รฟท.ประมูล บางซื่อ 3แปลงรวด พัฒนาพท.ธุรกิจมูลค่า6หมื่นล้าน
รฟท.รับลูก “ศักดิ์สยาม” รื้อแผนพัฒนาที่ดิน 9 แปลงย่านบางซื่อ ดันประมูล 3 แปลงแรก A,E,G ในต้นปี 65 คาดมีมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้าน เร่งจ้างที่ปรึกษา ทำ market sounding ประเมินนักลงทุน ชูจุดเด่นติดสถานีกลางบางซื่อ ศักยภาพสูงด้านธุรกิจ
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.ได้ปรับแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 9 แปลง เนื้อที่ 2,325 ไร่ รอบสถานีกลางบางซื่อใหม่ ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ต้องการให้เร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง และการเปิดสถานีกลางบางซื่อ โดยครอบคลุมเรื่อง TOD ซึ่งจะเสนอแผนใหม่ต่อกระทรวงคมนาคมได้ในเดือน ก.พ.นี้
โดยแนวทางล่าสุดได้แบ่งพื้นที่ 9 แปลง ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม มี 5 แปลงโดยมี 3 แปลงที่จะนำออกประมูลได้ก่อน ในช่วงต้นปี65 เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดได้แก่ แปลง A ขนาด 35 ไร่ แปลง E (ย่านตึกแดง) พื้นที่ 79 ไร่ อยู่ติดสถานีกลางบางซื่อ ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงิน และสำนักงาน SCG แนวทางพัฒนาเป็นสำนักงาน เป็นศูนย์ราชการ และที่ทำการแห่งใหม่ของการรถไฟฯ และแปลง G (บ้านพักพนักงานรถไฟ กม. 11) พื้นที่ 270 ไร่ พัฒนาเป็นแหล่งที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม และที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งทั้ง 3 แปลง จะเป็นแหล่งอาคารสำนักงาน ทั้งส่วนราชการและเอกชน แหล่งที่อยู่ และแหล่งชอปปิ้ง ซึ่งจะสร้างปริมาณผู้โดยสารสนับสนุนรถไฟ สีแดง
ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่แต่ละแปลง มีความคืบหน้าไม่เท่ากัน จึงต้องปรับแผนใหม่ให้สอดคล้องกัน โดยแปลง A หลังจากที่ เปิดประมูลรอบที่สองแล้วไม่มีผู้สนใจยื่นประมูล รฟท.จะเร่งเสนอบอร์ด รฟท. ยกเลิกประมูลแปลง A รวมถึงเสนอไปยัง สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อยกเลิก PPP แปลง A ด้วย
ในขณะเดียวกันจะเสนอ บอร์ด รฟท.เพื่อขออนุมัติดำเนินการแปลง G และขอจัดจ้างที่ปรึกษา วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อทบทวนการศึกษาในการพัฒนาพื้นที่แปลง A E G ในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกัน ส่วนจะประมูลเป็นสัญญาเดียว หรือแยกสัญญาอย่างไร จะต้องทำ Market Sounding สำรวจความต้องการของนักลงทุน จึงจะสรุปแนวทางที่เหมาะสมได้
ตามไทม์ไลน์คาดว่า จะจัดทำรายงานการศึกษาและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ใน พ.ค.-ต.ค. 64 เสนอ บอร์ด รฟท. พิจารณา พ.ย.-ธ.ค. 64 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชน ช่วง มี.ค. 65 สรุปผลการคัดเลือก เม.ย. 66 เสนอผลการคัดเลือกลงนามสัญญา ต.ค. 66 จากนั้นจะเป็นการก่อสร้างและทยอยเข้าใช้ประโยชน์ คาดว่าใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้ง 3 แปลงได้เต็มตาม RFP ใน เม.ย. 70
ส่วนอีก 2 แปลง คือแปลง B พื้นที่ติดถนน และติดกับตลาดนัดจตุจักรเดิม และมีพวงราง ทำให้การพัฒนามูลค่าโครงการสูง เนื่องจาก ต้องสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ คร่อมรางรถไฟ จึงต้องมีการศึกษาทบทวนเพิ่มเติม และ แปลง D (ตลาดนัดจตุจักรเดิม) ยังติดสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งจะมีการพิจารณาตัดพื้นที่ที่ไม่ติดและมีความพร้อมออกมาทยอยเปิดประมูล ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับกลุ่มที่ 2 ยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากพื้นที่ยังมีการใช้งาน มี 4 แปลงได้แก่ แปลง C พื้นที่สถานีขนส่ง หมอชิต 2 โดยบขส.อยู่ระหว่างพิจารณาคืนพื้นที่บางส่วนให้ รฟท.ใช้ประโยชน์ แปลง F (ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ติดกับถนนเทอดดำริ) ติดโรงซ่อมรถจักรบางซื่อ โดยจะเร่งแผน ย้ายไปที่แก่งคอย ประมาณ 3-4 ปี และแนวทางรถไฟสายใต้, แปลง H มีโรงตรวจซ่อมวาระรถโดยสาร (LD Depot) และแปลง I มีโรงซ่อมรถไฟฟ้า CT (CT Depot)
โดยจากที่ นายศักดิ์สยาม ได้ประชุมติดตาม การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อได้มีการกำชับให้ รฟท.เร่งพัฒนา 4 แปลงหลังด้วย เพื่อให้เกิดการต่อเนื่องกับกลุ่มแรก นอกจากนี้ กรณีที่ส่วนราชการขอใช้พื้นที่นั้น ให้ รฟท.เป็นแกนหลักในการบูรณาการ เน้นการพัฒนาเป็น แนวสูง เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ตามการศึกษาแผนแม่บท พัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อแบบบูรณาการ 2,325 ไร่ โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ซึ่งแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 65, 70 และ 75 (ตามลำดับ) ประเมินวงเงินลงทุนไว้กว่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าการพัฒนาพื้นที่ แปลง A+E+G ออกประมูลพร้อมกันจะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยมีแนวคิด ในการรวมแปลง A มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และแปลง E 4.6 หมื่นล้านบาทเข้าด้วยกันเพราะอยู่ติดสถานีบางซื่อ และมีศักยภาพสูงเพื่อจูงใจนักลงทุน
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา