โรงเรียนเอกชนเร่ขายที่ดิน เหตุขาดทุนต่อเนื่องหลังเด็กเข้าระบบการศึกษาน้อย อสังหาฯสบช่องจ่อซื้อพัฒนาคอนโดฯ
อสังหาริมทรัพย์
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่หลายแห่ง ทั้งเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ และโรงเรียนนานาชาติที่ขยายสาขาหลังจากที่มีอยู่ปัจจุบันมีขนาดเล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือว่าซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการทางการศึกษาในกรุงเทพมหานครยังคงมีอยู่ แต่ก็สวนทางกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการที่ออกข่าวว่ามีโรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศไทยยื่นขอเลิกกิจการจำนวนมาก
โดยคาดว่ามีโรงเรียนเอกชนในระบบปิดกิจการไปแล้วกว่า 43 แห่งในปี พ.ศ. 2564 ถ้ารวมกับช่วงก่อนหน้านี้ 2-3 ปีน่าจะอีกหลายร้อยแห่ง และมีอีกหลายแห่งที่กำลังจะยื่นขอปิดกิจการอีกจำนวนไม่น้อย โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจปิดกิจการโรงเรียนเอกชนโดยเฉพาะในระดับสามัญศึกษาหรือตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมปลาย คือ เรื่องของจำนวนนักเรียนที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อรายได้ของโรงเรียน และมีผลต่อการดำเนินกิจการของโรงเรียนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของโรงเรียนเอกชนที่ประสบกับการขาดทุนต่อเนื่องในช่วงหลายปีก่อน
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนเอกชนจำนวนมากประสบกับปัญหาขาดทุน คือ จำนวนเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาลดลงจำนวนประชากรไทยที่เกิดใหม่ในปี พ.ศ. 2564 ลดลงจากปี พ.ศ. 2554 ประมาณ 251,530 คน และลดลงจากปี พ.ศ. 2544 ประมาณ 221,530 คน เท่ากับว่าช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาเด็กหายไปจากระบบการศึกษา 221,000-251,530 คน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อโรงเรียนทุกประเภท แต่โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบมากกว่าโรงเรียนของรัฐบาล เพราะไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เจ้าของกิจการโรงเรียนเอกชนหลายแห่งทยอยปิดกิจการมาต่อเนื่องในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากเรื่องของรายได้ที่ลดลงจากจำนวนนักเรียนที่ลดลงเพราะย้ายไปเรียนในระบบการศึกษา แบบนานาชาติมากขึ้น รวมไปถึงโรงเรียนบางประเภท ที่เสื่อมความนิยมหรือไม่ได้รับความสนใจแบบในอดีตอีกแล้ว เช่น การเรียนการสอนสายช่างหรือวิชาชีพต่างๆ และสายพาณิชยกรรม
ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนระดับต่างๆ ที่อยู่ในแนว เส้นทางรถไฟฟาที่ประสบปัญหาขาดทุนหรือหาผู้สืบทอดกิจการไม่ได้ตัดสินใจขายที่ดินออกมาค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เมื่อเส้นทางรถไฟฟาเปิดให้บริการ เพราะขนาดที่ดินของโรงเรียนค่อนข้างใหญ่และอยู่ในชุมชนที่มีคนจำนวนมากอาศัยอยู่ และเมื่อมีเส้นทางรถไฟฟาเปิดให้บริการยิ่งเพิ่มศักยภาพของที่ดินให้สูงขึ้นจากในอดีต บางโรงเรียนเปิดกิจการมายาวนานกว่า 20-30 ปี แต่เมื่อทายาทไม่ต้องการรับช่วงกิจการต่อ หรือจำนวนนักเรียนลดน้อยลงจากปัญหาต่างๆ การเลิกกิจการและขายที่ดินออกไปจึงกลายเป็นเรื่อง ที่เห็นได้ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเมื่อครบสัญญาเช่าที่ดินแล้วเจ้าของที่ดินไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดิน
เนื่องจากต้องการขายที่ดินออกไปก็มี เพราะจากได้รับข้อเสนอในเรื่องของราคาที่ดินที่น่าสนใจ เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ดินเหล่านี้เป็นโรงเรียนมายาวนานกว่า 20-30 ปีหรือมากกว่านั้น ตั้งแต่ราคาที่ดินยังต่ำๆ จนถึงวันที่ราคาที่ดินสูงเกินกว่า 100,000-150,000 บาทต่อ ตารางวาสำหรับที่ดินในซอยตามแนวเส้นทางรถไฟฟา ไปจนถึง ตารางวาละ 1 ล้านบาทหรือมากกว่านั้นในหลายๆ ทำเลซึ่งเป็นราคาที่ดินในช่วง 10-20 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของโรงเรียนเอกชนจำนวนมากตัดสินใจยกเลิกกิจการโรงเรียนแล้วขายที่ดิน ซึ่งการขายหรือปล่อยเช่าที่ดินออกไปให้กับเจ้าของใหม่มีทั้งเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากเดิมไปเป็นโครงการอีกรูปแบบหนึ่งเลย หรือเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนเป็น การเรียนการสอนแบบนานาชาติแทน
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนเอกชนอีกหลายแห่งที่ปิดกิจการไปนานกว่า 10 ปีหรือมากกว่านั้น แต่ยังคงสภาพอาคารไว้เช่นเดิมไม่ได้รื้อถอนอาคารออกไป เพราะว่าสัญญาเช่าที่ดินยังคงเหลืออยู่กับเจ้าของที่ดิน เพียงแต่ปรับการใช้ประโยชน์อาคารไม่ได้ เนื่องจากสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินอาจจะระบุว่าเช่าที่ดินเพื่อทำเป็นโรงเรียนเท่านั้น ไม่สามารถปรับเป็นอาคารเพื่อการใช้ประโยชน์แบบอื่นได้ อาจจะมีโรงเรียนเอกชนบางแห่งที่ปิดกิจการไปแล้ว และปรับให้พื้นที่จอดรถของโรงเรียนเป็นที่จอดรถเอกชนที่รับจอดรถรายวันหรือรายเดือน หรือปล่อยเช่าลานจอดรถของโรงเรียนเพื่อให้ผู้ประกอบการเรื่องที่จอดรถเข้ามา บริหารพื้นที่แทน ส่วนของห้องเรียนหรืออาคารบางส่วนอาจจะปรับให้เช่าเป็นสำนักงานขนาดเล็กหรือที่เก็บของ ซึ่งยังเป็นการสร้างรายได้อีกรูปแบบหนึ่งทดแทนการขาดรายได้จากการเปิดรับนักเรียนไปได้ รวมไปถึงการปล่อยเช่าเป็นโรงเรียนสอนภาษาหรือสอนเสริม สอนพิเศษไป แต่ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาโรงเรียนสอนภาษา สอนพิเศษก็ทยอยยกเลิกสัญญาเช่า เพราะไปเน้นสอนออนไลน์หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเช่าอาคารอีกต่อไป
การขายที่ดินของโรงเรียนเอกชนในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นในทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟาซะเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าอาจจะดูแล้วไม่เยอะมาก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีการเลิกกิจการของโรงเรียนเอกชนจำนวนไม่น้อยจริง อีกทั้งมีหลายโรงเรียนที่ปิดกิจการไปแล้วแต่ไม่ได้ซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ยังคงเก็บที่ดินไว้กับครอบครัวหรือเจ้าของที่ดินยังไม่อยากขายออกมาในช่วงที่ผ่านมา หรือเปลี่ยนเป็นโรงเรียนอีกรูปแบบที่สอดคล้องกับปัจจุบันมากกว่า ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมายังคงเห็นข่าวการปิดตัวของโรงเรียนเอกชนหลายระดับการศึกษาต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด แม้ว่าหลายโรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอนมายาวนานกว่า 50 ปีก็ตาม เพราะราคาที่ดินที่สูงขึ้นในหลายๆ ทำเลทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สวนทางกับรายได้ของโรงเรียนเอกชนที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในอนาคต เชื่อว่าที่ดินที่เคยเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบการศึกษาระดับต่างๆ จะทยอยเปลี่ยนมือมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อไม่ได้เป็นโรงเรียนยกเลิกใบอนุญาตแล้วก็ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นแรงกดดันใหม่ให้กับเจ้าของที่ดินที่เคยเป็นโรงเรียนเอกชนมาก่อน อีกทั้งหลายโรงเรียนที่เคยเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในอดีตก็อาจจะแค่รอเวลาที่เหมาะสมเท่านั้นในการเลิกกิจการ เนื่องจากรายได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการแล้ว โรงเรียนเอกชนที่มีที่ดินใหญ่โต มีหลายอาคาร อาจจะให้เช่าที่ดินหรืออาคารบางส่วนกับบุคคลหรือเอกชนรายอื่นๆ เพื่อหารายได้ รวมไปถึงถ้าเจ้าของโรงเรียนมีโรงเรียนในเครือหลายแห่งและหลายระดับการศึกษา อาจจะมีการรวมนักเรียนเข้าไว้ที่เดียวกัน หรือให้นักเรียนจากอีกระดับการศึกษาที่ยังมีจำนวนนักเรียนเยอะอยู่มาใช้อาคารของโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนลดน้อยลงไป เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้หมุนเวียนในองค์กร ทิศทางของโรงเรียนเอกชนในประเทศไทยทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาคงต้องปิดกิจการกันมากกว่าที่ผ่านมาแน่นอน เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง และมีทิศทางที่ลดลงแน่นอนในอนาคต จำนวนเด็กนักเรียนเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ลดน้อยลงเช่นกัน แม้ว่าอาจจะมีเด็กต่างประเทศเข้าเรียนในประเทศไทยมากขึ้น ก็คงไม่สามารถทดแทนหรือสร้างรายได้ให้กับเจ้าของกิจการโรงเรียนเอกชนให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
Reference: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา