รัฐงัดแผน ภาษี กระตุ้นศก

05 มี.ค. 2564 910 0

          แก้ก.ม.สางอุปสรรค จูงใจเอกชนลงทุน

          สุพัฒนพงษ์” เล็งลด ภาษีนิติบุคล แข่งอาเซียนดึงลงทุน พร้อมลดกฎหมายอุปสรรคการลงทุน เพิ่มอันดับ ความยากง่ายธุรกิจ ช่วยดันเศรษฐกิจ โตเกิน 4% หอการค้าต่างประเทศ หนุน ลดภาษีจูงใจลงทุน ททท.ลุ้นขยาย เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 เพิ่ม 2 ล้านสิทธิ

          หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่คลี่คลายลง ทำให้รัฐบาลต้องหันมา เร่งเครื่องการลงทุนที่จะเป็นอีกเครื่องจักร ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2564 เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4%

          นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้หารือกับหัวหน้าทีมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึง ทีมงานที่ออกไปรับฟังความเห็นนักธุรกิจทำให้ทราบปัญหาและอุปสรรคการลงทุน ในไทยที่ติดขัดกฎระเบียบที่ต้องแก้ไขจริงจัง รวมถึงต้องเปลี่ยนมาตรการ ทางภาษีบางส่วน เพื่อจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศ จะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 หลังจากที่ปี 2564 ยังให้น้ำหนักกับการประคองเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ

          ทั้งนี้ ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลกำลังพิจารณาว่าจะลดลง เพื่อให้แข่งขันได้กับประเทศที่เป็นคู่แข่งในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศกับไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งเวียดนาม โดยเรื่องนี้ ในสายตานักลงทุนมีการเปรียบเทียบกันอยู่แล้วจึงต้องมีการมาพิจารณาว่า จะมี การปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสม

          แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมานายสุพัฒนพงษ์ ได้หารือ แนวทางดึงการลงทุนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีแนวทางการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย โดยที่ผ่านมาการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมี 2 แนวทาง คือ 1.การลดภาษีเป็นการทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามีการลดเมื่อปี 2555-2556 จาก 30% ลงมาเหลือ 20% เพราะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อช่วยผู้ประกอบการ

          2.การลดภาษีเฉพาะธุรกิจที่ต้องการ ส่งเสริม โดยใช้ช่องทางของกรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เฉพาะธุรกิจ เช่นกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHO) กิจการที่ตั้งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

          เร่งลดอุปสรรคการลงทุน

          นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับ กฎระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคจะให้ความสำคัญกับเรื่องสำคัญที่เป็นการประเมินผลในการประเมินความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ซึ่งเรื่องนี้จะลงไปกำกับการแก้ไขคู่กับนายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เพื่อให้ได้ต้นแบบเรื่องที่จะผลักดันและจะนำต้นแบบไปผลักดันกับส่วนราชการ

          สำหรับประเด็นสำคัญ คือ การตรวจคนเข้าเมือง การขอวีซ่า และการต่ออายุ สมาร์ทวีซ่า รวมถึงขั้นตอนศุลกากรส่งออกนำเข้าซึ่งต้องปรับปรุงให้รวดเร็วขึ้น ซึ่ง ขั้นตอนในการทำเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัย ความร่วมมือกับหลายหน่วยงานคล้ายกับการวิ่ง 31 ขาที่เด็กเอาขามาผูกติดกัน ซึ่งความยากคือความพร้อมเพรียงกันในการเดินหรือวิ่งหากทำได้จะไปข้างหน้าได้เร็ว

          การแก้ไขกฎระเบียบอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการลงทุนไม่ใช่เรื่องที่จะตบมือร่วมกันแต่เป็นเรื่องของการวิ่ง 31 ขาเหมือนเด็กที่วิ่งเอาขามามัดกันนั่นแหละครับเราต้องวิ่งไปพร้อมกันวิ่งให้นานที่สุดอย่าให้ล้มแล้วต้องเร็วด้วยมันเป็นความท้าทาย ถามว่ายากไหมมันก็ยากเพราะมันเยอะมันต้องผูกขาติดกันแล้วทำให้พร้อมกันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจและวัตถุประสงค์เมื่อเข้าถึงเส้นชัยเราจะรู้สึกได้ว่าเราผ่านมาได้สำเร็จ”

          ย้ำเศรษฐกิจปีนี้โต 4%

          สำหรับกรณีที่คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่า จะขยายตัวเพียง 1-3% ในปีนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับตนเองยังคงต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 4% เรียกได้ว่า เป็นเป้าทำงานเพราะในปี 2564 ถ้าหากทำให้ เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4% ได้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจลบ 6.1% จะเหลืออยู่แค่ลบ 2% เท่านั้น และปี 2565 เศรษฐกิจ ขยายตัวจะฟื้นคืนขึ้นมาสู่ระดับเดิมได้

          “เรื่องเศรษฐกิจใครจะพูดอะไรก็พูดไปบอกว่าเศรษฐกิจปีนี้โตไม่ถึง 3% ก็เรื่องของเขา เรื่องอะไรผมต้องยอมให้ใครมา บอกว่าเศรษฐกิจจะโตเท่าไหร่ เพราะผมเห็นข้อมูลมากที่สุด ปลายปีที่แล้วเขาก็บอกว่าเราจะแย่ แต่เราต้องไม่ยอมรับ ขอย้ำว่า เป้าทำงานอยู่ที่ 4% ส่วนจะบอกว่าหักปากกาเซียนหรือไม่ ไม่รู้แต่ปีที่แล้วก็หักมาแล้ว”

          ทั้งนี้ เศรษฐกิจปี 2564 ต้องพึ่งการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวในประเทศ โดยรัฐบาลหวังว่าวัคซีนจะทำให้ความเชื่อมั่นประชาชนดีขึ้น ซึ่งใช้จ่ายและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหากเทียบปี 2562 ที่คนไทยเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท แต่ปี 2563 ลดเหลือ 6-7 แสนล้านบาทเท่านั้น หากปี 2564 ขอแค่เพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านบาท ให้ใกล้เคียงกับ 1 ล้านล้านบาทในปี 2562 และหากรวมกับการใช้จ่าย การบริโภค การส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตเพิ่มอีก 1% ไม่ใช่เรื่องยาก

          ทำงานเชิงรุกบริหารเศรษฐกิจ

          สำหรับมาตรการทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนการบริโภคและการท่องเที่ยว กำลังพิจารณาอยู่ในกรอบวงเงินกู้ฯ ที่เหลือ 2 แสนล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายเวลาหรือทำซ้ำบางมาตรการ ซึ่งไม่ได้มีแค่ผลผลิตทางเศรษฐกิจแต่ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชินกับดิจิทัลมากขึ้น

          “การบริหารเศรษฐกิจเมนูผมไม่เยอะแต่จะทำซ้ำในมาตรการที่ได้ผล เหมือนกับการดูหนังเรื่องเดอะ เมทริกซ์ 4 ตอนรวด พอจบแล้วก็ดูใหม่อีกรอบก็จะเป็นแบบนั้น”

          นายสุพัฒนพงษ์ ตอบคำถามประเด็น การทำงานช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ให้คะแนนเท่าใด ว่า “ที่ผ่านมาผมให้ความสำคัญกับการประคองและแก้ปัญหาต่างๆมาก ซึ่งหลังจากนี้จะปิดแล้วในเรื่องการประคองเศรษฐกิจ โดยเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหารือกัน ซึ่งมีมาตรการและกรอบดูแลอยู่แล้ว ส่วนระยะต่อไปเรื่องการบริหารเศรษฐกิจจะเริ่มทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการสร้างโอกาสดึงดูดการลงทุน แก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อนและอุปสรรคเพื่อดึงดูดการลงทุนเอกชนให้เข้ามามากขึ้น”

          ธุรกิจต่างชาติหนุนลดภาษี

          นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของนาย สุพัฒนพงษ์ ที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคลลงแข่งกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งไทยเก็บภาษีนิติบุคคลไทยสูงกว่าบางประเทศ โดยประเทศ พัฒนาแล้วมีมาตรการให้มีจำนวนผู้เสียภาษี มาก เพราะหากเสียภาษีสูงเกินไปอาจทำให้ เลี่ยงภาษีได้ ดังนั้นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยดึงดูดนักลงทุนมาไทยมากขึ้น โดยขณะนี้นักลงทุนสนใจมาลงทุนไทยอยู่แล้วและถ้าลดภาษีจะทำให้น่าสนใจลงทุนมากขึ้น

          ส่วนอัตราการเก็บภาษีจะเป็นเท่าใดขึ้นกับการพิจารณาของภาครัฐ ซึ่งหลายประเทศมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 15%

          นอกจากนี้ หอการค้าฯ เห็นว่าไทยควร เร่งมาตการ"บิซิเนส บับเบิล” ซึ่งมีนักธุรกิจที่ต้องการเดินทางมาติดต่อธุรกิจในไทยจำนวนมาก จึงควรลดเวลากักตัวหรือไม่ต้องกักตัวหากตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อ เดินทางมาถึงไทย จากเดิมที่ต้องกักตัว 14 วัน  ที่ทำให้เสียเวลา

          รวมทั้งที่ผ่านมานักธุรกิจหลายบริษัทจะแก้ปัญหาการทำงาน การติดต่อทางธุรกิจ โดยการใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาช่วย แต่งานบางส่วนทำไม่ได้ เช่น การซื้อเพื่อ การลงทุน การดูโรงงาน ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นน่าจะช่วยดึงนักลงทุนได้อีก

          ลุ้นขยายเที่ยวด้วยกันเฟส 3

          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วันนี้ (5 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ กลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะพิจารณาการขยายโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟสเพิ่มสิทธิจองห้องพักอีก 2 ล้านห้องใหม่ หลังจำนวนสิทธิ 6 ล้านห้องเดิมจากเฟส 1-2 ที่หมดเมื่อเดือน ก.พ.พร้อมขยายเวลาใช้สิทธิ ถึงเดือน ก.ค.2564

          เปลี่ยนจากเดิมที่ ททท.อยากให้ขยายถึงเดือน ก.ย. ซึ่งตรงกับระยะเวลาสิ้นสุดของ พรก.เงินกู้ฯ เนื่องจากต้องเผื่อเวลา 2 เดือนเพื่อสรุปงบการใช้จ่าย หากผ่านการพิจารณาของ สศช. จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า

          การขยายเฟส 3 จะช่วยกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19คลี่คลาย ซึ่งสถานการณ์จองห้องพักล่วงหน้าเดือน มี.ค.ยังไม่ค่อยมีเข้ามา เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลายรายรอใช้สิทธิ์หากเป็นไปได้อยากให้ประกาศทันวันหยุดภูมิภาคภาคเหนือวันที่ 26 มี.ค.นี้ และส่งโมเมนตัมการเดินทางที่ดีไปถึงช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์”
          เข้มป้องกันทุจริตมากขึ้น

          ทั้งนี้อาจเปลี่ยนแปลงรายละเอียด บางส่วนเพื่อป้องกันการทุจริต อาทิ ต้องจองล่วงหน้า 14 วัน เพื่อให้ตรวจสอบการจอง ห้องพักล่วงหน้าได้จริงหรือมีกลไกควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณ เช่น การเรียกเอกสารการใช้สิทธิเช็คอินจริงก่อนโอนเงินให้โรงแรม จากเดิมที่ธนาคารกรุงไทยจะโอนเงินเข้าระบบตามอัตโนมัติรวมถึงนำยอดจอง ห้องพักของโรงแรมมาเทียบกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในจังหวัด ซึ่งจะง่ายต่อการประเมินความผิดปกติการจอง

          ส่วนการคืนค่าตั๋วเครื่องบินในส่วนของรัฐช่วยจ่าย 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท จะยังคงดำเนินต่อไป โดยขณะนี้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายเงื่อนไขรัฐให้ช่วยจ่ายค่าตั๋วบินบุฟเฟต์ ซึ่งทำให้คนเดินทางง่ายและถี่ขึ้น ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย และไทยเวียตเจ็ท จัดโปรโมชั่นนี้ โดย ททท.มีแนวคิดให้การเดินทางโดยตั๋วบิน บุฟเฟต์ผูกกับการจองสิทธิห้องพักที่เข้าร่วมราเที่ยวด้วยกัน และให้นักท่องเที่ยวยื่นเรื่องขอเงินคืนค่าตั๋วบินบุฟเฟต์ได้แค่ครั้งเดียว

          สำหรับความคืบหน้าโครงการ “เที่ยวไทย วัยเก๋า” ได้ปรับเงื่อนไขและเปลี่ยนเป็น “ทัวร์เที่ยวไทย” เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายทุกวัยเริ่มตั้งแต่ 18 ปี โดยรัฐช่วยจ่าย 40% หรือไม่เกิน 5,000 บาท/คน ให้เดินทาง ผ่านบริษัททัวร์ในราคาแพ็คเกจขั้นต่ำ 12,500 บาท จำนวน 1 ล้านคน และจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ กลั่นกรองเงินกู้ฯ ด้วย

          ทั้งนี้จะกำหนดโควตาให้บริษัททัวร์ที่ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทยรับนักท่องเที่ยว ได้ 3,000 คนต่อ 1 บริษัท คาดว่าจะมี บริษัททัวร์ร่วมโครงการ 300 ราย ระยะเวลา 3 เดือน


 

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย