ระบบราง7,763กม.พลิกโฉมเดินทางไทย

26 Nov 2020 653 0

          นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าและการประชุมด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง Rail Asia 2020 และกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Rail Developments” หรือการพัฒนาระบบรางของประเทศ ไทย ที่สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสันว่า ที่ผ่านมาระบบรางมีบทบาทต่อการคมนาคมขนส่งของไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากพัฒนาระบบขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทำให้การเจริญเติบโตของเมืองกระจัดกระจาย ไม่ตอบสนองต่อจำนวนประชากรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นลงทุนระบบรางมากขึ้น เพื่อผลักดันระบบรางเป็นระบบหลักของการเดินทาง และการขนส่งของประเทศในอนาคต ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ การจ้างงาน การท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

          นายพิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทางรถไฟครอบคลุมพื้นที่กว่า 47 จังหวัด ระยะทางกว่า 4,044 กิโลเมตร (กม.) แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะสัดส่วนของทางรถไฟเป็นทางเดี่ยว ต้องผลักดันโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงให้มี เส้นทางเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 65 รถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จเพิ่มอีก 5 สาย คิดเป็นระยะทางกว่า 700 กม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ รวดเร็วมากขึ้น

          นายพิศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ คือโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมดำเนินโครงการอีก 6 โครงการ อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ- พิษณุโลก และเส้นทางส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะเป็นระยะทางรวมกว่า 2,466 กม. สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะมีจำนวน 14 สายทาง 367 สถานี คิดเป็นระยะทางกว่า 553 กม. จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ คาดว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 70

          นายพิศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ การพัฒนาระบบรางในทุกภูมิภาค โดยภายในปี 71 ไทยจะมีระบบ รางขนาดใหญ่ 7,763 กม. ที่เข้า ถึงทุกภูมิภาคของประเทศ และเมื่อโครงการทั้งหมดตาม แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้วเสร็จ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทยให้เจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อ วางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพ และโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำด้วย

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button