อีเวนท์-อสังหาฯ อ่วมพิษโควิด กำเงินสดประคองสภาพคล่อง
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสถานะธุรกิจ! ที่ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์รับมือตลอดเวลาเพื่อประคองกิจการให้ก้าวข้ามห้วงวิกฤตินี้ไปให้ได้
อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน(อีเอ็มเอ)หรืออีเวนท์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจอีเวนท์เวลานี้ยิ่งกว่าโคม่า! ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีงาน หรือจัดกิจกรรมใดๆ ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ (ซัพพลายเชน) จึงเสมือนเผชิญสึนามิ โควิดกวาดราบคาบเป็นหน้ากลอง
โดยบริษัทไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงขณะที่ยังมีภาระรายจ่ายที่สูง จากต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะจากค่าจ้างพนักงาน หรือต้นทุนคงที่ 50-60% เมื่อรายจ่ายมากกว่ารายรับย่อมกระเทือนสภาพคล่อง
”ขาดทุนธุรกิจยังมีโอกาสกลับมาได้ หากขาดสภาพคล่องอยู่ลำบาก เพราะภาวะขาดทุน ยังไม่มากินต้นทุนบริษัท แต่เมื่อไม่มีงาน แต่ยัง มีภาระค่าใช้จ่าย ต้นทุนคงที่ จะมากินกระแสเงินสดทันที ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญกระทบโดยตรงธุรกิจ ทั้งยังเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำลำบากอีก”
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายช่วยเหลือรายย่อย เอสเอ็มอี ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) แต่หากพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ จะถูกสกรีนออกไปจำนวนมาก เช่น การขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้จะต้องเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเดิม การให้สินเชื่อวงเงินเพียง 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างเดิม ฯลฯ ทำให้ท้ายที่สุดมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสินเชื่อ 10-20% เท่านั้น
”ซอฟท์โลนเป็นเหมือนออกซิเจนที่ช่วยต่อลมหายใจภาคธุรกิจรายย่อย ออกาไนเซอร์ ต่างๆ เมื่อผู้ประกอบการไม่มีงาน ขาดสภาพคล่อง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำลำบาก ประเมินว่าปี 2564 จะเห็นออกาไนเซอร์ล้มหายตายจากเพิ่มจากปีก่อนที่ยกธงขาวกว่า 50-60% และยังเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กซ์ทั้งระบบนิเวศที่มีบริษัทเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก เช่น บริษัทจัดเวที แสง สี เสียง”
แม้ต้องเผชิญวิกฤติรอบด้าน “ไรท์แมน” มุ่งรักษาสภาพคล่องโดยจเร่งหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาประคองธุรกิจ หากมีงานจะกระจายการจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์หลายราย เพื่อมีเงินไปต่อลมหายใจทำงานได้อีกระยะ และเร่งเก็บเงินกับลูกค้าซึ่งยอมรับว่าเร่งยาก! ทุกอย่างสะดุดหมด อีกทั้งลูกค้ายืดเวลา ชำระเงินเป็น 60-90 วัน จาก 30-45 วัน ส่วนงานราชการเบิกได้ล่าช้าค่อนข้างมาก
”เมื่อบิลลิ่งหายไป 40-50% จะขาดทุนทันที หรือติดลบ 10-20% เพราะต้นทุนคงที่สูงกว่า ปีก่อนล็อกดาวน์ 3-4 เดือน ช่วง 5 เดือนหลังยังทำงานได้ แต่ปีนี้ออกาไนเซอร์ไม่มีงานทำเลย ซึ่งไรท์แมนมีบิลลิ่ง 500-600 ล้านบาท จะต้องมีกระแสเงินสดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หรือเงินทุนหมุนเวียน 20-30% เพื่อหมุนเงิน สำรองจ่ายล่วงหน้า”
หากโรคโควิด-19 ยังมีผู้ติดเชื้อพุ่ง สถานการณ์ไม่คลี่คลายโดยเร็ว แนวโน้มธุรกิจอีเวนท์คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนัก สิ่งที่น่ากังวล คือ ปีหน้า เมื่อทุกภาคส่วนผันเงินไปดูแลแก้ปัญหา โรคระบาด จะทำให้รัฐ เอกชน ไม่มีการผันงบมา ใช้กับ “ธุรกิจอีเวนท์” ส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจจะ ยิ่งกว่าโคม่า! เป็นอีกโจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือ
ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) จำกัด กล่าวว่า พฤกษา มุ่งเพิ่มกระแสเงินสดโดยทยอยโอนคอนโดมิเนียมจาก 7 โครงการ คลุมทุกแบรนด์ ทุกเซ็กเมนต์ ที่กำลังก่อสร้าง
เสร็จและทยอยส่งมอบในปี 2564 ทำให้มี รายได้จากการโอน 5,000-6,000 ล้านบาท หรือกว่า 50% ของโครงการทั้งหมด ส่วนสินค้า แนวราบมียอดขายล่วงหน้า (พรีเซล) กว่า 2,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างเพื่อ ส่งมอบบ้านให้ลูกค้าทันกำหนด จะทำให้มีรายได้จากการโอนสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มเข้ามาด้วย
ชาติชาย พยุหนาวีชัย ประธาน กรรมการบริหาร และกรรมการ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในห้วงเวลานี้คือการรักษาสภาพคล่อง! มิเช่นนั้นเกิดหนี้เสีย ฉะนั้นควรเตรียมสภาพคล่อง ให้เพียงพอ รองรับกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ในอนาคต การเปิดตัว “โครงการใหม่” หากไม่มั่นใจ ว่าจะขายได้อย่ารีบร้อน!
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ