แบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้บ้าน-คอนโดพุ่ง70%
ตลาดอสังหาริมทรัพย์กุมขมับ พิษโควิดดันอัตราปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มพรวดแตะ 50-70% จาก 30% สมาคมชงรัฐต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% กระตุ้นซื้อไม่เกิน 3 ล้านบาท
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์ โควิด-19 ภายในงานสัมมนาออนไลน์ “Transforming Real Estate Thailand Forum 2021” จัดโดย PeopleScape เครือบริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ว่าขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อย ก่อนหน้านี้มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อของกลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ที่ 3-5% และที่อยู่อาศัยเซ็กเมนต์ทั่วไปไม่เกิน 30% แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อยู่อาศัยระดับราคา 2-3 ล้านบาท มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มเป็น 50-60% และบางจังหวัดอาจสูงถึง 70% ทำให้ดีเวลอปเปอร์ส่วนใหญ่ซึ่งขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการได้รับผลกระทบจากการโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ แม้ดีเวลอปเปอร์จะ Pre-approve ลูกค้าแล้วก็ตาม เนื่องจากลูกค้าอาจได้รับผลกระทบในภายหลัง สถาบันการเงินจึงไม่ปล่อยสินเชื่อ รวมถึงปัญหาตลาดคอนโดมิเนียมซบเซาจากโควิด-19 ทำให้มีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ลดกว่าครึ่งหนึ่ง ดีเวลอปเปอร์จึงหันมาพัฒนาสินค้าแนวราบกันมากขึ้น จนเริ่มเกิดภาวะล้นตลาดในบางทำเล
นายพรนริศกล่าวต่อว่า ภาพรวมซัพพลายในตลาดอสังหาฯยังถูกดูดซับได้ช้าลงจนกระทบถึงยอดขายช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ครึ่งปีหลัง 2564 ดีเวลอปเปอร์ 12 ราย เตรียมพัฒนาโครงการใหม่ 150 โครงการ มูลค่าการขายร่วม 2 แสนล้านบาท ตามเดิมแผนนั้นจะเข้ามาเติมซัพพลายในตลาดเพิ่ม อีกทั้ง แนวโน้มการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับราคา 1 ล้านบาทนั้น ยังต้องลุ้นต่อไปว่าหลังพัฒนาโครงการเสร็จอีก 1-2 ปีข้างหน้า สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยหรือไม่ ซึ่งตลาด อสังหาฯตอนนี้จำเป็นต้องรอการผ่อนปรนของสถาบันการเงินเท่านั้น ขณะเดียวกัน ตนมองว่าสถาบันการเงินก็ต้องปรับตัว เนื่องจาก FinTech ที่กำลังจะเข้ามา disruption ธุรกิจสถาบันการเงิน อาจทำให้คนยื่นขอสินเชื่อน้อยลงด้วย
นายพรนริศกล่าวอีกว่า มาตรการ LTV (กู้เงินซื้อบ้าน ไม่ต้องมีเงินดาวน์) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อควบคุมการเก็งกำไรหรือดีมานด์เทียมอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ โดยกำหนดเพดานการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย 70-90% ล่าสุดผ่อนคลายมาตรการแล้ว แต่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท กำลังสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ ทางสมาคมกำลังเจรจาขอให้ขยายเพดานสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา แต่จำกัดการลดค่าธรรมเนียมเฉพาะมูลค่า 3 ล้านบาทแรกเท่านั้น เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่อยู่ระดับราคา 3-5 ล้านบาท
นายพรนริศกล่าวว่า ตนยังมองถึงเทรนด์ Wellness Real Estate พัฒนาที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อสุขภาพ อาทิ ดีไซน์ ตัวอาคารให้ประหยัดพลังงาน ทิศทางของแสงและลม เป็นธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐและจีน รวมถึงกระแส Digital Asset เริ่มแปลงสินทรัพย์อสังหาให้อยู่ในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัล (Fractional Ownership of Real Estate) แบ่งซอยสินทรัพย์ออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วเสนอขยายเป็นโทเคนดิจิทัล (IFO) ให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการถือครองอสังหาฯได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรือรีสอร์ต ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.แล้ว และต้องติดตามกันต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน