แบงก์รัฐ 9 เดือนกำไรฮวบ เฉือนเนื้ออุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤต

25 Nov 2020 563 0

          ปีนี้ธุรกิจแบงก์ค่อนข้างลำบากเพราะต้องรับบทบาทสำคัญในการช่วยประคองลูกค้าฝ่าวิกฤต ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2563 ว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 4.6%

          ทั้งนี้ เมื่อแบงก์พาณิชย์ชะลอปล่อยกู้ แบงก์รัฐก็ต้องเข้ามาเป็น “พระเอก” ในภาวะที่ประชาชนต้องประสบกับภาวะยากลำบาก โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ในไตรมาส 3 ปี 2563 สินเชื่อในระบบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือแบงก์รัฐขยายตัว 5.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัว 10.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน

          นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2563 ธนาคารมีสินเชื่อรวมที่ 2,179,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2,152,718 ล้านบาท ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ธนาคารได้ช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของรัฐ โดยออกโครงการไปมากกว่า 16 โครงการ ช่วยประชาชนกว่า 5 ล้านราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้น ก.ย. 2563 อยู่ที่ 2.48% ลดลงจากช่วงเดือน พ.ค. 2563 ที่อยู่ระดับ 2.88%

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 155,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.90% โดยยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 1,283,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.18% เงินฝากรวม 1,109,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.60% ส่วน NPL อยู่ที่ 49,484 ล้านบาท คิดเป็น 3.85% ของยอดสินเชื่อรวมลดลงจากสิ้นปี 2562 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.09%

          ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรก ธอส.มีกำไรสุทธิ 8,415 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.45% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองส่วนเกิน 5,552 ล้านบาท

          ”อย่างไรก็ดี ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ 15.09% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด” นายฉัตรชัยกล่าวแหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การดำเนินงานของ ธ.ก.ส.ในช่วง 7 เดือนแรกของปีบัญชี (เม.ย.-ต.ค. 2563) มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.53 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 3.4 หมื่นล้านบาท เงินฝากรวมอยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,165 หมื่น ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,897 ล้านบาท ส่วน NPL อยู่ที่ระดับ 3.92% ซึ่งคาดว่าถึงสิ้นปีบัญชี NPL จะเพิ่มไปอยู่ที่ระดับ 4.03% โดย ธ.ก.ส.ได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปแล้ว 23,181 ล้านบาท

          ”หลังจากประเมินภาพรวมการกลับมาชำระหนี้ของลูกค้า พบว่ามีกลุ่มที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับเปลี่ยนหนี้ 23% หรือ 6.7 แสนราย กลุ่มที่ต้องฟื้นฟูอาชีพและได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม 3% หรือ 9.8 หมื่นราย กลุ่มที่ต้องลดหนี้ 2% หรือ 4.3 หมื่นราย และกลุ่มที่ต้องตัดเป็นหนี้สูญมีจำนวน 1.5 พันราย ซึ่ง ธ.ก.ส.ยืนยันยังมีสภาพคล่องเพียงพอในการช่วยเหลือลูกหนี้ เพราะขณะนี้ BIS ratio อยู่ที่ 13.2%” แหล่งข่าวกล่าว

          นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกธนาคารปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบแล้ว 30,000 ล้านบาท ช่วยลูกค้ากว่า 15,000 ราย คาดว่าทั้งปี 2563 จะปล่อยสินเชื่อได้ 40,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้น ก.ย. 2563 อยู่ที่ 100,900 ล้านบาท ส่วน NPL ปัจจุบันอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ซึ่งหากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 จะมีลูกหนี้ตกชั้นเพิ่มขึ้น ทำให้ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 19,000-20,000 ล้านบาท

          ด้าน นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ช่วง 9 เดือน ปี 2563 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 129,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,027 ล้านบาท หรือ 18.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยและกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2563 เอ็กซิมแบงก์มี NPL อยู่ที่ 6.26% คิดเป็น 8,120 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) จึงทำให้ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,271 ล้านบาท

          ”คาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะขาดทุนสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมตามเกณฑ์ IFRS9 ถึงกว่า 6,000 ล้านบาท” นายพิศิษฐ์กล่าว

          ในยามประเทศเผชิญวิกฤตเช่นนี้ การที่แบงก์รัฐเข้ามามีบทบาทช่วยดูแลประชาชนแทนการมุ่งทำกำไร ย่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button