แบงก์เลิกอุ้มลูกหนี้แหยงเอ็นพีแอลพุ่ง

16 Dec 2020 1,124 0

          ธปท.ขีดเส้นแบงก์ ปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี ภายในสิ้นปี 63 ด้านแบงก์แหยงเอ็นพีแอล ลอยแพลูกหนี้ แยกกลุ่มเลี้ยงไข้ “กรุงไทย” ชี้ สัญญาณบริษัทจ่ายหนี้ต่ำพุ่ง เหตุยอดขาย รายได้หด สวนทางภาระหนี้

          ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ยังเป็นห่วงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมาตรการและเครื่องมือจากทางการที่ช่วยเหลือลูกหนี้จะหมดลงในปี 2564 ทำให้ทุกธนาคารไม่กล้าช่วยเหลือลูกหนี้เป็นเวลานาน เพราะเกรงว่า จะไม่มีมาตรการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษี หรือมาตรการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและอื่นๆ

          ”ที่ผ่านมา ทุกแบงก์ประเมินความเสี่ยงลูกหนี้ในมุมต่างๆ โดยใช้ข้อมูล Analytics ทำให้สามารถแยกลูกหนี้ได้ หลังพ้นมาตรการพักหนี้ ทำให้เห็นภาพลูกหนี้ว่า ควรจะช่วยรายไหน  ส่วนกรณีที่ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ เป็นเพียงส่วนน้อย บางธุรกิจอาจล้มเลิกกิจการไปแล้ว แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเป็นหนี้เสีย” แหล่งข่าวกล่าว

          ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ เดือนตุลาคม 2563 พบว่า ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับการพักหนี้ 6 เดือน ทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 7.8 แสนบัญชี ยอดหนี้ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายเวลาพักหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว และลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 2.7 แสนบัญชี ยอดหนี้ 9.5 แสนล้านบาท พบว่า 94% หรือ 2.54 แสนบัญชี ยอดหนี้รวม 8.93 แสนล้านบาท ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ทั้งการพักหนี้ ยืดหนี้ หรือปรับเงื่อนไขจ่ายค่างวด เหลือเพียง 6% หรือ 1.6 หมื่นบัญชี ยอดหนี้ 5.7 หมื่นล้านบาท ที่ยังติดต่อไม่ได้

          ทั้งนี้ธปท.ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินให้ติดต่อลูกหนี้ที่ยังติดต่อไม่ได้ทั้ง 6% ให้ได้ทั้งหมด และเจรจาเงื่อนไขการชำระหนี้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ หรือลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่มาติดต่อ หรือสถาบันการเงินติดต่อไม่ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

          นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังพ้นมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปเมื่อ 22 ตุลาคม 2563 สิ่งสำคัญที่สุดธปท.ให้ธนาคารเจ้าหนี้เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 ธันวาคม 2563 ยกเว้นรายที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงหรือไม่สามารถพิสูจน์รายได้ จะอนุโลมให้ธนาคารพักชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานจากธนาคารก็มีความคืบหน้าที่ดี

          ”ถ้าสถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ออกไป เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ อาจไม่ต้องกันสำรองเข้มงวดเต็มจำนวนก็ได้ เพราะเป็นการดูแลลูกหนี้ช่วงนี้ ซึ่งเครื่องมือต่างๆที่ออกมาให้ตั้งแต่ต้นปี น่าจะช่วยเหลือลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้พอสมควรแล้ว ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานจากแบงก์ ก็มีสัญญาณที่ดีและธปท.ยังติดตามอย่างใกล้ชิด”

          นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ปี 2563 คาดว่า จะมีบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย(Interest Coverage Ratio: ICR) ต่ำกว่า 1 เท่า (สร้างรายได้ไม่เพียงพอกับภาระดอกเบี้ย) ประมาณ 29.5% เพิ่มขึ้นจาก 26.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการดู ICR เพียง 1ปี แต่หากประเมินบริษัทที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกัน 3 ปี คาดว่าภายในปีนี้ จะมีสัดส่วนเป็น 14.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 9.5% และในปีหน้าจะขยับเพิ่มเป็น 25.5%

          เป็นภาพสะท้อนความเปราะบางต่อเนื่องกันหลายปี อาจต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ เพราะในภาวะปกติมีสัดส่วนไม่ถึง 10% โดยเฉพาะใน 5 อันดับของประเภทธุรกิจดังกล่าวคือ 1.โรงแรมและร้านอาหาร ปีหน้าอาจจะมีบริษัท ICR ต่ำกว่า 1 เท่า 45% 2. เรียลเอสเตท 38% 3. มีเดียและเอนเตอร์เทนเม้น 37% 4. เครื่องสำอางค์ 31% 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 31%

          ”การเปลี่ยนแปลงของ ICR อยู่บนสมมติฐานของรายได้ที่หดหายไป ซึ่งปีนี้โดยค่าเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมรายได้จะลดลง 9% แต่บางอุตสาหกรรมรายได้จะลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งสถานการณ์ขึ้นกับแต่ละธุรกิจ เช่น โรงแรมรายได้ลดลง 21%”

          ทั้งนี้ก่อนโควิดประมาณ 27% ของบริษัท มีค่า ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว พอโควิดระบาด รายได้ลดลง 20-30% ทำให้รายได้หายไปกว่า 40% เช่น กลุ่มโรงแรมเปราะบางอยู่แล้วและมีโอกาสที่ ICR ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันอีก 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้นมาตรการดูแลอาจต้องแยกให้ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมยังมีความยากที่สุด

          แต่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ถือว่า มาตรการรัฐสามารถตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง เพราะหลายธุรกิจอิงกำลังซื้อในประเทศ แต่การช่วยสภาพคล่องยังจำเป็นต้องช่วยเหลือให้บริษัทเหล่านั้นรักษาการจ้างงานได้

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button