อสังหาฯ มองหา S-CURVEต่อยอดธุรกิจเทรนด์ WORKATION หนุนรายได้เที่ยวไทย

07 Dec 2021 359 0

        ในช่วงทศวรรษ ที่ผ่านมา ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือทาวน์เฮาส์ ล้วนอยู่ในยุคธุรกิจขาขึ้นมายาวนาน ซึ่งวงจรธุรกิจโดยทั่วไปจะเป็นเหมือนกราฟเส้นโค้งรูปตัวเอส หรือ S-Curve กล่าวคือ ธุรกิจจะมีการเติบโตที่ช้าในตอนเริ่มต้น การเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงกลาง และการเติบโตที่ช้าในตอนท้าย เมื่อธุรกิจพัฒนาเติบโตไปเรื่อยๆ ก็ถึงจุดอิ่มตัว จำเป็นต้องหา S-Curve เส้นใหม่มาแทน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อได้ต่อเนื่อง ไม่ให้หยุดนิ่ง ซึ่งหนึ่งในหัวข้อคำถาม ที่ผู้นำองค์กรหรือบอร์ดบริหารให้ความสนใจก็คือ เมื่อธุรกิจพัฒนาอสังหาฯเพื่อขายเริ่มเข้าใกล้จุดอิ่มตัว

          โดยนายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การค้นหาธุรกิจใหม่ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยการหา S-Curve ต่อไปของบริษัทนั้น มีรูปแบบที่ต่างกัน โดย

          1. การเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เช่น การตั้งธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตของ PSH, ธุรกิจศูนย์การค้าและธนาคารของ LH, ธุรกิจศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง หรือ SEAC ของ AP, ธุรกิจบริหารกองหนี้ของ SIRI ร่วมกับ XSpring AMC หรือจะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัปต่างๆ ซึ่งในแต่ละธุรกิจมักจะมีผู้เล่นที่แข็งแกร่งในตลาดนั้นอยู่แล้วจึงถือเป็นความเสี่ยงจากความไม่เชี่ยวชาญในการเข้าไปลงทุน แต่ก็แลกมาด้วยโอกาสในลักษณะ Blue Ocean

          2. ต่อยอดจากธุรกิจเดิม โดยการเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน หรือปรับโมเดลธุรกิจใหม่ สำหรับในแวดวงนักพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย จะเห็นได้ว่าธุรกิจ Hotel & Hospitality ถือเป็นหนึ่งใน S-Curve ลูกต่อไปที่นักพัฒนาอสังหาฯ ให้ความนิยม เนื่องจากสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว รวมกับจุดแข็งจากธุรกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฐานลูกค้า คอนเนกชันผู้รับเหมาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอสังหาฯ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาทดลองและต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว

          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการนำเชนการบริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงเข้ามาบริหารนิติบุคคลอาคารชุด หรือ Branded Residence Condo การผสานโมเดลธุรกิจบริการเข้ากับการขายอาคารชุด เป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้นตามเกรดของคอนโดมิเนียมนั้น

          นอกจากนี้ การมีเชนโรงแรมมา บริหารส่วนใหญ่ จะได้สิทธิประโยชน์จากแบรนด์โรงแรมในเครือ เช่น ให้สิทธิในการเข้าพักโรงแรมในเครือทั่วโลกเป็นจำนวนครั้งต่อปีตามที่กำหนด หรือได้รับเอกสิทธิ์ในงานบริการต่างๆ เป็นต้น นอกจากผู้ประกอบการบางรายตัดสินใจแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจ Hotel&Hospitality โดยตรง ซึ่งก็มีโอกาสที่น่าสนใจ จากอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างน่าสนใจ ในสภาวะปกติโดยเฉลี่ย Hotel&Hospitality เกรด 4-5 ดาว ในกรุงเทพมหานคร มีอัตราผลตอบแทน เฉลี่ยอยู่ที่ 5-8% ต่อปี โดยปกติธุรกิจ Hotel&Hospitality มักจะมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 15-20 ปี

          ทั้งนี้ วิธีการที่ได้รับความนิยมจากผู้พัฒนาในธุรกิจนี้ คือ การนำทรัพย์เหล่านี้เข้าสู่การจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และนำเงินทุนกลับไปหมุนเวียนในธุรกิจต่อไป

          ซึ่งนอกจากธุรกิจ Hotel&Hospitality แล้ว สังเกตได้ว่าการ Diversify portfolio ของผู้พัฒนาอสังหาฯ เพื่อขาย เริ่มมีการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นที่สามารถนำมาจัดตั้งกองทรัสต์ได้เช่นกัน เช่น บริษัทออริจิ้นร่วม กับเจดับเบิ้ลยูดี เปิดบริษัทร่วมทุน บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชัน จำกัด ลงทุนในธุรกิจคลังสินค้า โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม บริษัทแสนสิริลงทุนในธุรกิจให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซ JustCo เป็นต้น

          สำหรับในปี พ.ศ. 2564 ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญกับเทรนด์ Workation ที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเข้ามาท่องเที่ยวและทำงานในรูปแบบ Workation เมื่อเว็บไซต์ Holidu.co.uk ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับการค้นหา สถานที่พักผ่อนของประเทศอังกฤษ ได้จัดอันดับ 150 เมือง สำหรับการทำงานและพักผ่อน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานและได้พักผ่อนในเวลาเดียวกัน ประกอบด้วย ค่าเช่ารายเดือนของที่พัก ค่าเครื่องดื่มหลังเลิกงาน ไปจนถึงค่าเฉลี่ยจำนวนชั่วโมงที่แดดออกต่อวัน ความเร็ว ของสัญญาณ Wifiกิจกรรมที่น่าสนใจ

          โดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ทั้ง BestCities.org และ Tripadvisor.co.uk ผลการรวมคะแนนปรากฏว่า กรุงเทพมหานคร ครองอันดับ 1 ส่วนภูเก็ตและเชียงใหม่ ครองอันดับ 10 ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญเมื่อประเทศไทยติดถึง 3 อันดับด้วยกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาคธุรกิจ Hotel&Hospitality ของไทยจะสามารถใช้โอกาสนี้สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ที่เรียกได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพได้มากน้อยแค่ไหน การท่องเที่ยวในรูปแบบ Workation นักท่องเที่ยวมักมีความต้องการขั้นพื้นฐานด้านสภาพแวดล้อมในที่พักที่เหมาะสมต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปลั๊กไฟที่เพียงพอ ระบบการจองห้องประชุม ความเงียบสงบที่เหมาะสมต่อการประชุม มุมส่วนตัวสำหรับทำงาน ระบบแสงสว่างที่เพียงพอ ห้องเก็บเสียงสำหรับกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำ Vlog ระบบรักษาความสะอาดปราศจากเชื้อโรค เป็นต้น

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button