีรีย้ำว่า สำหรับโครงการนี้บริษัทเตรียมพร้อมทุกอย่าง เงินทุน พันธมิตร ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น
          สอดคล้องกับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเฟสแรกเมืองการบินอู่ตะเภาได้ในปี 2565 เนื่องจากต้องรอการส่งมอบพื้นที่ โดยจะใช้เงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 40,000 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับ ผู้โดยสาร 16 ล้านคนต่อปี มากกว่าที่กำหนดไว้ 12 ล้านคนต่อปี พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และสร้างระบบต่อเชื่อมการ เดินทางภายในโครงการ อาคารผู้โดยสารกับถนนด้านนอกโครงการและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
          “ระหว่างที่รอส่งมอบพื้นที่ จะเตรียมการออกแบบรายละเอียดโครงการและหารือกับพันธมิตรถึงแผนการพัฒนาแต่ละกิจกรรม ในเฟสแรกจะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2567 จากนั้นถึงจะดำเนินการในเฟส 2 จะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM เชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการด้วย”
          ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า กลุ่ม BBS ยังเดินหน้าลงทุนโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา กว่าโครงการจะสร้างเสร็จและ operate สนามบินได้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีก 3-4 ปี ช่วงนั้นโควิด-19 น่าจะไม่ส่งผลกระทบแล้ว
          ทอท.ไม่หยุดขยายสนามบินใหม่
          นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า ทอท.ยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในปัจจุบัน จะขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 รองรับได้ 60 ล้านคน ต่อปี จะทยอยเปิดใช้ในเดือน เม.ย. 2564 ก่อสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 วงเงิน 10,000 ล้านบาท อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านเหนือ วงเงิน 42,000 ล้านบาท ขยายสนามบิน ดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 38,000 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดบริการในปี 2568-2569 รองรับได้ 40 ล้านคนต่อปี
          รวมถึงยังคงแผนก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.แล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ค่าก่อสร้าง อยู่ที่ 126,000 ล้านบาท แยกเป็นสนามบิน ภูเก็ตแห่งที่ 2 ประมาณ 75,000 ล้านบาท และสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ประมาณ 54,000-60,000 ล้านบาท โดย งบฯลงทุนของงบประมาณปี 2564 ที่ได้รับอนุมัติ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 จะมีกรอบงบฯลงทุน 72,600.71 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 7.21%

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย