ไซด์เอฟเฟ็กต์ภาษีที่ดิน100% ซ้ำเติมธุรกิจแลนด์ลอร์ด พลิกทำเกษตร-ตลาดนัด

12 Apr 2022 340 0

           ทีมข่าวเศรษฐกิจ

          ด้วยสถานการณ์ยังไม่เอื้อ จึงเกิดปรากฏการณ์ “ยังไม่พร้อมจ่าย” จากธุรกิจทั่วไทย หลังรัฐบาลฝ่าทุกวิกฤต ประกาศเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตรา 100% ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565

          มีคำชี้แจงจาก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า รัฐเก็บภาษีที่ดินเพื่อปรับอัตราให้ทันสมัย เทียบกับประเทศอื่นรายได้ภาษีของไทยยังน้อย เข้าใจว่าเป็นความตระหนก จึงนำที่ดินไป ปลูกกล้วยแต่อัตราภาษีไม่ได้สูง เพราะปรับขึ้นแบบให้เราปรับตัว

          ขณะที่ขุนคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ย้ำถึงผลกระทบรายได้ท้องถิ่นที่หายไปไม่น้อยกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท จึงต้องเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะ 2 ปีที่ลด 90% เหลือจ่ายจริง 10% เพื่อช่วยลดภาระผู้เสียภาษี รัฐต้องชดเชยรายได้ท้องถิ่น แต่ด้วยงบมีจำกัด ทำให้ชดเชยได้แค่ปี 2563

          จุดประสงค์ แนวคิด และหลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่รัฐต้องการนำมากระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ธุรกิจอ่วมจี้ต่ออายุลด90%

          พลันที่รัฐส่ง “สัญญาณ” ทำให้ธุรกิจออกมาเรียกร้องให้คงลด 90% ไปอีก 2 ปี ถึง 3 ครั้ง โดย อธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นโต้โผ แต่ดูเหมือนเสียงเรียกร้องยังดังไม่พอที่รัฐบาลปัจจุบันจะเหลียวกลับมาดู

          ”อธิป” กล่าวย้ำมาตลอดว่า ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอให้ขยายเวลาลดภาษี 90% ไปก่อน และขอเวลารอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือเก็บแบบขั้นบันได พร้อมยื่นคำร้องขอจากทุกธุรกิจที่ออกพูดเป็นเสียงเดียวกัน “ไม่พร้อมจ่าย”เนื่องจากธุรกิจแบกรับภาระและเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงวันนี้ พบว่า สภาพทางธุรกิจส่วนใหญ่รายได้ไม่เหมือนเดิม บางรายหยุดกิจการ แต่เมื่อมีทรัพย์สินยังอยู่ก็ต้องมีภาระภาษีเพิ่ม ซึ่งภาษีที่ดินประเมินจากมูลค่าทรัพย์สิน หากธุรกิจไหนอยู่ย่านเศรษฐกิจจะกระทบหนัก เช่น โรงแรม 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ถึงรัฐเก็บภาษี 100% รายได้ก็ไม่เข้าเป้า เพราะคนไม่มีเงินจ่ายและจะมีผลกระทบตามมาอีกมาก

          ล่าสุด นายกสมาคมโรงแรมไทย มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ออกมาผสมโรง ว่า เก็บภาษีที่ดิน 100% กระทบธุรกิจโรงแรม 93.6% ผู้ประกอบการหมดแรงจะไปต่อ เพราะอัตราภาษีที่เก็บสูงกว่ารายได้ที่ยังขาดทุนจากผลกระทบโควิด 2 ปี ขอให้ รัฐพิจารณาเก็บภาษีธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะอีกครั้ง โดยลด 90% อีก 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจกลับมาฟื้นตัว หรือเก็บแบบขั้นบันได เช่น เพิ่มปีละ 5-10% หากเก็บเต็มอัตรากระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ อาจเลิกกิจการ ปิดชั่วคราว ขายให้ต่างชาติ

          แลนด์ลอร์ดแห่ทำเกษตร-ตลาดนัด

          ด้านกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถึงจะได้รับลดหย่อนภาษี 90% ใน 3 ปีนับจากได้รับใบอนุญาตจัดสรรหรือก่อสร้าง แต่หากมีที่ดิน และสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมอยู่ในมือจำนวนมาก ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย

          ปัจจุบันจึงเห็นผู้ประกอบการทยอยนำที่ดินรอการพัฒนา หรือ “แลนด์แบงก์” ออกมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะทำเลกลางเมือง ราคาที่ดินแพงลิ่ว ที่มีการแปลงสภาพเป็น “ที่ดินเกษตรกรรม” เพื่อจะได้เสียภาษีในอัตราถูกลง ซึ่งในกฎหมายก็เปิดช่องให้ทำได้ จึงกลายเป็นแฟชั่นตามมา ที่ดินที่เคยว่างหลายแปลง เห็นมะพร้าว มะม่วง มะนาว กล้วย หรือพืชสวนครัวที่หลากหลายชนิดบนที่ดินริมถนนทั่วประเทศ เป็นอีกภาพที่แปลกตา!!

          อย่างที่ดิน 24 ไร่ คิดเป็นมูลค่าหมื่นล้าน ติดถนนรัชดาภิเษก ภาพเต็มไปด้วยต้นมะนาว จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ปลายปี 2562 หรือปลูกกล้วยและมะนาว บนที่ดิน 27 ไร่ ถนนเทียมร่วมมิตร อีกแปลงที่ดินกว่า 300 ไร่ ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ เต็มไปด้วยต้นมะม่วงหลากพันธุ์ ล่าสุดบนที่ดิน 200 ไร่ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และที่ดิน 4 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 18 ก็เต็มด้วยผักผลไม้ ยิ่งใกล้ใช้อัตราภาษีที่ดินเต็มร้อย ซึ่งปีนี้ต้องเสียภาษีเพิ่มจากเคยเสีย 10 เท่า เมื่อลง พืชผักผลไม้ไม่ทัน หันถางหญ้าปรับที่รกร้าง ราดดินราดปูน พัฒนาเป็นตลาดนัด หรือลานจอดรถ ติดประกาศขายและปล่อยเช่ายาวอย่างคึกคักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา 

อสังหาฯเร่งระบายสต๊อก-แลนด์แบงก์

          มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ภาษีที่ดิน 100% ทำให้เอกชนตั้งตัวไม่ทัน ทุกคนคาดหวังรัฐจะลด 90% ให้ เพราะโควิดยังระบาดและเศรษฐกิจยังไม่เอื้อ ซึ่งภาษีที่ดินจะซ้ำเติมตลาดอสังหาฯทำให้กำลังซื้อชะลอตัว เมื่อเจ้าของโครงการมีภาระเพิ่มอาจจะปรับราคาบ้านขึ้น คนมีแลนด์แบงก์คงไม่เร่งพัฒนา แต่จะพัฒนาเป็นเกษตรกรรมแทนเพื่อลดภาระ มีให้เห็นหลายพื้นที่

          ไม่ต่างจากภาพของ ศานิต อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวเสริมว่า บริษัทอสังหาฯได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน 100% หมด แต่จะมากน้อยแตกต่างกัน ในปีนี้และปีหน้าจะเริ่มเห็นการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น เช่น ทำเป็นตลาดนัดให้เช่า ในส่วนของบริษัทมีที่ดินและสต๊อกคอนโดยังขายไม่หมดอยู่ ทำให้ปีนี้มีภาระภาษีเพิ่มจากปีที่แล้ว 2 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท

          ด้าน โอภาส ศรีพยัคฆ์ ซีอีโอ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ระบุว่า ปีนี้มีภาระภาษีเพิ่มจากเคยจ่าย 3 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท เพราะยังมีสต๊อกคอนโด คงเหลือ 3,000 ยูนิต ส่วนที่ดินเปล่ายังเดินหน้าซื้อเพิ่ม โดยปีนี้ เตรียมงบไว้ 4,000 ล้านบาท แต่จะซื้อมาแล้วพัฒนาในทันที จะไม่ถือครองเกิน 1 ปี

          สอดคล้องกับ ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า บริษัทจะไม่ซื้อที่ดินเก็บสะสมไว้เหมือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแลนด์แบงก์ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท จะดำเนินการควบคู่กันไป โดยนำบางส่วนพัฒนาโครงการเป็นเฟส และบางส่วนนำมาขาย ส่วนสต๊อกคอนโดเหลือ 1,000 ยูนิต ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีมากนัก

          ข้ามโซนไปเมืองท่องเที่ยว ธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจภูเก็ตยังเดือดร้อนทั้งเกาะจากผลกระทบโควิด นักท่องเที่ยวหายไป 80% ทำให้รายได้ลดลงมาก ยังต้องเสียภาษีที่ดิน 100% ขณะนี้ธุรกิจ อสังหาฯก็ชะลอลงทุน คนมีที่ดินเปล่านำไปพัฒนาเกษตรกรรมเพื่อลดภาระ และมีบางรายขายให้นายทุนที่มาซื้อในราคาพิเศษ ส่วนธุรกิจโรงแรมบนเกาะกว่า 2 พันแห่ง ยังเปิดบริการแค่ 30% หากรัฐเก็บภาษีจะเพิ่มภาระและไม่มีเงินจ่าย

          ’ทีดีอาร์ไอ’ แนะช่วยรายธุรกิจ

          มีข้อเสนอจาก นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้รัฐ เดินหน้าเก็บภาษี 100% เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ แต่หากธุรกิจเดือดร้อน เช่น โรงแรม ยื่นเสนอต่อท้องถิ่นชะลอการจ่าย 1-2 ปี หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยไม่เสียค่าปรับ ส่วนผู้มีที่ดินมูลค่าสูง ควรนำมาพัฒนา เพราะปัจจุบันภาษีที่ดิน มีช่องโหว่และข้อยกเว้นมากมาย ทำให้เจ้าของที่ดินเสียอัตรา ที่ถูกลง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกที่รัฐลดให้ 90% เพราะกระทบรายได้ท้องถิ่นและรัฐไม่มีเงินชดเชย ขณะที่ภาษีที่ดินนับว่าเป็นภาษีที่ดีที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด

          จากเสียงสะท้อนข้างต้น ต้องติดตามผลงานหลังรัฐ เดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดิน 100% แล้ว รายได้ที่คาดหวังไว้ 42,686 ล้านบาท จะมาตามนัดหรือไม่ ในเมื่อเสียงร้อง “ไม่พร้อมจ่าย 100%” ยังดังไม่หยุด!!—จบ—

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button