เก็บภาษี คริปโตฯ ดับฝันอนาคต อสังหาฯไทย

20 ม.ค. 2565 449 0

          เสียงคัดค้านต่อต้าน การเก็บภาษีที่ได้จากการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency) หักกำไร 15% ณ ที่จ่าย ดังขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักเทรดนักลงทุนคนรุ่นใหม่ ที่เกาะกระแส Digital Asset จนกลายเป็นเศรษฐีใหม่รายย่อย

          ประเด็นดังกล่าว ถูกถกเถียงต่อเนื่อง หลังกรมสรรพากรประกาศจะเรียกเก็บภาษีคริปโต ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และหากจะวิเคราะห์เรื่องนี้ อาจสะเทือนโลกดิจิทัล อนาคตใหม่ของภาคธุรกิจไทยอยู่ไม่น้อย เพราะการเรียกเก็บภาษี ซึ่งจะถูกคิดเฉพาะส่วนกำไร ไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้ (กำไร) มารวมกับเงินได้อื่นๆเพื่อประกอบการยื่นภาษีประจำปีอีกด้วย ส่งผลความน่าสนใจในการลงทุนคริปโตจะลดน้อยถอยลง ได้ไม่คุ้มเสียอีกต่อไป

          เจาะกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดคริปโตฯ บ้านเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าสนใจ ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีผู้ถือสกุลเงินดิจิทัลในไทย 3.2 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และที่ผ่านมาภาคธุรกิจต่างๆ ต่างเล็งเห็นโอกาสเทรนด์การค้าใหม่ เปิดช่องทางทางการตลาด โดยสนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ มาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ จนวันนี้คริปโตฯมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนโลกแห่งการค้า จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาเตือนและประกาศให้ระมัดระวัง

          ตัดภาพมาที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย นั้น แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายบ้านและคอนโดฯ ผ่านสกุลดิจิทัลหลัก เช่น Bitcoin: BTC,Ethereum: ETH และ Tether USD: USDT เป็นอีก 1 เมกะเทรนด์ ที่กูรูในวงการ คาดการณ์ว่าจะเข้ามามีสีสันต่อตลาดที่อยู่อาศัยไทยยุคใหม่ นับหนึ่งปี 2565 หลังจากตลอดปี 2564 มีดีเวลลอปเปอร์หลายราย ทั้ง ไรมอนแลนด์, แสนสิริ, อนันดา, เอพี,เสนา พฤกษา, ฮาบิแทท, ชาญอิสระ,เมเจอร์, เอสซี และ ออริจิ้น ฯล เปิดทางชิมลางความหอมหวานของนักลงทุนกลุ่มนี้ ปรับตัวเพิ่มทางเลือกในยุคโควิด และหวังขยายส่วนแบ่งทาง การตลาด

          โดยแม้ยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าจนถึงขณะนี้ มีดีเวลลอปเปอร์รายใด สามารถปิดดีลการขายที่อยู่อาศัยผ่านสกุลเงินดิจิทัลได้แล้วบ้าง แต่คาดการเกาะกระแสความร้อนแรงของคริปโตฯ คงไม่ผ่อนลงง่ายๆ ในอสังหาฯไทย

          ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDpro perty) ระบุ กระแสของสกุลเงินดิจิทัลน่าจับตามองอย่างมากในธุรกิจอสังหาฯ เพราะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่กล้ารับความเสี่ยง มองว่าสกุลเงินดิจิทัล เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยให้ได้ง่ายขึ้น แลกเปลี่ยน Cryptocurrency มาเป็นอสังหาฯ ข้ามข้อจำกัดประวัติทางการเงินหรือศักยภาพการผ่อนชำระของวัยเริ่มทำงาน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงที่นักลงทุนต่างชาติซบเซา จนอนาคตการประกาศใช้สกุลเงินดิจิทัล ในการซื้ออสังหาฯ หรือจ่ายค่าส่วนกลาง และค่าบริการอื่นๆ อาจกลายเป็นอีกช่องทางหลักของการซื้อขายในอนาคต

          ความเคลื่อนไหวของอสังหาฯต่อโลกการเงินดิจิทัลไม่ได้เกิดขึ้นแค่นั้น แต่พบบิ๊กอสังหาฯ ยังนำตัวเองเข้าไปลงทุนในตลาดนี้อย่างน่าสนใจโดยแสนสิริเข้าลงทุนในเอ็กซ์สปริง กลุ่มธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ดิจิทัลเพื่อขยายธุรกิจเกี่ยวกับคริปโตฯ และออกโทเคนดิจิทัลขณะอนันดาจับมือ บิทคับ เปิดตัว ZillaSpace ใช้บล็อกเชน ปฎิวัติโมเดลอสังหาฯ เพิ่มรูปแบบการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ พื้นที่-สำนักงาน-คอนโดฯ ร่วมกัน ผ่านลงขันคริปโตฯ อีกด้านเอเยนซี่หลายรายเปิดบริการปล่อยเช่าที่พัก-โรงแรมด้วย คริปโตฯ เช่นกัน

          ปรากฎการณ์ข้างต้น สะท้อนภาคอสังหาฯไทย หวังอย่างมากกับนักเทรดคริปโตฯ ทำให้เริ่มมีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วย กับการเรียกเก็บภาษีคริปโต ล่าสุด “เศรษฐา ทวีสิน” เจ้าพ่อแสนสิริกล่าวคัดค้านกรมสรรพากรพร้อมเรียกร้องให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีในตลาดคริปโตฯ เพื่อผลักดันการเติบโตของลงทุนเกิดใหม่ ย้ำ “เงินดิจิทัล” เป็นโลกแห่งอนาคตของคนรุ่นใหม่ ยกอ้างการเรียกเก็บภาษี เท่ากับปิดกั้นโอกาสการลงทุนที่เท่าเทียม อีกนัยนั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูบานใหญ่ในการขยายกลุ่มลูกค้าที่ต้องการด้วย

          “อย่าเอามาตรการภาษีมาดับความหวังและแรงบันดาลใจของเยาวชนหรือถ้าต้องการเก็บจริง เพราะเหตุผลทางรายได้ ก็เก็บเฉพาะรายใหญ่ที่มี trade volume เกิน 10 ล้าน/เดือน อย่าสร้างความไม่พอใจจากเยาวชน จากความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นที่เล่นโดยรายใหญ่ไม่โดนเก็บภาษีมาหลายสิบปีแล้ว”

          ความเห็นอีกด้าน จาก นายชนนพล ชนุหะชา นักลงทุนรุ่นใหม่ ผู้ปั้นพอร์ตจาก 1.3 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาท ภายใน 7 ปี กล่าวว่า หลายประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิดภาษีในส่วนนี้ ส่วนออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา,สหราชอาณาจักร และแคนาดา แม้มีการคิดภาษีจริง แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้ จึงต้องการให้รัฐอนุญาตนำผลขาดทุนมาหักจากเงินได้ ที่มาจากการลงทุนเช่นกัน

          ส่วนในการลงทุนภาคอสังหาฯมองว่า “ไม่ถึงกับเป็นการปิดโอกาส แต่อาจทำให้ช่องทางบางช่องในการลงทุนหายไป และบีบให้มีตัวเลือกที่น้อยกว่าในหลายๆ ประเทศ”

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคลียร์ชัด และบอกถึงความจำเป็นของการรีดภาษี เพื่อขยายฐานภาษีและสร้างเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ เหลือเพียงแนวทางที่กำลังหารือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเท่านั้น จับตาจุดเริ่มต้นกับสัญญาณตรึงตัว เมื่อภาพฝันยกระดับการขายอสังหาฯไทย อาจมีอันสะดุด

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย