อสังหาฯ วอนรัฐช่วยก่อนยื้อไม่ไหว เสนอ 7 มาตรการหนุนภาคธุรกิจฟื้นไข้

04 Jun 2020 517 0

          อสังหาริมทรัพย์

          สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันถือว่าเปราะบางมาก ผู้ประกอบการต้องพยายามสร้างยอดขายให้ได้เพื่อหากระแสเงินสดมาเป็นค่าใช้จ่าย ประคับประคองธุรกิจ ไม่ต้องพูดถึงการสร้างผลกำไร ในสถานการณ์ที่การขายได้น้อย หรือแถบขาย ไม่ได้เลย ผู้ประกอบการบางรายอาจประคองธุรกิจไปได้อีกไม่เกิน 3-6 เดือนเท่านั้น หากไม่มีมาตรการ ช่วยเหลือกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอาจยื้อต่อไป ไม่ไหว

          ในปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการ LTV เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไร ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมได้รับ ผลกระทบอย่างมากมีสต๊อกเหลือขายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังประสบวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอมาตรการหรือกฎหมายที่จะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการลดการซ้ำเติมภาคธุรกิจ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เริ่มจัดเก็บในปีนี้ ซึ่งเดิมกำหนดให้จ่ายภายในเดือนมีนาคม 2563 นี้ และเลื่อนเป็นสิ้นเดือนสิงหาคม 2563

          ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. .. (พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเป็นการลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ให้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

          การลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 จะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจได้รับลดค่าภาษีที่ต้องชำระตามตัวอย่าง ดังนี้

        1. กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บท เฉพาะกาลของแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 50 บาท

          2. กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบ้านหลังอื่นหากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 100 บาท

          3. กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่ง ปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อ ลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เป็นต้น

          สำหรับกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) จำนวน 18 ฉบับ ได้ประกาศในราชกิจจาเบกษา และมีผลใช้บังคับครบแล้ว โดยเฉพาะประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลักษณะใดเป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และ ลักษณะใดใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้ อปท. สามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

          สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ หอพัก คอนโดมิเนียม เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย

          2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการ อยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น

          3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ ระหว่างการพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขาย ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

          ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ใน การประกอบเกษตรกรรม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และให้รวมถึง ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย

          2. สำหรับระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย

          ทั้งนี้ การออกประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และเรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของภาษีบำรุงท้องที่เดิม ลดการใช้ดุลยพินิจ และทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการทำประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมในปัจจุบัน

          อสังหาฯเสนอ 7 มาตรการวอนรัฐช่วยอุ้ม

          นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการ สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวง การคลังเพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคธุรกิจ เพราะอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเสนอ 7 ข้อ ได้แก่

          1. ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจดจำนอง ลงเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ในการกระตุ้นธุรกิจที่ได้ผลมาทุกยุคทุกสมัยที่มีวิกฤต

          2. ต่ออายุโครงการบ้านดีมีดาวน์ที่หมดอายุไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

          3 เลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินออกไปจนกว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุด หรือเลื่อนไป 1-2 ปี  ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ใช้วิธีลดภาษีลง 90% จากจำนวนที่ต้องจัดเก็บ ซึ่งถือว่าช่วยได้มากเป็นการลดภาระของทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนในช่วงปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรลดภาษีออกไปอย่างน้อย 1-2 ปี เพราะเชื่อว่าภาคธุรกิจจะยังไม่ฟื้นตัวไปจนถึงปีหน้าโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวอีกประมาณ 1-2 ปีแม้ว่าการระบาดจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม ซึ่งเดิมโรงแรมจะเสียภาษีโรงเรือน โดยคำนวณจากรายได้เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องจ่าย แต่เมื่อเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องจ่ายแม้ไม่มีรายได้ ทำให้เจ้าของโรงแรมมีภาระเพิ่มในขณะที่ไม่มีรายได้

          4. เลื่อนมาตรการ LTV ออกไปจนกว่าไวรัสโควิด-19 จะหมดไป เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่มีกำลังซื้อออกมาซื้อ ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

          5. เพิ่มอายุสัญญาเช่าจาก 30 ปีเป็น 50 ปี เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในประเทศหรือลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามากกว่า และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อบ้านที่ส่วนใหญ่มีสัญญาเช่านาน 90-99 ปี การให้อายุสัญญาเช่าน้อยยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีโดยใช้นอร์มินีถือกรรมสิทธิ์แทนหรือใช้วิธีซิกแซ็กเพื่อให้ผู้ซื้อรู้สึกถึงความคุ้มค่า แทนที่รัฐจะได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีแบบถูกกฎหมาย นอกจากนี้การเพิ่มอายุสัญญาเช่ายังสร้างความน่าสนใจสำหรับกลุ่มที่ต้องการลงทุนให้เช่าหรือธุรกิจเวลเนส ดูแลผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ซึ่งจะทำให้ที่อยู่อาศัย 1 ห้องสามารถดูแลได้หลายคนตลอดอายุสัญญาเช่า

          6. ให้วีซ่าชาวต่างชาติที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ให้อายุวีซ่านาน 1 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย เพราะกลุ่มนี้เข้ามาใช้เงินจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มาท่องเที่ยว การได้วีซ่า 3 เดือนทำให้เกิดความยุ่งยากในการอยู่อาศัย ต้องเดินทางออกนอกประเทศก่อนถึงกลุ่มเข้ามาใหม่ ทำให้ไม่สะดวก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมี กลุ่มชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วยังไม่โอนกรรมสิทธิ์อีกว่า 50,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถเดินทางมาโอนกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งยังมีผู้ซื้อ ที่แสดงความประสงค์ที่จะมาโอนแต่รอให้การระบาดของโรคคลี่คลายจนสามารถเดินทางได้ อย่างไรก็ตามยังมีบางกลุ่มที่เกรงว่าจะไม่มาโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากมีการให้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจได้ รวมไปถึงกลุ่มผู้ซื้อใหม่ที่ต้องการมาซื้อบ้านหลังที่สองที่เมืองไทย รวมถึงกลุ่มที่ส่งให้ลูกมาเรียนในมหาวิทยาลัยของไทย ซึ่งพบว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

          7. ให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเมืองไทยอยู่แล้ว ให้ยืดอายุบัตรต่างด้าวได้เลย 2 ปี เพื่อจะได้ไม่ต้อง เดินทางกลับไปยังประเทศตนเองเมื่อบัตรหมดอายุ เพราะ จะมีปัญหาในเรื่องของการกักตัวและเฝ้าระวัง บางราย ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ ต้องหาแรงงานคนใหม่ ต้องมาสอนงานใหม่หรือรับคนที่ไม่เป็นงานมาทำแทน นอกจากนี้หากไม่มีแรงงานต่างด้าวทำงานก็จะทำให้อุตสาหกรรมประสบปัญหาได้ เช่น แรงงานก่อสร้าง กรรมกร เรือ โรงงานผลิตต่างๆ เพราะแรงงานไทยไม่ทำ

          ”ปัจจุบันไม่มีมาตรการใดๆช่วยภาคอสังหาฯเลย เช่น บ้านดีมีดาวน์ก็หมดอายุไปแล้ว ส่วนการลดค่าธรรมเนียมต่างๆก็หมดอายุ ตอนนี้อสังหาฯเหมือนลอยเท้งเต้งไม่มีใครช่วย” นายอธิปกล่าว

          จีนยังสนซื้ออสังหาฯไทย

          นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหา ริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การลดจำนวนภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษี การลดการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะแค่ปีเดียว หากจะให้ดีรัฐบาลควรเลื่อนการจัดเก็บออกไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดหยุดลง หรือภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งในช่วงนี้รัฐไม่ควรมีมาตรการอะไรหรือกฎหมายใดที่ออกมาในช่วงนี้ที่เป็นอุปสรรคหรือเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการถือสต๊อกไว้ในมือจำนวนมาก เนื่องจากขายได้น้อย

          ผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาโอเวอร์สต๊อก มีสินค้าเหลือขาย จำนวนมาก ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีลดราคา 30-60% หรือแบบขายโละเพื่อสร้างกระแสเงินสด ทำให้มีผู้ประกอบการราย อื่นๆ ที่ต้องการโละสต๊อกนำสินค้าออกมาขายโละบ้าน เกิดภาวะสงครามราคาย่อมๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้ลงมาเล่นสงครามราคาด้วย ยอมที่จะขายช้าให้กับลูกค้าที่มีความต้องการจริงๆ

          ”ตอนนี้ผู้ประกอบการบางส่วนอยู่ได้แค่ 3-6 เดือนเท่านั้นหากการแพร่ระบาดไม่คลี่คลายหรือภาวการณ์ ขายไม่ดีขึ้นก็ทำให้ประสบปัญหาได้ ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเสนอซื้ออสังหาฯไทยทั้งที่เป็นโรงแรม โครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานต่างๆหลายราย แต่กดราคามากทำให้มีการซื้อขายเกิดขึ้นไม่มาก แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะเห็นการซื้อขายโครงการเกิดขึ้นจำนวนมากอย่างแน่นอน” นายพรนริศกล่าว

          อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความต้องการซื้อจากชาว ต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าหลังจากการแพร่ระบาดจะมีชาวจีนเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยจำนวนมาก ที่ผ่านมามีกลุ่มชาวจีนเข้ามาซื้อในรูปแบบเช่า ระยะยาวผ่านบริษัทตัวแทนนายหน้า ในแถบเชียงใหม่ บางรายส่งลูกมาเรียนเพราะมีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องอายุของวีซ่าได้เพียง 3 เดือน ต้องเดินทางออกนอกประเทศหากรัฐบาลยืดอายุวีซ่าออกไปนาน 1 ปีก็เชื่อว่าจะช่วยให้สร้างความน่าสนใจในการเข้ามาอยู่อาศัยในไทยมากขึ้น

          แนะให้วีซ่า 1 ปีหนุนต่างชาติซื้อบ้านในไทย

          ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคาร ชุดไทย กล่าวถึง แม้ว่ารัฐบาลจะไม่เลื่อนการจัดเก็บภาษี แต่ลดภาษีลงถึงร้อยละ 90 ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับในภาวะปัจจุบันที่ผู้ประกอบการมีสต๊อกบ้าน คอนโดมิเนียมจำนวนมาก รวมถึงที่ดินรอการพัฒนาในมือมากพอสมควร ในขณะที่การขายทำได้ยาก การลดภาษีจะเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการไปได้บ้าง

          อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาการลดค่าธรรมเนียมโอน การจดจำนอง และลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ใช้ได้ผลมาทุกยุคทุกสมัย โดยในรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ใช้การลดค่าธรรมเนียมโอนและการจดจำนอง สำหรับ บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมาแล้ว ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสผู้บริโภคกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาทได้รับผลกระทบอย่างมากจนไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้น รัฐบาลควรขยายเพดานไปในทุกกลุ่มเพื่อให้เกิดการซื้อขายที่แท้จริง

          นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลขยายวีซ่าแก่ชาว ต่างชาติที่ซื้อที่อยู่อาศัยในไทยจากเดิมที่ได้วีซ่าคราวละ 3 เดือนให้ขยายเป็นคราวละ 1 ปี โดยแบ่งเป็นชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้ได้วีซ่าคราวละ 1 ปีนาน 5 ปี ส่วนชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียมราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปได้วีซ่าคราวละ 1 ปี นาน 10 ปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อจากชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการสอบถามชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต้องการขยายวีซ่ามากกว่าหากต้องอยู่อาศัยในไทย

          ”ต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯหรือบ้านในไทยเค้าต้องมาอยู่อาศัยในไทยมาเสียภาษี กิน เที่ยว จับจ่ายใช้สอย ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เค้าต้องมากินมาเที่ยว ไม่สามารถขนบ้านกลับไปได้ ของทุกอย่างอยู่ในบ้านเราหมด เราไม่มีอะไรเสีย ซึ่งในแต่ละปีชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเฉลี่ยปีละ 90,000 ล้านบาท” ดร.อาภา กล่าว

          แนะเลื่อนใช้ LTV ช่วยภาคธุรกิจ

          ขณะที่นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร กล่าวว่า การที่รัฐบาลปรับลดการจัดเก็บภาษีลงถึง 90% ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ช่วยทั้งประชาชนและเอกชนได้อย่างมาก แม้จะเป็นเวลา 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประเด็นเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บและการคำนวณภาษี เช่น การจัดสรร และการเกษตรบนที่ดิน น.ส. 3 หรือ น.ส 3 ก. ไม่ได้รับการยกเว้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีความสับสนถึงการจัดเก็บซึ่งหากเสียภาษีผิดอาจผิดกฎหมายหรือถูกจับได้

          ส่วนที่ดินแลนด์แบงก์จะต้องจ่ายภาษีเต็มคือ 0.3% และเพิ่มขึ้นปีละ 0.3% ทุกๆ 3 ปี ซึ่งในปีนี้ลดไปได้ 90% ก็ถือว่าเป็นข่าวดีช่วยลดภาระของผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้และหากไม่สามารถพัฒนาได้ในช่วง 3 ปีหลังจากนี้ต้องจ่ายภาษี 0.6% ก็ถือว่าหนักสำหรับผู้ประกอบการในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และหากฝืนสร้างแล้วขายไม่หมดก็จะไปเจอภาษีสต๊อกอีก นับเป็นธุรกิจเดียวที่ต้องเสียภาษีทั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะขอเข้าหารือกับภาครัฐเพื่อให้รับรู้รับทราบถึงปัญหาและให้การช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อน

          ”สิ่งสำคัญที่อยากให้รัฐบาลช่วยคือการเลื่อนใช้มาตรการ LTV ไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว เพราะแม้ว่า ผู้ประกอบการกว่าจะหาเงินลงทุน ขอกู้เงินมา พัฒนาสินค้า ทำการตลาดจนมีลูกค้าสนใจซื้อ แต่สุดท้ายลูกค้ากู้ไม่ผ่านก็เหมือนเป็นการปิดเบรกที่ปลายทาง ตอนนั้นอาจเป็นการส่งสัญญาณสกัดการเก็งกำไร แต่ ตอนนี้มันไม่มีแล้ว ก็ควรจะยกเลิกหรือเลื่อนออกไปก่อน” นายวสันต์กล่าว

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button