คลังแท็กทีมธปท.พยุงศก. ห่วงฟื้นแค่ตัวเลข-แต่คนไม่มีรายได้

29 พ.ย. 2564 484 0

          คลัง-แบงก์ชาติ ระดมสารพัดเครื่องมือ unlock เศรษฐกิจไทย “อาคม” ชกเต็มหมัดทุกมาตรการเดินคู่นโยบายการเงิน ดัน EEC เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวแรง ปีหน้าลดระดับแจกเงิน เน้นสร้างรายได้ เดินหน้าบูสต์เศรษฐกิจกระจายถึงฐานราก ผู้ว่า ธปท.ห่วงเศรษฐกิจฟื้นแค่ตัวเลขจีดีพี แต่คนยังบาดเจ็บ “จ้างงานลด-รายได้หด-หนี้ครัวเรือนสูง” สายป่านการเงินสั้นลง ชูมาตรการทางการคลัง “พระเอก” ออกฤทธิ์ “แรง-ตรงจุด” ช่วยดันจีดีพีบวก แนะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรับเทรนด์ “ดิจิทัล-กรีน”

          เงินกู้ 1.5 ล้านล้านอุ้มเศรษฐกิจ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock Value” ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมเสวนาพิเศษหัวข้อ “การเงิน-การคลัง” กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย

          นายอาคมกล่าวว่า เมื่อพูดคำว่า unlock ตั้งแต่ประสบกับการแพร่ระบาด ของโควิด-19 สิ่งที่กระทบมากคือ เศรษฐกิจ ทันทีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่เริ่มดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน การใช้เม็ดเงินเข้ามาช่วยเหลือหรือเยียวยา โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันทีจึงมีความจำเป็น ในส่วนของนโยบายการคลัง คือ การใช้จ่าย เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งการพยุงเศรษฐกิจให้เติบโต เพราะทุกประเทศล็อกดาวน์ กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดทั้งหมด

          นอกจากเม็ดเงินที่เข้าไปช่วยภาคประชาชน ภาคธุรกิจยังได้รับความช่วยเหลือผ่านระบบสินเชื่อ และการพักชำระหนี้ ผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 2 ฉบับ ปี 2563 และปี 2564 รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยา และพยุงเศรษฐกิจ จากรายได้ของประชาชนที่ขาดหายไป ผ่านโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ช้อป ดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน

          “ครึ่งแรกปี 2564 จีดีพีโตเพียง 0.4 % ถือว่าต่ำมาก แต่มาตรการของ ภาครัฐที่เข้าไปกระตุ้นการใช้จ่ายหรือการเยียวยาต่าง ๆ ทำให้อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น 1.6% และการใช้จ่ายของประชาชนยังอยู่ได้”

          เปิด 4 Unlock เศรษฐกิจไทย

          นายอาคมกล่าวว่า unlock แรก เป็นการ unlock ของนโยบายการคลัง เพื่อเปิดช่องว่างให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการ unlock นโยบายการเงิน เพื่อผ่อนคลายให้นโยบายการคลังทำงานได้อย่างเต็มที่

          สอง unlock ล็อกดาวน์ เพื่อเปิดประเทศ เราเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ให้เศรษฐกิจเดินได้เต็มที่ และในปีหน้าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะ unlock 100% ให้เศรษฐกิจ ดำเนินไปได้ตามวิถีปกติ

          “จะบอกว่า unlock แบบไร้ขีดจำกัดคงไม่ได้ นโยบายการคลังเน้นการใช้จ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีกรอบวินัยการเงินการคลังคุมไว้ เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารการคลัง”

          สาม unlock เพดานหนี้ เพื่อปลดล็อก ขณะนี้การใช้จ่ายภาครัฐต้องมาจากการกู้เพียงอย่างเดียว ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงขยับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกินไปแบบสุดโต่ง

          สี่ unlock ความคิด เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เราเจอเศรษฐกิจติดลบ เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยว มากจนเกินไป

          “ทำอย่างไรจะทำให้เศรษฐกิจสมดุลมากขึ้นระหว่างภาคบริการกับภาคการผลิต โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นการปลดล็อกทางความคิดแบบไร้ขีดจำกัด แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา ไม่ว่าการเงิน การคลัง สุดโต่งไม่ได้”

          EEC เครื่องยนต์ตัวแรง

          นายอาคมกล่าวว่า เวลานี้รัฐบาลมี engine of growth ตัวใหม่ ซึ่งทำมา 2-3 ปีแล้ว คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนใหม่ จากประสบการณ์การพัฒนา เศรษฐกิจของเรา พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นฐานการผลิต เป็นฐานการส่งออก

          ในยุคใหม่การพูดถึงเรื่องการสร้าง high value chain ด้วยเทคโนโลยีทำให้เราต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีมาก เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นอกจากนี้ ต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจนอกประเทศกับในประเทศ ในอนาคตเราต้องกลับมาเน้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น

          ขณะที่เรื่องการท่องเที่ยวต้องเน้น คุณภาพมากขึ้น ขณะที่แอสเซตในภาคท่องเที่ยว เช่น โรงแรมต่าง ๆ เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีมากเกินไป ไม่รองรับกับอนาคตที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเพิ่มขึ้นเท่ากับในอดีต 40 ล้านคน ซึ่งต้องหันมาเน้นคุณภาพมากขึ้น

          ปักธงกระจายเศรษฐกิจโตถึงราก

          “การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ในแง่โครงสร้าง เศรษฐกิจของเราต้องเป็นการกระจายอย่างทั่วถึง เรียกว่า inclusive growth ต้องถึงในระดับประชาชน” นายอาคมกล่าวและว่า

          สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนออกจากงานค่อนข้างเยอะ และมีส่วนหนึ่งอยากเปลี่ยนอาชีพ ดังนั้น ต้องมีการ ส่งเสริมอาชีพอิสระต่าง ๆ หรือเศรษฐกิจระดับตัวบุคคล

          “เราพบว่ามาตรการเยียวยาแรงงานตามมาตรา 33 มาตรา 39 และโดยเฉพาะ มาตรา 40 ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้ามาลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ ประมาณ 7-8 ล้านคน แสดงว่าคนที่ออกไปจากตลาดแรงงาน หรือคนที่ประกอบอาชีพอยู่แล้วได้รับผลกระทบ ดังนั้นการทำให้มี inclusive growth กระจายเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในระดับชุมชน เชื่อว่าแรงกระแทกจากวิกฤตในอนาคตคงจะเบาลงไป”

          คลังลดแจกเงิน-สร้างรายได้

          นายอาคมกล่าวว่า มาตรการเยียวยาเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า การโอนเงินเข้ากระเป๋าตังของประชาชนในช่วงตกงาน ไม่มีงานทำ เป็นการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แน่นอนที่สุดเรื่องการสร้างเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ การทำให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ของตัวเอง เรื่องการเยียวยาจะต้องลดลงไป และไปเน้นเรื่องการสร้างรายได้ให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

          “รวมถึงมาตรการร่วมจ่าย เช่น โครงการ คนละครึ่ง เป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งและแบ่งเบาภาระประชาชนส่วนหนึ่ง หรือการเยียวยาแบบแจกเงินสด การโอนเงินจะลดลงไป”

          เน้นเรื่องการแบ่งเบาภาระของประชาชน เช่น การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คาดว่าต้นปีหน้าจะเห็นการลงทะเบียนซึ่งจะมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป

          นายอาคมทิ้งท้ายว่า ในด้านการหารายได้ รัฐบาลไม่มีนโยบายเก็บภาษีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีแนวทางในการปฏิรูประบบภาษี โดยมุ่งเน้นให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน ความทันสมัยและนวัตกรรม เพื่อเก็บภาษีได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ปิดกั้นเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะ digital economy และ green economy

          ธปท.เปิด 3 แนวทาง Unlock ศก.

          ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากพูดถึงการ unlock ศักยภาพนโยบายการเงินที่ไร้ขีดจำกัด ทุกคนอยากทำนโยบายแบบนั้น แต่ต้องยอมรับว่าทุกนโยบายมีขีดจำกัด และมีผลข้างเคียง แต่จะทำอย่างไรให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือ

          1.การประสานนโยบายให้ดีระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง โดยใช้จุดแข็งของแต่ละนโยบายให้ถูกต้อง เช่น นโยบายการคลัง อาจต้องใช้เวลา ทำได้ช้า แต่เห็นผลเร็ว ตรงจุด ดูได้ว่าเงินไปไหน

          ขณะที่นโยบายการเงินกลับกัน “ทำได้เร็ว” แต่ผลของนโยบายการเงินต้องใช้เวลา เพราะต้องส่งผ่านไปยังสถาบันการเงิน และผลของนโยบายการเงินจะไม่ค่อยตรงจุด เป็นอะไรที่แบบกว้าง จึงต้องประสานนโยบายทั้งสองที่จะทำให้ unlock ประสิทธิภาพนโยบายได้เต็มที่

          2.การทำนโยบายแบบยืดหยุ่นทางปฏิบัติ อย่ายึดติด สถานการณ์เปลี่ยนก็ปรับนโยบาย เช่น ตอนแรกที่โควิด-19 มา ธปท.มองว่าวิกฤตแรง แต่ไม่ยาว จึงทำนโยบายแบบปูพรมอัดเต็ม แต่เมื่อสถานการณ์ลากยาว และผลกระทบที่ไม่เท่าเทียม เป็นลักษณะ K shaped บางคนโดนหนัก บางคนไม่ค่อยโดน เหตุนี้มาตรการปูพรมจึงไม่เหมาะ จึงต้องปรับจากมาตรการพักหนี้ในวงกว้าง มาให้ตรงจุดมากขึ้น และเจาะไปที่กลุ่มที่มีปัญหาจริง ๆ และทำแบบยาว

          และ 3.เพื่อให้นโยบายการเงิน หรือนโยบายโดยรวมได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องรับรู้ขีดจำกัด ไม่ควรทำอย่างสุดโต่ง เพราะถ้าทำอะไรสุดโต่งจะเกิดผลข้างเคียง

          หากดูต่างประเทศทำนโยบายค่อนข้างสุดโต่ง ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดินใกล้ ๆ 0 ในหลายประเทศ ขณะที่ฝั่งการคลังมีการกระตุ้นเต็มที่ หนี้สาธารณะสูงมาก สูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ว่าต้นทุนการกู้ยืมต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะดอกเบี้ยต่ำสุด ซึ่งการทำ นโยบายแบบนี้นานไปจะเกิดความเสี่ยงที่เสถียรภาพจะถูกกระทบ เพราะถ้าธนาคาร กลางต่าง ๆ อยากจะขึ้นดอกเบี้ย ก็จะกระทบต่อภาระหนี้ทางการคลัง

          “หัวใจสำคัญคือ ถ้าเราขาดเสถียรภาพทั้งฝั่งการเงินและการคลัง จะทำให้ทุกอย่างรวนไปหมด ขาดฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้ ถ้าขาดเสถียรภาพการคลัง การเงินก็ทำงานไม่ได้ ถ้าขาดเสถียรภาพการเงิน การคลังก็ทำงานไม่ได้”

          เงินเฟ้อสูงขึ้นไม่เสี่ยง-ไม่ชะล่าใจ

          ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า สัญญาณการฟี้นตัวของเศรษฐกิจโลกถือว่าค่อนข้างโอเค แต่ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงกว่าคาด ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า ธนาคารกลางกลุ่มประเทศหลัก ๆ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ทำให้ตลาดการเงินค่อนข้างผันผวน คล้ายกับช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก ก็มีข้อถกเถียงกันทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และธนาคารกลางว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวจะอยู่ยาวหรือชั่วคราว ถือเป็นสัญญาณที่ต้องจับตามอง และไม่ควรชะล่าใจ

          อย่างไรก็ตาม มองว่ายังไม่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะดูความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโลกยังไม่น่าสูง เพราะ 1.ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ของไทยเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค นักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักไม่มาก เท่ากับประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย จึงมองว่าดอกเบี้ยโลกที่ขึ้น โอกาสที่จะทำให้ดอกเบี้ยไทยขยับเร็วและแรงเท่าที่อื่น ๆ ไม่น่าจะสูง

          2.หากดอกเบี้ยพันธบัตรไทยขึ้น ผลที่ส่งต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่มาก เพราะประมาณ 90% ของเงินภาคธุรกิจมาจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 10% มาจากบอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเปราะบางต่ำ และกรณีบอนด์ยีลด์ขึ้นจะส่งผลต่อธนาคารพาณิชย์และระบบเศรษฐกิจไม่สูง เพราะแหล่งเงินธนาคารพาณิชย์ไทย 94% มาจากฐานเงินฝาก ไม่ได้กู้จากตลาดบอนด์

          “สรุปทั้งหลายทั้งปวงที่พูดกันเยอะว่า เงินเฟ้อโลกขึ้นมีความเสี่ยง ดอกเบี้ยโลกจะขึ้นเร็วกระทบตลดาเงิน มองว่าจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่ค่อยเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชะล่าใจ”

          ธปท.ห่วง ศก.ฟี้นแค่ตัวเลข

          ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับสัญญาณ ในประเทศที่เป็นห่วงคือ

          1.โควิด-19 จะระบาดอีกรอบหรือไม่ ข่าวดีคือตัวเลขฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลดความรุนแรง ส่งผลให้ศักยภาพของโรงพยาบาลไม่เต็ม ทำให้มองไปข้างหน้าดาวน์ไซด์ของเศรษฐกิจไทยน่าจะลดลง รวมทั้งโอกาสเกิดการล็อกดาวน์เหมือนในอดีตน้อยลง แต่ก็มีความเสี่ยงถ้าเราการ์ดตก

          2.สัญญาณเสี่ยงจากการฟี้นตัวของเศรษฐกิจช้า และไม่เท่าเทียม ซึ่งจีดีพี จะเริ่มกลับมาก่อนโควิด-19 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566

          แต่เป็นการฟี้นตัวในเชิงตัวเลข ขณะที่คนทั่วไปไม่รู้สึกกลับมาเหมือนเดิม เพราะตลาดแรงงานและรายได้ฟี้นตัวช้ากว่าตัวเลขจีดีพี

          เหตุผลหลัก ๆ เพราะการจ้างงานและรายได้หลักของคนไทยยังอิงกับภาคท่องเที่ยว แม้ว่าเปิดประเทศคาดว่า ปีหน้านักท่องเที่ยวจะกลับมา 6 ล้านคน แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ถึง และยังห่างไกลกับ 40 ล้านคนก่อนโควิด ควบคู่กับภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนสายป่านสั้นลง

          “คนอัดอั้น ทนล็อกดาวน์มานาน เปิดประเทศแล้วก็หวังว่าจะดี ซึ่งก็ดีขึ้น แต่ดีแบบไม่ทั่วถึง ทำให้ความอึดอัดของคนจะหนักขึ้น เกรงว่าจะเป็นจุดเสี่ยง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

          โจทย์อุ้มคนกลุ่ม K ขาล่าง

          ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า โจทย์สำคัญนโยบายการเงินคือ ต้องทำให้ฟี้นตัว แม้จะไม่เร็วปรู๊ดปร๊าดเหมือนที่อยากเห็น แต่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ให้สะดุด โดยฝั่งนโยบายการเงินจะต้องเมกชัวร์ว่า ตลาดการเงินไม่ตึงตัวขึ้นมา และไม่ทำให้ตัวเลขหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนการฟี้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ต้องมีมาตรการที่ตรงจุด เพื่อช่วยกลุ่มคนที่ฟี้นตัวช้า หรือเป็น K ขาล่าง ซึ่งตัวสำคัญในการช่วยในการฟี้นตัวจะเป็นฝั่งนโยบายการคลัง

          “นโยบายการเงินต้องทำให้ระบบการเงิน ทำงานต่อได้แบบไม่สะดุด เพราะถ้าระบบการเงินไม่ทำงานจะกระทบทุกคน และกลุ่มที่จะโดนกระทบก่อนคือ กลุ่ม K ขาล่าง เพราะปกติเศรษฐกิจติดลบ สินเชื่อ ก็จะหดตัว เหมือนที่เจอในปี’40 แบงก์ไทยแทนที่จะปล่อยสินเชื่อ ก็เรียกหนี้คืน ขายทรัพย์ทอดตลาด และสร้างผลเสียหายตามมาสารพัด”

          ดูแล “ระบบการเงิน” ให้ทำงาน

          ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถือว่าโอเค เพราะเศรษฐกิจไทยติดลบ -6% ในปีที่แล้ว แทบจะสูงที่สุดในภูมิภาค แต่สินเชื่อทั้งระบบโดยรวมโต 4-5% เทียบกับประเทศอื่นจีดีพีติดลบน้อยกว่าอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่สินเชื่อโต 1-2%

          “สะท้อนว่าระบบการเงินทำงานอยู่ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมีบางกลุ่มที่ไม่ได้สินเชื่อ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ธปท.จึงออกมาตรการเสริมมาอุดจุดที่ระบบการเงินไม่ทำงาน”

          อันแรกก็ออกซอฟต์โลนซึ่งติดข้อจำกัด ก็ปรับเป็นสินเชื่อฟี้นฟู โดย 2 ตัวนี้ รวมกันปล่อยไปได้ 2.5-2.6 แสนล้านบาท เป็นการปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องช่วย K ขาล่าง แต่อีกด้านก็ต้องช่วยเรื่อง “แก้หนี้เดิม” เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้กับกลุ่มที่ถูกกระทบเยอะ

          โดยไม่ใช่ปูพรม เพราะมาตรการปูพรมสร้างผลข้างเคียงเยอะ เหมือนกินยารักษาทั่วไป แต่มีผลต่อตับต่อไต ต้องให้ตรงจุดจะดีกว่า จึงเป็นการออกมาตรการเน้นแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เอสเอ็มอีลดภาระ และปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เป็นวิธีที่ตรงจุดที่สุด นั่งคุยกับลูกหนี้ว่าศักยภาพการชำระหนี้เป็นอย่างไร ปรับให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

          ชูการคลังพระเอก แรง-ตรงจุด

          ผู้ว่าการ ธปท.ย้ำว่า ในการกู้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ K ขาล่าง นโยบายทางการคลังจะได้ผล “แรงและตรงจุด” ต้องบอกว่า พระเอกคือการคลัง ชัดเจน ทั่วโลกการคลังเป็นตัวเอกในการกู้วิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและยังไม่ฟี้นตัว

          “ต้องบอกว่าถ้าไม่มีมาตรการการคลังออกมา เศรษฐกิจไทยจะหนักกว่านี้มาก แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกู้เงินเยอะ แต่ถ้าไม่มีตรงนั้น ภาพเศรษฐกิจจะหนักกว่าตอนนี้มหาศาล” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

          อย่างปีที่แล้วที่จีดีพี -6% ถ้าไม่มีมาตรการทางการคลังเข้ามา ประเทศไทยจะได้เห็นจีดีพี -9% กว่า สำหรับปีนี้ ธปท.คาดการณ์จีดีพี +0.7% ซึ่งถ้าไม่มีการคลังเข้ามาจะเห็น -4% กว่า เบ็ดเสร็จมาตรการทางการคลังในช่วง 3 ปี (ปีที่แล้ว ปีนี้ และปีหน้า) ช่วยสนับสนุนจีดีพีบวกเข้ามาได้ 10.8%

          ปรับโครงสร้างรับ “ดิจิทัล-กรีน”

          นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวยังมีการบ้านอีกมาก โดยเฉพาะ 2 กระแสสำคัญ คือ

          1.เทรนด์ “ดิจิทัล” ซึ่งชัดว่ากระทบแทบทุกอย่าง ประเทศไทยต้องปรับตัวและใช้ประโยชน์จากตรงนี้ และ

          2.เรื่องกรีน (green) และภาวะโลกร้อน (climate change) และความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งคนยังไม่ใส่ใจเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องปรับตัวมหาศาล และอาจมากกว่าดิจิทัลด้วยซ้ำ

          เพราะมองระยะยาวประเทศไทยมีความเปราะบางในเรื่องของภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติต่าง ๆ โดยมีองค์กรที่ประเมินความเสี่ยงประเทศไทยอยู่อันดับ 9 ของโลก เพราะว่าพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็น พื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งมีความ เปราะบางต่อคลื่นทะเลสูง และประเทศไทยที่มีแรงงานอยู่ในภาคเกษตรค่อนข้างสูง 1 ใน 3 และภาคเกษตรเสี่ยงถูกกระทบหนักจากภัยแล้ง และน้ำท่วม

          ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การรับมือกับเรื่องภาวะโลกร้อนมีความจำเป็นมาก และอาจไม่ใช่เรื่องระยะยาว เพราะจะมีผลในเชิงนโยบายที่จะเข้ามากระทบเราเร็ว เช่น กรณีกลุ่มประเทศยุโรปที่ออกนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) กฎหมายว่าด้วยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน จะมีการเก็บภาษีสินค้าคาร์บอนสูง ถ้าเราไม่ปรับตัวจะกระทบส่งออก เพราะพระเอกส่งออกไทยอย่าง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมีก็จะโดนผลกระทบ เพราะไม่ใช่สินค้ากรีน ก็ต้องปรับตัวให้กรีน กว่านี้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องอิงกับกระแสหลักทั้งดิจิทัลและเรื่องกรีน

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย