เดินหน้าศึกษาแทรมลาดกระบังปลุกโซนตะวันออก

26 ส.ค. 2564 626 0

         โควดสงบบีทีเอส-สจล.-บางกอกสมาร์ทการ์ดฯ เดินหน้าลงพ้นที่ศึกษาแทรมลาดกระบังรถไฟฟาล้อยางแห่งแรกในเมืองไทยเชื่อมโยงสถาบันการศึกษายันช่วงนี้ระบาดรุนแรงลงพ้นที่ลำบาก-คนบางตาคาดช่วยปลุกโซนตะวันออกคึกคักที่อยู่อาศัย-การเดินทางเข้าเมืองในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า

          รัฐและเอกชนร่วมมือพัฒนา ก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ทำให้การเดินทางในแต่ละวันสะดวกและง่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นแผนแม่บทในระบบขนส่งมวลชนทางรางที่กระทรวงคมนาคมต้องการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาบีทีเอสลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการระหว่าง บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด และสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาความเป็นไปได้นำรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) มาให้บริการครั้งแรกในไทย ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อพื้นที่สถานศึกษากับระบบขนส่งมวลชนหลัก รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางขนาดรอง

          นายสุรพงษ์  เลาะหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) ที่เชื่อมต่อพื้นที่ภายในสถาบันการศึกษา กับระบบขนส่งมวลชนหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่สถานีลาดกระบังร่วมกับบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการศึกษา เนื่องจากติดปัญหาสถาการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ คงต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน หากมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการของผู้ใช้บริการในช่วงนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะประชาชนไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางมากนัก โดยคาดว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวต่อไป

          “โครงการฯ นี้ บริษัทเป็นผู้ศึกษาให้กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เท่านั้น เบื้องต้นหากเริ่มมีการลงพื้นที่สำรวจจะต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย ส่วนจะให้ใครดำเนินการลงทุนก่อสร้างขึ้นอยู่กับ สจล. เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ”

          ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมมือ กับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก สมาร์ท การ์ด ซิสเทม จำกัด ซึ่งบริษัทฯทั้ง 2 แห่งนี้ที่เป็นเลิศทางด้านธุรกิจระบบขนส่งสาธารณะทางราง

          ทั้งนี้โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยให้การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวันดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางสัญจรภายในบริเวณสถาบันฯ และเขตชุมชนใกล้เคียง ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจากมีทางรถไฟวิ่งผ่านกลางสถาบันฯ มีผู้โดยสารเดินทางมาขึ้น-ลงจำนวนมาก ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับขี่ แทนการใช้ระบบขนส่งมวลชน ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดการสะสมมลพิษ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมภายในสถาบันฯ สุขภาพของนักศึกษา และประชาชนทั่วไป อีกด้วย

          โดยบีทีเอสได้มีแผนที่จะศึกษารูปแบบระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) ในเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ไว้จำนวน 2 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากสถานีลาดกระบัง-หัวตะเข้ ระยะทาง 4 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีพระจอมเกล้า และสถานีหัวตะเข้  ส่วนเส้นทางที่ 2 วิ่งรอบภายในพื้นที่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์  โดยจะใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะ ระบบ E-Payment และ Non-Payment ผ่านบัตรแรบบิท ที่สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

          ขณะเดียวกันทั้ง 2 เส้นทางจะต้องใช้รถรางไฟฟ้าล้อยาง จำนวน 4 ขบวน ในการให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่ใช้บริการภายในสถาบันฯ และประชาชนทั่วไป โดยรูปแบบการใช้บริการสามารถใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง และสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง

          ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และหากสามารถนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้จะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ปี โครงการนี้จึงจะเสร็จสมบูรณ์ และเป็นระบบรถรางไฟฟ้าล้อยางแห่งแรก ที่จะวิ่งในสถาบันการศึกษาของประเทศไทยและจะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่น ๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตได้

          ทั้งนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าโครงการศึกษาแทรมลาดกระบังจะสามารถศึกษาได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นได้เร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นแทรมล้อยางแห่งแรกใจกลางกรุงแน่นอน

          แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ระบุว่าหากมีแทรม ลาดกระบัง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จะช่วยเติมเต็มการเดินทาง รองรับกลุ่มสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ และชุมชนรอบข้าง เข้าระบบเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวก ส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นคึกคักขึ้น เกิดการขยับตัวของราคาที่ดินตามมาอีกด้วย

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย