แบงก์เล็กอัดแคมเปญเงินฝาก ดอกเบี้ยสูงสกัดเงินไหลออก

19 Aug 2022 456 0

 

          แบงก์พาณิชย์กลาง-เล็ก-แบงก์รัฐ พาเหรดออกแคมเปญเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ สกัดเงินไหลออกจากแบงก์ หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขณะที่ยังตรึงดอกกู้ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง KKP ส่งเงินฝากประจำพิเศษ 17 เดือน จ่ายดอกเบี้ยสูง 1.35% ต่อปี ฟากแบงก์ใหญ่อั้นไม่ขึ้นทั้งสองขาถึงไตรมาส 4

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี สมาคมธนาคารไทย (TBA) ออกมาส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย  โดยจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผล กระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้แบงก์พาณิชย์ออกมาประกาศว่า จะพยายามตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ ซึ่งต้องไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากด้วย เพราะจะกระทบต้นทุนการเงินของแบงก์ อย่างไรก็ดีพบว่าขณะนี้มีแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงธนาคารของรัฐออกแคมเปญดอกเบี้ยเงินฝากในบางผลิตภัณฑ์

          ออกเงินฝากประจำพิเศษ

          นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้ จะเห็นธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กมีการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ ที่มีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการเงินการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank) ได้ปรับเพิ่มขึ้น จึงต้องปรับดอกเบี้ยเงินฝากเฉพาะแคมเปญพิเศษ เพื่อดึงเงินฝากไว้ไม่ให้ไหลออกจากแบงก์

          นอกจากนี้การออกแคมเปญช่วงนี้ ยังเป็นจังหวะที่ดีในช่วงที่ตลาดการลงทุนมีความผันผวน ส่งผลให้ลูกค้าหันมาพักเงินในเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงแทน เป็นการทดแทนลูกค้าบางกลุ่มที่ดึงสภาพคล่องเงินฝากไปใช้ในช่วงเศรษฐกิจผันผวน

          ”ตอนนี้จะไม่เห็นการปรับดอกเบี้ยเงินฝากแบบหน้ากระดาน แต่จะเห็นแบงก์กลางและเล็กรวมถึงแบงก์รัฐเริ่มปรับดอกเบี้ยในกลุ่มเงินฝากพิเศษขึ้น โดยบางแห่งก็ขึ้น 0.30% ส่วนแบงก์ใหญ่ไม่มี”

          สำหรับซีไอเอ็มบีไทย ปัจจุบันธนาคารมีแคมเปญเงินฝากประจำ 24 เดือน ดอกเบี้ย 1.9% ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบ กับในระบบ ซึ่งจะหมดโครงการ 31 ส.ค. 2565 ส่วนทิศทางดอกเบี้ยเงินฝากในระยะ ข้างหน้าของธนาคารจะดูแนวโน้มตลาด ต้นทุนการเงิน และคู่แข่งในตลาดเป็นหลัก โดยเป้าหมายการระดมเงินฝากในปีนี้อยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท จากต้นปี อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท คิดเป็นเงินฝากเพิ่มขึ้นสุทธิราว 1.7 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 15% เทียบกับปีก่อน

          แบงก์ใหญ่อั้นยาวถึง Q4

          นายเอกสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของธนาคารขนาดใหญ่อาจจะไม่เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเงินฝากมากนัก เนื่องจากโครงสร้างเงินฝากของ ธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นจะเป็นภาระต้นทุนมหาศาล เพราะขาเงินกู้ไม่สามารถปรับขึ้นได้ จึงคงดอกเบี้ยออมทรัพย์ไว้ก่อน เพื่อรอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตระกูล M คือทั้งดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) และดอกเบี้ยลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชี (MOR)

          ”คาดว่าจะเริ่มเห็นธนาคารใหญ่ทยอยปรับดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 4/65 หรือต้นไตรมาส 1/66 หลังจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนไหว ตามโครงสร้างต้นทุนของแต่ละธนาคาร”

          จ่ายดอกสูงสกัดเงินไหลออก

          สอดคล้องกับ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ช่วงก่อน กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารได้ออก โปรดักต์เงินฝากออมทรัพย์ “Plus Savings” ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.25% ต่อปี (ฝากถึง 1 มี.ค. 2567) เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1.47% ต่อปี ซึ่งรับเปิดบัญชีและรับฝากเพิ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.นี้เท่านั้น โดยลูกค้าสามารถ เปิดบัญชีขั้นต่ำตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป

          ”เงินฝากดอกเบี้ยพิเศษดังกล่าวออกมาเพื่อไม่ให้เงินไหลออก เพราะช่วง กนง.กำลังจะขึ้นดอกเบี้ย เงินก็เริ่มไหลออก เพื่อไปรอดอกเบี้ยแพง” นายฉัตรชัยกล่าว

          นอกจากนี้ ล่าสุด ช่วงวันแม่ปี 2565 ธอส.ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ “เงินฝากออมทรัพย์วันแม่” ให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.00% ต่อปี ตั้งแต่วันที่เปิดบัญชีถึงวันที่ 14 ก.พ. 2567 โดยบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษี เปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค. 2565 โดยกรอบวงเงินรับฝากจำกัดที่ไม่เกิน 50,000 ล้านบาทเท่านั้น

          แห่ออกแคมเปญเงินฝากพิเศษ

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่มีการให้ดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษ นอกจาก ธอส. แล้วก็มีธนาคารออมสิน ที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนและ 6 เดือน  โดยปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.15% และเงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.20% รวมถึงเงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือนปรับขึ้น 0.30% เพื่อช่วยส่งเสริมการออม

          รวมถึงธนาคารออมสินยังมีผลิตภัณฑ์ “ดอกเบี้ยสูงโดนใจ ไม่เสียภาษี กับเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ” ได้แก่ พิเศษ 5 จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบ 5 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.40% ต่อปี เทียบเท่าเงินฝากประจำ 0.47% ต่อปี และพิเศษ 10 จ่ายดอกเบี้ยเมื่อฝากครบ 10 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.45% ต่อปี เทียบเท่าเงินฝากประจำ 0.52% ต่อปี

          ฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็มีธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากพิเศษ “ttb up & up” ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุก 6 เดือน และได้รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยปรับดอกเบี้ยสูงสุดจาก 1.6% เป็น 1.8% มีผล ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 และมีแผนปรับ ยอดเงินฝากขั้นต่ำจาก 1 แสนบาท เป็น 5,000 บาท เพื่อให้ลูกค้าทั่วไปมีทางเลือกในการออมเงินบัญชีดอกเบี้ยสูงนี้ได้ โดยจะเริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้

          ขณะที่ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ออกแคมเปญ “เงินฝากประจำพิเศษ 17 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี” เปิดรับฝากตั้งแต่ 10-31 ส.ค. 2565 หรือจนกว่ายอดเงินฝากจะครบโครงการที่ 2,700 ล้านบาท

          นอกจากนี้ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ออกแคมเปญ “เงินฝากประจำพิเศษ 17 เดือน รับดอกเบี้ยสูง 1.35% ต่อปี หรือเงินฝากประจำพิเศษ 14 เดือน ดอกเบี้ยสูง 1.30% ต่อปี

          และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) ที่ออกแคมเปญ “เงินฝากประจำพิเศษดอกเบี้ยแรงโดนใจ” ระยะ 15 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อปี และอายุ 12 เดือน ดอกเบี้ย 1.20% ต่อปี

          ดบ.ออมทรัพย์ปรับขึ้นปีหน้า

          นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันเงินฝากผ่านการปรับดอกเบี้ยขึ้นยังไม่รุนแรง เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังคงสูง แม้ว่าในเดือน มิ.ย.สภาพคล่องจะปรับลดลงบ้าง แต่ยังสูงเมื่อเทียบก่อนช่วงโควิด-19

          แม้ว่าในช่วงนี้จะเห็นธนาคารกลางและเล็กมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝาก แต่จะเป็นการปรับในบางผลิตภัณฑ์ หรือบางกลุ่มลูกค้า เช่น การปรับดอกเบี้ยเงินฝากแคมเปญพิเศษ หรือการออกเพื่อชดเชยเงินฝากที่ครบกำหนด เป็นต้น ส่วนการปรับดอกเบี้ยออมทรัพย์จะยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ไม่ได้มีการปรับชัดเจน เพราะจะต้องรอให้ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับด้วย

          ”ที่ผ่านมา หากเงินฝากประจำปรับดอกเบี้ย 0.25% ดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับน้อยกว่า และหากดูโครงสร้างเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งกระดานสัดส่วนประมาณ 30% จะเป็นเงินฝากประจำ และที่เหลือ 70% จะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ และในสัดส่วน 30% จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นเงินฝากโครงการพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่แบงก์จะปรับดอกเบี้ยส่วนนี้ก่อน ส่วนออมทรัพย์การปรับดอกเบี้ยจะยากหน่อย เพราะต้องรอสัญญาณเศรษฐกิจฟี้นตัวและสินเชื่อกลับมาก่อน รวมถึงประเมิน กนง.ในรอบถัด ๆ ไปด้วย โดยมองว่าอาจไม่เห็นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ปรับขึ้นในปีนี้”

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button