เวนคืน 3 หมื่นไร่กลางกรุง-11 จังหวัด ลุยประมูลสร้าง รถไฟฟ้า-ทางคู่ 4 สายใหม่ 4 แสนล.
เมกะโปรเจ็กต์เริ่มขยับ “คมนาคม” สปีดเวนคืนที่ดินกลางเมือง กทม. สมุทรปราการ และ 10 จังหวัดภาคเหนือ-อีสาน ลุยประมูลทางคู่และรถไฟฟ้า 4 สายใหม่ วงเงิน 4 แสนล้าน ให้จบปีนี้ เริ่มต้นตอกเข็มปี‘64 แบ่งเค้กงานก่อสร้างลงตัว ดีเดย์ 23 ก.ย.ยื่นซองสายสีส้ม จับตา 2 กลุ่มทุน BTS-BEM ควงพันธมิตรปาดเค้ก 1.4 แสนล้าน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. เงินลงทุน 85,345 ล้านบาท และเห็นชอบการทบทวนมติ ครม.วันที่ 31 ก.ค. 2561 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะเปิดประมูล 3 สัญญาตามเดิม รวมงานโยธาและงานระบบไว้ในสัญญาเดียวกัน จากที่ซูเปอร์บอร์ดเสนอให้แบ่ง 7 สัญญา
เนื่องจากการบริหารสัญญาจะมีความคล่องตัวและก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางด้านการควบคุมงาน รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิผลมากกว่าการแยกสัญญา และทำให้ต้นทุนบางอย่างไม่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (PMC), ค่าก่อสร้างวางรางเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องสร้างโรงเชื่อมรางเพิ่มตามจำนวนของสัญญา เป็นต้น
ปีนี้ประมูลทางคู่ 2 สายใหม่
ส่วนความคืบหน้ารถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. เงินลงทุน 66,848 ล้านบาท จะเร่งลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน วงเงิน 159 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน ส่วนการก่อสร้างจะดำเนินการคู่ขนาน
”ทั้ง 2 เส้นทางรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว จะผลักดันให้เปิดประมูลปีนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ จะเปิดพื้นที่การพัฒนาและการเดินทางให้ครอบคลุมจังหวัดภาคเหนือและอีสานและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่เชียงของและนครพนม ให้การค้า การลงทุน มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น”
ปลายปี‘64 เริ่มจ่ายเวนคืน
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ร.ฟ.ท.ขอจัดสรรงบประมาณปี 2564 สำหรับการเวนคืนที่ดินทางคู่สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของไว้แล้ว ขณะนี่บริษัทที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่สำรวจแล้ว จะเริ่มจ่ายค่าเวนคืนปลายปีงบประมาณ 2564 และส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งนี้ จากการสำรวจในเบื้องต้นมีค่าเวนคืน 10,660 ล้านบาท จำนวน 7,292 แปลง ที่ดิน 9,661 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,200 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย สร้าง 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง
จุดเวนคืน ได้แก่ จ.แพร่ มี อ.เด่นชัย 2 ตำบล ที่ ต.เด่นชัย ต.ปงป่าหวาย, อ.สูงเม่น 6 ตำบล มี ต.น้ำชำ ต.สูงเม่น ต.พระหลวง ต.สบสาย ต.ดอนมูล ต.ร่องกาศ, อ.เมืองแพร่ มี 7 ตำบล มี ต.นาจักร ต.กาญจนา ต.เหมืองหม้อ ต.ทุ่งกวาว ต.ทุ่งโฮ้ง ต.แม่หล่าย ต.แม่คำมี, อ.สอง มี ต.หัวเมือง ต.แดนชุมพล ต.ทุ่งน้าว ต.ห้วยหม้าย ต.บ้านหนุน ต.บ้านกลาง, อ.หนองม่วงไข่ มี ต.หนองม่วงไข่, จ.ลำปาง อ.งาว มี 7 ตำบล มี ต.แม่ตีบ ต.หลวงใต้ ต.บ้านแหง ต.หลวงเหนือ ต.นาแก ต.ปงเตา และ ต.บ้านร้อง,
จ.พะเยา มี อ.เมืองพะเยา มี 4 ตำบล คือ ต.แม่กา ต.จำป่าหวาย ต.แม่ต๋ำ และ ต.ท่าวังทอง, อ.ดอกคำใต้ มี 2 ตำบล คือ ต.ดอกคำใต้ ต.ห้วยลาน, อ.ภูกามยาว มี 3 ตำบล คือ ต.แม่อิง ต.ดงเจน ต.ห้วยแก้ว และ จ.เชียงราย อ.ป่าแดด มี 4 ตำบล คือ ต.สันมะค่า ต.ป่าแดด ต.โรงช้าง และ ต.ป่าแงะ, อ.เทิง ที่ ต.เชียงเคียน, อ.เมืองเชียงราย มี 4 ตำบล คือ ต.ดอยลาน ต.ห้วยสัก ต.ท่าสาย และ ต.รอบเวียง, อ.เวียงชัย มี 3 ตำบล คือ ต.เวียงชัย ต.เวียงเหนือ ต.เมืองชุม, อ.เวียงเชียงรุ้ง มี 2 ตำบล ที่ ต.ทุ่งก่อ ต.ป่าซาง, อ.ดอยหลวง ที่ ต.โชคชัย และ อ.เชียงของ มี 4 ตำบล คือ ต.ห้วยซ้อ ต.ศรีดอนชัย ต.สถาน ต.เวียง
แบ่งเค้ก 2 สาย 5 สัญญา
สำหรับงานโยธามีวงเงิน 72,921 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท และมีค่าจ้าง ที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.จะใช้เงินกู้มาก่อสร้าง ซึ่งสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบรายปีให้ ตามแผนจะเปิดเดินรถในปี 2568
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนสายบ้านไผ่มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เงินลงทุน 66,848 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท จำนวน 7,100 แปลง หรือ 17,500 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 930 หลังคาเรือน และค่าก่อสร้าง 55,462 ล้านบาท จะแบ่งสร้าง 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงบ้านไผ่-ร้อยเอ็ด และช่วงยโสธรนครพนม และมีค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 1,131 ล้านบาท จะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี หากดำเนินการได้ในปี 2564 จะเสร็จในปี 2568
แนวเส้นทางมีสถานีใหม่ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด จุดเริ่มต้นอยู่ที่ชุมทางบ้านหนองแวงไร่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พาดผ่าน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร ไปสิ้นสุดที่สถานีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 จ.นครพนม
รฟม.ลุยรถไฟฟ้าสีส้ม-ม่วงใต้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.จะเร่งกระบวนการเวนคืนที่ดินและประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายทาง ได้แก่ สายสีส้มช่วงตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท กำลังเปิดประมูลให้เอกชนเข้าร่วม PPP net cost 30 ปี
ก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม และลงทุนงานระบบไฟฟ้าและขบวนรถ เพื่อรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย 35.9 กม. วงเงินรวม 128,128 ล้านบาท โดยรัฐจ่ายค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท และสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปี เริ่มทยอยชำระคืนภายหลังเริ่มก่อสร้างแล้ว 2 ปี จะเปิดยื่นข้อเสนอวันที่ 23 ก.ย.นี้ มีเอกชนสนใจซื้อซองประมูล 10 ราย คาดว่าจะเซ็นสัญญาในเดือน ธ.ค.นี้ เริ่มงานก่อสร้างในปี 2564-2569
”รถไฟฟ้าสีส้มตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 66.06% จะเปิดบริการปี 2567 ส่วนช่วงตะวันตกจากศูนย์วัฒนธรรมบางขุนนนท์ จะเป็นโครงสร้างใต้ดินตลอดเส้นทาง รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ขณะนี้ได้เคลียร์จุดเวนคืนตรงบ้าน มนังคศิลาจบแล้ว จะย้ายตำแหน่งสถานีถอยมายังตึกแถวก่อนถึงทางรถไฟ ตลอดเส้นทางมีพื้นที่เวนคืนรวม 505 แปลง หรือ 41 ไร่เศษ สิ่งปลูกสร้าง 331 หลัง”
ส่วนความคืบหน้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ล่าสุด พ.ร.ฎ. เวนคืนได้ประกาศในราชกิจจานุเบิกษาแล้ว เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 กำหนดที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ และ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
มีเวนคืนที่ดิน 410 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน จุดขึ้น-ลง 17 สถานี และพื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถไฟฟ้า (เดโป้) 50 ไร่ มีค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท ด้านค่าก่อสร้างอยู่ที่ 77,385 ล้านบาท แบ่ง 3-4 สัญญา ส่วนการเดินรถเงินลงทุน 23,064 ล้านบาท จะเปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP gross cost ระยะเวลา 30 ปี รูปแบบเดียวกับสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถให้ 30 ปี
จับตา 2 บิ๊กรถไฟฟ้าชิงสีส้ม
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยว่า สำหรับการยื่นประมูลสายสีส้ม ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ มีแนวโน้มมี 2 กลุ่มจะเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่ม BTS คาดว่าจะร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทยฯ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ราชกรุ๊ป และอาจจะมี บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีนร่วมด้วย อีกกลุ่มคือกลุ่ม BEM จะร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดย รฟม.จะเปิดซองข้อเสนอวันที่ 30 ก.ย.นี้
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ