โควิดระลอก3ทุบรับสร้างบ้านQ2อ่วมปัญหาขาดแรงงาน-ต้นทุนเหล็กขยับซ้ำ
”รับสร้างบ้านโอด โควิด-19 รอบ 3 ทุบตลาดไตรมาสที่ 2 ลูกค้าเลื่อนเซ็นสัญญา ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนเหล็กเส้นปรับตัวกระหน่ำ คาดครึ่งปีหลังตลาดสู่ภสภาวะปกติ
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสที่ 1 ปี 64 มีแววทิศทางกลับมาสดใสอีกครั้ง สังเกตจากยอดจองสร้างบ้านในงาน “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” กลางเดือน มี.ค. 64 ที่ผ่านมาซึ่งมียอดจองเข้ามา 2,100 ล้านบาท สูงกว่าเป้าเดิมที่วางไว้ 2,000ล้านบาท จากผู้ลงทะเบียนและเข้าชมงานทั้งสิ้นประมาณ 12,000 ราย
“ภาพธุรกิจที่เกิดในช่วงไตรมาสแรกเรามั่นใจว่าตลาดเริ่มที่จะฟื้นกลับมา ทุกอย่างกำลังไปได้สวยหลายบริษัทโตกว่าเป้า จนกระทั่งมีการระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 3 เกิดขึ้น ทำให้เกิดการชะลอตัวของกำลังซื้ออย่างชัดเจนหลายบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯนั้นมีลูกค้าขอเลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปก่อน ส่วนงานที่ทำสัญญาแล้วลูกค้าก็ขอให้ขยับการก่อสร้างออกไป ขณะที่ลูกค้าที่กำลังศึกษาข้อมูลก็ต้องชะงัก” นายวรวุฒิ กล่าว
สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ที่ระบาดรอบที่ 3 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีที่การระบาดอย่างหนักรอบนี้มีคนเสียชีวิตเยอะ ความเชื่อมั่นในการบริโภคลดลงคาดว่าตลาดน่าจะชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งกว่ารอบนี้จะสงบก็ต่อเมื่อมีการกระจายฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงซึ่งจะเริ่มที่ไตรมาสที่ 3 และหากไม่มีการระบาดรอบที่ 4 เกิดขึ้นทางสมาคมมองว่าครึ่งปีหลังตลาดรับสร้างบ้านน่าจะกลับมาเกือบเป็นปกติ ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดได้ดีเพียงใด
”ต้นทุนเหล็กเพิ่ม-ขาดแคลนแรงงาน” ซ้ำเติมปัญหา
นอกจากความเชื่อมั่นในการบริโภคลดลงหรือชะลอตัวอย่างชัดเจนแล้วบริษัทรับสร้างบ้านประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้มีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือ 1. การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้นและเหล็ก รูปพรรณเนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 63 ที่ผ่านมาและไม่มีทีท่าว่าจะลงมาอยู่ในราคาเดิมที่เคยเป็นอยู่ 2. การขาดแคลนแรงงานเนื่องจากภาวะโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 แรงงานต่างด้าวที่กลับไปประเทศไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก ซึ่งจะสามารถแก้ได้ด้วยการที่รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถเดินทางเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมายเมื่อสถานะการณ์โควิดดีขึ้น ส่วนแรงงานคนไทยเองที่กลับต่างจังหวัด (ตจว.) เมื่อช่วงสงกรานต์ก็ไม่เดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูกยกระดับเป็นสีแดงเข้ม
อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านในช่วงนี้บริษัทรับสร้างบ้านในสมาคมฯส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้น เพราะยังต้องการตรึงราคาให้กับผู้บริโภค โดยบริษัทรับสร้างบ้านเป็นผู้รับภาระดังกล่าวไว้แต่จะตรึงได้นานแค่ไหน คงต้องพิจารณากันอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านกล่าว
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา