แทรมโคราชเส้นที่1ของไทย
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ ครั้งที่ 2 ของภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) โครงการ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา หรือรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.15 กม. ซึ่งมีผู้แทนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คนว่า จะนำผลการประชุมไปใช้พิจารณาประกอบการจัดทำแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป คาดว่าจะนำผลการศึกษาเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาภายในปี 63
นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไม่เกินเดือน พ.ค. 64 เปิดประมูลเดือน ก.ค. 64 เริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค. 65 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการประมาณเดือน พ.ย. 68 สำหรับโครงการแทรมโคราช สายสีเขียว วงเงินลงทุนประมาณ 7.11 พันล้านบาท เป็นรูปแบบ PPP Net Cost สัมปทาน 30 ปี เบื้องต้นรัฐลงทุน ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา, งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลค่าขบวนรถไฟฟ้า และค่าใช้ จ่ายในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โดยเอกชนได้ รับรายได้จากค่าโดยสารและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หากมีกำไร เกินกว่ากำหนดต้องส่งคืนให้รัฐตามข้อตกลงร่วมกัน
นายธีรพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการฯ จะใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท เวนคืนที่ดินประมาณ 17 แปลง ใช้พื้นที่จัดทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ประมาณ 25 ไร่ และจุดจอดแล้วจร สำหรับอัตราค่าโดยสาร กำหนดไว้ที่ประมาณ 11-21 บาทต่อคนต่อเที่ยว เบื้องต้นจะปรับลดให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 20 บาทต่อคนต่อเที่ยว ให้เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับระบบขนส่งใน จ.นครราชสีมา และดึงดูดประชาชนมาใช้บริการ คาดว่าในปี 68 ที่เปิดบริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 9,900 คนต่อวัน และเกือบ 30,000 คนต่อวันในปี 97
นายธีรพันธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการแทรม จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และโครงการแทรม จ.เชียงใหม่ สายสีแดง (รพ.นครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง คาดว่าจะเสนอบอร์ด รฟม. พิจารณาภายในปีนี้ และเสนอ ครม.พิจารณาไม่เกินกลางปี 64 เช่นเดียวกับแทรมโคราช หากแทรมโคราชสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้ไม่ติดปัญหาอะไรจะถือเป็นแทรมสายแรกในประเทศไทย จากเดิมที่ รฟม.เคยวางเป้าหมายว่าแทรมภูเก็ตจะเป็นสายแรก
รายงานข่าวจาก รฟม. แจ้งว่า โครงการแทรมโคราช มีทั้งหมด 21 สถานี เป็นทางวิ่งระดับดินทั้งหมดมีขบวนรถให้บริการประมาณ 10-12 ขบวนต่อวัน ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 50 กม.ต่อ ชม. เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.
Reference: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์