โควิด ฉุดอสังหาฯในกทม.ยอดโครงการใหม่ต่ำสุดรอบ18ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังมีปัจจัยท้าทายและความเปราะบางสูง แม้ในช่วงครึ่งปีแรก ผลประกอบการด้านรายได้จากการขายที่อยู่อาศัยของ ผู้ประกอบการหลายรายจะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ และแม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มมีสัญญาณที่นิ่ง ขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เริ่มลดลง แต่ผลของโควิดระลอกนี้ที่รุนแรงและยืดเยื้อ กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและการมีงานทำ ทำให้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยคงต้องใช้ระยะเวลา
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง และทั้งปี 2564 จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีจำนวนประมาณ 4.1-4.8 หมื่นหน่วย ซึ่งเป็นจำนวนต่ำสุดในรอบ 18 ปี ขณะที่การจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2564 น่าจะมีจำนวน 5.7-6.3 หมื่นหน่วย ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ นั้นมองว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินระยะเวลาเกือบสองปี สะท้อนภาพหลายอย่างที่ทำให้ฝ่ายต่างๆ ต้องกลับมาขบคิด ทั้งภาพผลกระทบ จากเฉพาะเหตุการณ์โควิดเอง รวมถึงภาพปัญหาที่สะสมไว้เดิมในแต่ละหน่วยเศรษฐกิจที่โควิดขยายปัญหาให้ใหญ่ขึ้น อาทิ สถานการณ์กำไรสุทธิของภาพรวมระบบธนาคารของไทยปัจจุบันบางส่วนมาจากรายได้ดอกเบี้ยค้างรับตามสิทธิ์
ขณะที่แบงก์ไทยมีสถานะทางการเงินด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านและมีแนวโน้ม ฟื้นตัวที่ช้ากว่า นอกจากนี้ผลประกอบการระบบ ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนปัญหาคุณภาพหนี้และพอร์ตหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ลดลงช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยังเป็น กระจกสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจไทยหลายด้าน เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีธุรกิจที่เผชิญ ผลกระทบหนักจากโควิดในสัดส่วนสูง ปัญหาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ด้อยลงอีกหลังโควิด
”มองไปข้างหน้า แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะมีการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานหรือปัญหาคุณภาพหนี้ที่คงจะล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดในรอบนี้ที่ยังมีอยู่ แต่โจทย์ที่สำคัญและน่ากังวลมากกว่า จะเป็นความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องฝ่าฟันปัญหาด้านรายได้ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมไปถึงหนี้สินที่เพิ่มขึ้นภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนไป ประกอบกับยังต้องเร่งหาคำตอบว่า ไทยจะอาศัยจุดแข็งของธุรกิจใดในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศท่ามกลางข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ไทยเก่งแต่เป็นเทคโนโลยีในโลกเก่า เพราะจะหมายความถึงความยั่งยืนของทิศทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ ครัวเรือน ตลอดจนธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะยาว”
ขณะที่ ในระหว่างนี้ ฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็คงแก้ปัญหาและเร่งปรับตัวเฉพาะหน้าเพื่อหาวิธียืนยันรายได้ทางเลือกของลูกค้า การหาลูกค้าศักยภาพ (ที่มีจำนวนน้อยลง) การลดต้นทุนในมิติต่างๆ รวมถึงการหาโอกาสจากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มากไปกว่าโลกการเงินแบบเดิม ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ลูกค้าได้กว้างและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม และพอจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประคองการเติบโตไว้ได้ แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนได้ หากไม่ได้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังจาก โควิดจบอย่างจริงจัง
Reference: หนังสือพิมพ์เเนวหน้า