เศรษฐกิจไทย ปี 65 แขวนบนเส้นด้าย ปัจจัยลบรุมเร้า

30 ธ.ค. 2564 742 0

          นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง ปัจจัยลบรุมเร้าจับตาการระบาดของ “โอมิครอน” หวั่นรุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ กระทบกำลังซื้อ เงนเฟ้อพุ่ง กดดันให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็ว จับตาโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ขยายวง ลุ้นจีดีพีต่ำ 3%

          ภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น หลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ต้องกลับมาทบทวนกันอีกรอบหลังพบการกลายพันธ์ของโควิด-19 สายพันธ์ใหม่ โอมิครอน “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่พบว่า 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยในปี 2565 คือ

          1.โควิด-19 กลายพันธุ์ยืดเยื้อ จับตาสายพันธุ์ โอมิครอน หวั่นมาตรการรัฐควบคุมโควิดจะซ้ำเติมเศรษฐกิจในระบบ

          2.ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐบีบคั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 1 ปีหน้า

          3.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน 4.เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณแผ่ว และ 5.การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างของประเทศหลัก

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ (BBL) เปิดผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอมิครอนเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้ารุนแรงจนต้องบริหารจัดการระบาดรอบใหม่ในช่วงต้นปีหน้า จะทำให้เสียโมเมนตัมตั้งแต่ต้นปี หากดูแลได้ก็จะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจได้อีกประมาณไตรมาสสองปี 2566 แม้แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นแต่ผันผวนทั้งค่าเงินต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้น, นักธุรกิจต้องปรับ

          ทั้งนี้ 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังทำงาน คือ การส่งออก การบริโภคและการใช้จ่ายรัฐบาล ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาในปี 65 ซึ่งหากบริหารจัดการโอมิครอนได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีฐาน ที่สำคัญภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 15% ของจีดีพีจะเป็นแรงส่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจเมืองไทยจะเติบโตดี หากดึงไทยเที่ยวไทยที่มีสัดส่วน 5% มาเป็นตัวช่วยก่อน

          นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า อุปสงค์ในประเทศยังเดินได้ เห็นได้จากการใช้จ่ายครัวเรือน มีเมนตัมดีและ Sentiment ยังเป็นบวก แม้จะมีความเสี่ยงโอมิครอนเข้ามา ยกเว้นรัฐจะเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาด โดยมองว่าโอมิครอนจะมีผลบ้างถึงไตรมาส 1 แต่คงไม่ลากยาวถึงไตรมาส 2 และ  3 ปี 2565

          นายพิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัดกล่าวว่า โอมิครอน มี Down Side ต่อจีดีพีของไทย โดยหวังว่า ไม่มีล็อกดาวน์รุนแรง ซึ่งภาพที่ยังไม่เห็นว่าโอมิครอนจะรุนแรงหรือยาวนานขนาดไหน ส่วนตัวยังมอง 3 ปัจจัยเสี่ยง

          1.อย่ามีล็อกดาวน์รุนแรง นักท่องเที่ยวต้องกลับมาครึ่งปีหลัง หากโควิดรุนแรงนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 3% แน่

          2.เศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของโลกด้วย โดยมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ชัด ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญ 

         3.นโยบายการเงินประเทศหลักที่แตกต่างกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ถ้าอัตราเงินเฟ้อไม่ปรับลด ทำให้เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกจะกระทบระดับอัตราของดอกเบี้ยในโลก รวมทั้งสภาพคล่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและในไทยแม้ธปท.จะไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม

          นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics)กล่าวว่า ยังมองจีดีพีมีโอกาสเฉียด 3.9% เพราะจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว เห็นได้จากไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมาแม้จะมีล็อคดาวน์ไม่ได้ส่งผลกระทบมาก แต่ปีหน้าต้องจับตา ทั้งโอมิครอน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านลบและเรื่องเงินเฟ้อผู้ประกอบการจะส่งผ่านระดับราคาอย่างไร โดยอาจส่งผ่านต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม 11%

          ถ้าโอมิครอนกระทบเศรษฐกิจโลกมากจะลดแรงกดดันเงินเฟ้อโลก ขณะที่เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง หากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า อาจเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปและมีโอกาสเห็นเงินบาทแตะ 35บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย

          นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ไตรมาสแรกปี 65 มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อพุ่งไปที่ 2.8-3% สาเหตุจากฐานที่ต่ำและเงินเฟ้อที่ผงกหัวขึ้นมาจากฝั่งซัพพลายไม่ใช่ดีมานด์ จึงไม่สะท้อนเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือมีความร้อนแรง

          เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันการทำนโยบายการเงิน แต่แรงกดดันอาจจะมาจากประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดการเงินโลกปรับขึ้นและดึงยีล์ดเคิร์ฟให้ปรับเพิ่มด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของไทยได้

          นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า 3ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีหน้าคือ การระบาดรอบใหม่, สงครามการค้า, เงินเฟ้อ” แต่สิ่งที่กลัวตอนนี้ “โอมิครอน” ระบาดและล่าสุดจำกัดการท่องเที่ยวซึ่งมุมมองจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองไว้ 5.1 ล้านคนอาจจะถูกกระทบ แต่ยังไม่ตกใจ เพราะนักท่องเที่ยวคาดว่า จะเข้ามาครึ่งหลังอยู่แล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ การบริโภคในประเทศ เพราะกระทบกำลังซื้อประชาชน รวมถึงการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชนอีกรอบ

          “จีดีพีมีโอกาสต่ำ 3% ด้วยปัจจัยการระบาดหนัก และมีมาตรการภาครัฐจำกัดการเคลื่อนย้ายคนและไปสู่ซัพพลายดิสรับปชั่น ซึ่งอาจจะกระทบทำให้จีดีพีต่ำ 3% ได้” นายอมรเทพ กล่าว

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย