เอ็มดีใหม่ ธอส. หนุนรัฐกระตุ้นอสังหาฯ

02 Feb 2024 340 0

     ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับ “กมลภพ วีระพละ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คนที่ 14 หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา

     รักษาบ้านให้คนไทย

     ”นโยบายหลักของ ธอส.ในปีนี้ คือ 1.รักษาบ้านให้คนไทย ผ่านมาตรการแก้ไขหนี้ 2.การลดภาระค่าครองชีพให้กับลูกค้า ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคาร ในการ 'ทำให้คนไทยมีบ้าน' ด้วยการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีคุณภาพชีวิต และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย” เอ็มดี ธอส.คนใหม่ แถลงผลดำเนินงาน ปี 2566 และแผนงานปี 2567 เมื่อค่ำวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

     โดย “กมลภพ” เปิดเผยว่า ผลงานในปี 2566 ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 116,817 ราย อยู่ที่ 3.84%

     ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% มีสินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอด สินเชื่อรวม ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 4.16% และยังเป็นระดับที่บริหาร จัดการได้

    “ที่สำคัญ คือ ลูกหนี้ที่เริ่มอ่อนแรงลงในปีที่ผ่านมา เราใช้การปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เป็นหน้าที่ของ ธอส. ที่ต้องทำให้เขารักษาบ้านเอาไว้ให้ได้ โดยเราออกมาตรการไป มีลูกหนี้เข้ามากว่า 196,232 บัญชี ซึ่งตอนนี้สถานการณ์คือกว่า 170,000 บัญชี อยู่ในภาวะที่เรายังต้องดูแลเขาอยู่”

      นอกจากนี้ ธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต และมีกำไรสุทธิที่ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

      ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.21% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%

      แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อเนื่อง

      สำหรับทิศทางในปี 2567 “กมลภพ” กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ของเป้าหมายในปี 2566 หรือคิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 242,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

     ”เป้าสินเชื่อใหม่ปีนี้โตขึ้นกว่าปีก่อนประมาณ 3% เพราะการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ จะสอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพี” ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว

      หนุนรัฐกระตุ้นภาคอสังหาฯ

       นอกจากนี้ ธอส.ยังพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ในปี 2570 ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาการเชื่อมโยงพันธมิตรด้านที่อยู่อาศัยให้เติบโตร่วมกันอย่างมั่นคง ผ่านการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลาย และสนับสนุนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชน รวมถึงสอดรับกับเมกะเทรนด์ในปี 2567 ทั้งด้านความยั่งยืน (Sustainable) ด้านนวัตกรรม (Innovation) ด้านสุขภาพ และด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

       อย่างโครงการ Resale Home Ecosystem ที่จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่ขายบ้านมือสอง ตั้งเป้าสินเชื่อที่ 64,500 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ Green Loan ตั้งเป้าสินเชื่อที่ 4,000-5,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง 2,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าประชาชน และโครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล กับสินเชื่อพร้อมใช้ 2,400 ล้านบาท

       ”จากที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีข้อเสนอไปที่รัฐบาลในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณา ในส่วน ธอส.เอง เราก็เตรียมความพร้อมอยู่ ในการที่จะมีมาตรการส่งเสริม น่าจะออกมาภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้”

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button