10ตระกูลดังลงทุน3แสนล.โมเดลเจ้าสัวบุกอสังหา-มิกซ์ยูส
ส่องพอร์ตลงทุนอสังหาริมทรัพย์ 10 ตระกูลดังในยุคโควิดหว่านเม็ดเงินท่วม 3.2 แสนล้านบาท ครบทั้งที่อยู่อาศัย-มิกซ์ยูส โปรเจ็กต์ทั่วไทย “สิริวัฒนภักดี” ถือคติยิ่งวิกฤตยิ่งลงทุน “จิราธิวัฒน์” มาฟอร์มใหญ่วาดแผน 5 ปี ลงทุนเพิ่ม 1.2 แสนล้าน ทายาท “ลิปตพัลลภ-มหากิจศิริ-โชควัฒนา-เอี่ยมสกุลรัตน์” ดึงพันธมิตรต่างชาติการันตีความสำเร็จ “นิธิวาสิน” ทุบทิ้ง 2 โรงแรมย่านสีลมสร้างใหม่ “กลุ่มแหลมทองสหการ” แลนด์แบงก์หมื่นล้านย่านรัชดาฯดอดลงทุนออฟฟิศสีลม
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ DNA จำกัด ธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อัพเดตความเคลื่อนไหวลงทุนพัฒนาที่ดินในสถานการณ์โควิด (2563-2565) พบว่า กลุ่มทุนตระกูลดังยังคงเดินหน้าลงทุนใหม่อย่างคึกคัก ท่ามกลางบรรยากาศที่ดีเวลอปเปอร์เลือกที่จะชะลอการก่อสร้างและพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยออกไปก่อน เพื่อรอภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อฟี้นตัวหลังยุคโควิด
โมเดลเจ้าสัวยิ่งวิกฤต-ยิ่งลงทุน
ทั้งนี้ มีหลายครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ยังเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จากการรวบรวมข้อมูล 10 ตระกูลนักธุรกิจพบว่า มีมูลค่าลงทุนรวมกันมากกว่า 3.2 แสนล้านบาท กระจายทำเลลงทุนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด (ดูกราฟิกประกอบข่าว)
ในด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยทางผู้ประกอบการหรือดีเวลอปเปอร์ที่แข็งแรงมีการลงทุนเปิดตัวบ้านและคอนโดมิเนียมโครงการใหม่เป็นปกติ แม้ว่าในภาพรวมของตลาดจะมีจำนวนโครงการลดลงจากผลกระทบสถานการณ์โควิด แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผู้ประกอบการที่มีครอบครัวหรือตระกูลดังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง กลับเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่องในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
โดยเหตุผลหลักมาจาก 1.ยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งต้องลงทุน เพราะพวกเขามองว่าช่วงนี้มีความเหมาะสม ที่สุดในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะความได้เปรียบด้านการเงินที่มีเงินทุนแข็งแกร่ง ทำให้สามารถจัดซื้อจัดจ้าง ในต้นทุนที่ถูกลงกว่าช่วงเศรษฐกิจเฟ่องฟู 2.มีข้อได้เปรียบในด้านการได้รับพื้นที่นำเสนอข่าวค่อนข้างมากและยาวนาน 3.เป็นการนำที่ดินในมือมาทำประโยชน์เพื่อลดแรงกดดันจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีภาระจ่ายภาษีที่ดินเปล่าแพงที่สุดอยู่ที่ 0.3-1.2% หรือล้านละ 3,000-12,000 บาท
จิราธิวัฒน์ลงทุน 1.2 แสนล้าน
รายละเอียดมีดังนี้ 1.กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งเพิ่งประกาศแผนขับเคลื่อนอนาคตเดินหน้าเปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าใหม่ ๆ ต่อเนื่องในยุคโควิด ด้วยมูลค่าลงทุน 120,000 ล้านภายใน 5 ปี ล่าสุด CPN เข้าไปเช่าที่ดินพื้นที่ Block A สยามสแควร์ เนื้อที่ 7 ไร่ 31 ตารางวาจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงหนังลิโด้เดิม) สัญญาเช่า 30 ปี มูลค่า 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก แม้ว่าปัจจุบันยังคงเงียบอยู่
นอกจากนี้ CPN ได้ประกาศแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสมีทั้งพื้นที่ ค้าปลีก อาคารสำนักงาน โรงแรม และที่อยู่อาศัยใน 27 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยหัวหอกการลงทุนธุรกิจที่อยู่อาศัยทำในนามบริษัท ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด
สิริวัฒนภักดีผงาดลงทุนไม่ยั้ง
2.บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ของตระกูลสิริวัฒนภักดี มีเมกะโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคือโครงการวัน แบงค็อก มูลค่า 120,000 ล้านบาท พัฒนาในนามกลุ่มเฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง ในขณะที่พอร์ตลงทุนของ AWC ในยุคโควิด อาทิ
เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เดสทิเนชัน ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องจากเอเชียทีค ปัจจุบัน มีโรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ 124 ห้อง โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ 1,000 ห้อง และเซอร์วิส เรสซิเดนซ์แบรนด์ ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนซ์ 180 ห้อง รวม 1,304 ห้อง บริหารโดยเครือแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นโรงแรมออโตกราฟ คอลเลคชั่น ในเครือแมริออท มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท
”เอเชียทีค ดิสทริก พัทยา” โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ มีพื้นที่ค้าปลีก โรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเดดเรซิเดนซ์ 2 แบรนด์ อาทิ เวลเนส รีทรีต เดสติเนชั่นที่จะร่วมมือกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และชีวาศรม, คอมมิวนิตี้มอลล์ และสวนสนุกแบบอินดอร์ธีมปาร์ก ได้แก่ อควอเรีย (Aquaria) และเลโก้แลนด์ ลงทุนเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท 1.4 เวิ้งนครเขษม มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ มีทั้งโรงแรม พื้นที่ค้าปลีก 25,000 ตารางเมตร อาคารชุดให้เช่าระยะยาว 122 ยูนิต และจะมีการสร้างเจดีย์เพื่อเป็นแลนด์มาร์กและเพิ่มความน่าสนใจให้กับโครงการในอนาคต มูลค่าลงทุน 16,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ AWC ยังมีการเข้าซื้อกิจการโรงแรมและลงทุนก่อสร้างโรงแรมใหม่ ๆ ต่อเนื่องเช่นกัน
บีทีเอส-เจียรวนนท์ต่อยอดลงทุน
3.บีทีเอสกรุ๊ปของนายคีรี กาญจนพาสน์ ธุรกิจสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถึงแม้ก่อนหน้านี้ บริษัทในเครือคือ บมจ.ยูซิตี้ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่งในยุโรป มีการประกาศเลิกลงทุน อสังหาฯ และขายโรงแรมทั้งหมดในยุโรปในปี 2564 แต่การลงทุนอสังหาฯ ในประเทศไทยยังเดินหน้าต่อไป ปัจจุบันกำลังพัฒนาอาคารสำนักงานทำเลติดสถานีรถไฟฟ้าพญาไท ล่าสุดช่วงปี 2564-2565 มีโครงการร่วมทุนกับบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หลายโครงการ โดยในปี 2565 มีคอนโดมิเนียมร่วมทุน 3 โครงการ และคาดว่าภายในธันวาคม 2565 นี้จะลงทุนเพิ่มเติมอีก
4.ตระกูลเจียรวนนท์ แบ่งการลงทุนในพอร์ต MQDC-บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น โดยปีนี้มีการเปิดตัวโครงการใหม่คือ “CLOUD 11” มิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนถนนสุขุมวิท ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข อยู่ฝั่งตรงข้ามทรูดิจิทัล พาร์ค หรือ 101 The 3rd Place พัฒนาบนที่ดิน 27 ไร่ คาดว่ามูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดย MQDC มีเมกะโปรเจ็กต์ที่ลงก่อนต่อเนื่องก่อนหน้านี้คือ The Forestias บนถนนบางนา-ตราด กม.7 มูลค่า 125,000 ล้านบาท และเตรียมลงทุนอภิโปรเจ็กต์เพิ่มเติมในพัทยา
อีกพอร์ตการลงทุนทำในนามบริษัท ซี.พี.แลนด์ ล่าสุด มีแผนลงทุน 5 ปี (2565-2569) พัฒนาโรงแรมใหม่ 39 แห่ง เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท โฟกัสตลาดบัดเจตโฮเทล 30 แห่งภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน ดี-ฟอร์จูน ดี พลัส” ห้องพักไม่เกิน 79 ห้อง กระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ
ทายาทมหากิจศิริ-ลิปตพัลลภลุย
5.บริษัท นารายณ์ โฮเต็ล จำกัด ของตระกูลนิธิวาสินเจ้าของโรงแรมนารายณ์ โรงแรมนารายณ์ และทริปเปิ้ล ทู บนถนนสีลม เคลื่อนไหวลงทุนรอบใหม่เมื่อต้นปี 2565 ด้วยการประกาศปิดและทุบโรงแรม 2 แห่งบนถนนสีลม เพื่อสร้างใหม่บนที่ดินเดิมขนาด 6 ไร่ มี 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 โรงแรมนารายณ์ 200 ห้อง ส่วนที่ 2 โรงแรม 6 ดาว 100-150 ห้อง ส่วนที่ 3 พื้นที่ส่วนกลาง 7,000 ตารางเมตร เป็นส่วนของร้านค้าและพื้นที่ สีเขียว คาดว่าลงทุน 10,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 2569
6.บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ธุรกิจร่วมทุนของทายาทตระกูลมหากิจศิริ เจ้าของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กับพันธมิตรจากญี่ปุ่น บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ (KRD) และบริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น (TCC) พัฒนาคอนโดฯโครงการเดียวมูลค่า 8,000 ล้านบาทบนถนนสาทร และลงทุน 2 โครงการบ้านเดี่ยวทำเลศรีนครินทร์และกรุงเทพกรีฑา
7.บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ของตระกูลลิปตพัลลภ เพิ่งเปิดตัวคอนโดฯใหม่ในหัวหิน มูลค่า 2,290 ล้านบาท และมีอีก 1-2 โครงการที่คาดว่าทยอยเปิดตัวในปี 2565-2566 ในกรุงเทพฯ และอาจเป็นโครงการที่อยู่ในทำเลซอยคอนแวนต์กับพระราม 3 นอกจากนี้มีพอร์ตลงทุนของครอบครัวในนามพราวกรุ๊ป ลงทุนโรงแรม สวนน้ำในหัวหิน ล่าสุดเปิดเพิ่มในภูเก็ตแบรนด์ “อันดามันดา ภูเก็ต” มูลค่า 4,500 ล้านบาท
โชควัฒนา-แหลมทองบุกออฟฟิศ
8.บริษัท สห แคปปิตอล ทาวเวอร์ จำกัด ในเครือสหพัฒนพิบูลของตระกูลโชควัฒนา เริ่มขยับลงทุนมากขึ้นในปี 2564 เปิดตัวโครงการอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ “KingBridge Tower” บนถนนพระราม 3 มีพื้นที่อาคารรวม 85,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 6 ไร่ ลงทุน 6,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 2567 รวมทั้งมีการลงทุน อสังหาฯในศรีราชา และโรงเรียนนานาชาติบนถนนพระราม 3 อีกด้วย
9.บริษัท แหลมทอง สหการ จำกัด ของตระกูลคณาธนะวนิชย์ และเป็นแลนด์ลอร์ดที่ดินผืนใหญ่ 24 ไร่บนถนนรัชดาภิเษกมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านบาท เน้นสร้างอาคารสำนักงาน มีโครงการกำลังจะสร้างเสร็จคือ “วานิชเพลซ อารีย์” พื้นที่อาคาร 33,000 ตารางเมตร ความเคลื่อนไหวล่าสุดเข้าซื้ออาคารบุญมิตร ซึ่งเป็นสำนักงานดั้งเดิมบนถนนสีลม อายุ 44 ปี บนที่ดิน 3-2-91.51 ไร่ในราคาตารางวาละ 3.2 ล้านบาท มูลค่า 4,200 ล้านบาท คาดว่าจะพัฒนาเป็นสำนักงานรูปแบบสมัยใหม่ โดยรูปแบบและมูลค่าลงทุนยังไม่เปิดเผย
สุดท้าย 10.เคอี กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์ เจ้าของโครงการบ้านหรูและคอมมิวนิตี้มอลล์ย่านเอกมัย-รามอินทรา โดยร่วมทุนกับบริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการเนอวานา บียอนด์ พระราม 9-กรุงเทพกรีฑา มูลค่า 2,600 ล้านบาท
JV พันธมิตรญี่ปุ่นโตไปด้วยกัน
นางสาวอุษณา มหากิจศิริ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พอร์ตอสังหาริมทรัพย์แบ่งลงทุนในนาม TTA ซึ่งมีบริษัทลูกคือบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ เนื่องจากมองเห็นสัญญาณบวกจากการฟี้นตัวหลังยุคโควิดและมาตรการกระตุ้น อสังหาฯของรัฐบาล โมเดลธุรกิจจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นคือ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (KRD) และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง บริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด (TCC) โครงการแรกคอนโดฯลักเซอรี่แบรนด์ “125 สาทร” มูลค่า 8,000 ล้านบาท
อีกพอร์ตเป็นธุรกิจครอบครัว โดยนางสาวอุษณาเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะเนสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (The Nest) ร่วมมือกับ KRD พัฒนาบ้านแนวราบทำเล 2 ฝั่งถนนกรุงเทพกรีฑาและศรีนครินทร์ ซึ่งมีแลนด์แบงก์ 70 ไร่ มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท โดยเปิดตัวบ้านเดี่ยวแบรนด์ “แอรี่ ศรีนครินทร์-กรุงเทพกรีฑา” เจาะกำลังซื้อไฮเอนด์ ราคาเริ่มต้น 16.9 ล้านบาท ในอนาคตมีแผนจัดซื้อที่ดินเพิ่ม 3 แปลงภายในปี 2565 นี้ ตั้งเป้าทำยอดขาย 10,000 ล้านบาท
เซ็นทรัลชู คอนโดฯติดห้าง
ร.อ.กรี เดชชัย President, Residential Business บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เปิดเผยว่า CPN มีแผนลงทุน 120,000 ล้านบาทใน 5 ปี (2565-2569) โดยแตกไลน์ธุรกิจที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการมิกซ์ยูสที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ CPN ก่อนหน้านี้มีการเติบโตตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2564) สร้างรายได้รวมเกิน 10,000 ล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ภายในปี 2569 ธุรกิจที่อยู่อาศัยวางแผนขยายเพิ่ม 50 โครงการ สร้างอัตราเติบโต เฉลี่ยปีละ 20% พัฒนาโครงการครอบคลุม 27 จังหวัด มากกว่า 70 โครงการ และมีลูกบ้านเซ็นทรัล 20,000 ครอบครัว
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ