คริปโต อสังหาฯร้อนฉ่า 18 ราย รับจ่ายบ้าน-คอนโด
รับคนรุ่นใหม่ 3 ล้านบัญชี
แม้จนถึงขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงประกาศไม่สนับสนุน การใช้ “คริปโตเคอร์เรนซี” หรือ เงินดิจิทัล เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการหลายแขนง โดยชี้คริปโตฯ มีความผันผวนสูง, เสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และหวั่นเป็นแหล่งการฟอกเงิน หลังจากภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มทำการตลาดและเปิดรับสกุลเงินหลักของคริปโตฯ เช่น Bitcoin, Etheruem เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากจำนวนผู้ใช้คริปโตฯ ในไทย โดยเฉพาะจากนักลงทุนคนรุ่นใหม่ที่มีมากขึ้น นับปัจจุบันมากกว่า 3 ล้านบัญชี และนิยมสูงในคนต่างชาติ นั่นกลับเป็น “โอกาส” มากกว่า “ความเสี่ยง”
ขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดีมานด์การซื้อโครงการเพื่ออยู่อาศัยและลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คริปโตฯถูกมองกลายเป็นแรงส่งสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาฯ ในปี 2565 พบบริษัท ที่รับคริปโตฯ หรือ โทเคน เพื่อใช้ ซื้อบ้าน-คอนโดฯ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ราว 18 รายหลังจาก บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นับหนึ่งรายแรก ร่วมมือกับ “บิทคับ” เปิดช่องทาง ใช้เหรียญคริปโทฯ Bitcoin, Ethereum และ Tethe ชำระแทนเงินสดได้ทุกโครงการ ผ่าน วอเล็ตของบิทคับ นับเป็นการเขย่าวงการ ที่เรียกกำลังเสริมรายอื่นๆ มาอย่างคับคั่งหลังจากนั้น ได้แก่ บมจ.แสนสิริ, บมจ.เอสซี แอสเสท, บมจ.ออริจิ้น, บมจ.แอสเซทไวส์, บมจ.เจ้าพระยามหานคร, บมจ.ไรมอนแลนด์, บมจ.เมเจอร์, บมจ.เสนา, บมจ.สิงห์เอสเตท, บมจ.ริชี่เพลซ 2002 และบมจ.ชาญอิสระ เป็นต้น
ส่วน บมจ.อนันดา รุกหน้าหลังจากเปิดตัวบล็อกเชน ZillaSpace Protocol โดยนำเอาคอนโดฯ และอาคารสำนักงาน มาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ แบ่งสรรปันส่วน เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันหลายคน และให้ผลตอบแทนตามสัดส่วนการลงทุน ล่าสุด ยังทำแคมเปญการตลาดในการขายคอนโดฯ “อนันดา ครบ คุ้ม KUB” ซื้อคอนโดฯพร้อมโอนฯ รับฟรี KUB COIN ทุกยูนิต เกิดกระแสความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างมาก
อีกเจ้านอกตลาด บจ.โมเดิร์น เฮ้าส์ พร็อพเพอร์ตี้ ร่วมกับ บิทาซซ่า ดัน 3 คอนโดฯใหญ่ เช่น โมเดิร์นคอนโดฯ จรัญบางพลัด 79 เปิดรับคริปโตฯ ถึง 11 สกุล โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อ พร้อมรับเหรียญ USDT คืน มูลค่า 3 แสนบาท
เมื่อพิจารณาถึงโอกาสต่อเนื่อง จากกระแสการเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการเอง ยังใช้ช่องทางนี้ เป็นแหล่งระดมทุน นอกเหนือจากความสำเร็จของการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Initial Coin Offering) หรือ ICO ชื่อ “สิริฮับโทเคน” 240 ล้านโทเคน มูลค่า2.4 พันล้านบาท ของบริษัทแสนสิริ ซึ่งใช้บริษัทร่วมลงทุน เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล เป็นผู้ออก ICO ตัวแรกของประเทศไทย ในช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังพบว่า บมจ.เอสซี แอสเสท ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับทำ ICO เพื่อใช้ในการระดมทุนเช่นกัน หลังจากมีสินทรัพย์ ประเภทอาคารที่สร้างรายได้ประจำ (recurring income) มูลค่ารวมกว่า 6 พันล้านบาทขณะเดียวกัน ปีนี้ จะมีการออก SC Morning Coin ซึ่งเป็นเหรียญดิจิทัล ใช้ในแพลตฟอร์ม สำหรับพนักงานลูกค้า คู่ค้าและนักลงทุน ต่อยอดจาก SC token ที่ปัจจุบันใช้กันภายในองค์กรอยู่แล้ว
ด้านบมจ.โนเบิล มีมุมมองต่อคริปโตฯ ว่านับเป็นแนวทางใหม่ ที่บริษัทกำลังศึกษา เบื้องต้นทดลองทำแซนบ็อกซ์ ภายในองค์กรเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่คาดว่าจะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม นายอรรถวิทย์ เฉลิมทรัพยากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน โนเบิล ระบุ ว่า Tokenization หรือ กระบวนการสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ถือเป็นช่องทางใหม่ในการระดมทุนเพื่อทำธุรกิจ ที่ต้องอาศัยนโยบายที่เอื้ออำนวย
เช่นเดียวกับ นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. ลลิล เผยบริษัทตั้งทีมศึกษารอความชัดเจนกฎระเบียบของ “ดิจิทัล แอสเสท” ในไทย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ใน 2 ขา ทั้งการระดมทุน และเปิดรับ ซื้อ-ขาย สำหรับการขยายฐานลูกค้าใหม่
ล่าสุด บมจ.แอสเซทไวส์ (ASW) โดย นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุ ร่วมกับ ฟิวเจอร์คอมเพเทเร่ ผ่านบริษัทในเครือของตนเอง (ดิจิโทไนซ์) ผลักดันการเปิดตัว เหรียญ Popcoin ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาในช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งเหรียญ Popcoin ไม่ใช่แค่คริปโตฯ เท่านั้น แต่เป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ พลิกโฉมการทำการตลาดของภาคธุรกิจระดับแนวหน้า รวมถึงการขายโครงการที่อยู่อาศัยของแอสเซทไวส์ด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ